คลัง ร่วม 8 สถาบันการเงิน ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมแล้ว 7.4 แสนราย ยอดหนี้กว่า 9.4 หมื่นล้านบาท พร้อมจัดสรรวงเงิน 5 หมื่นล้าน เสริมสภาพคล่อง-ฟื้นฟูกิจการช่วยผู้ประกอบการ
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคใต้ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ และการดำเนินธุรกิจของประชาชนเป็นอย่างมาก
ร่วม 8 สถาบันการเงิน ออกมาตรการช่วยเหลือน้ำท่วม
ดังนั้น เพื่อให้ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน กระทรวงการคลังร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันออกมาตรการด้านการเงินเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวัน ประกอบอาชีพ และประกอบธุรกิจต่อไปได้
หลากหลายมาตรการช่วยเหลือด้านการเงิน
สถาบันการเงินต่าง ๆ ได้ออกมาตรการมาช่วยเหลือลูกหนี้ในลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามกลุ่มเป้าหมายของแต่ละสถาบันการเงิน ทั้งในส่วนของลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ซึ่งมีทั้งมาตรการพักชำระหนี้และลดดอกเบี้ย รวมไปถึงมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ตัวอย่างเช่น ธนาคารออมสิน พักชำระหนี้เงินต้นและลดดอกเบี้ยอัตโนมัติให้แก่ลูกค้าสินเชื่อรายย่อยและ SMEs ธ.ก.ส. ขยายระยะเวลาชำระหนี้ของลูกหนี้เกษตรกร รวมถึงมีระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและยกเว้นดอกเบี้ยปรับ
ธอส. ลดเงินงวดและลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่ลูกค้าสินเชื่อบ้าน ธสน. ขยายระยะเวลากู้ สำหรับผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าทั้งที่มีวงเงินกู้ระยะสั้นและระยะยาว ธพว. พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงให้วงเงินกู้ฉุกเฉินเพื่อฟื้นฟูกิจการ ในส่วนของ บสย. ซึ่งค้ำประกันหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ได้ออกมาตรการช่วยเหลือทั้งที่เป็นลูกค้าของ บสย. และลูกหนี้ ของ บสย.
นอกจากนี้ ธอท. ได้ออกมาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและการยกเว้นค่าชดเชยผิดนัดชำระ และธนาคารกรุงไทย ได้ออกมาตรการทางการเงิน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยครอบคลุมการลดภาระทางการเงิน ทั้งปรับลดค่างวดการผ่อนชำระ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการให้วงเงินฉุกเฉินเสริมสภาพคล่องในการดำรงชีพ รวมถึงการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย
เสริมสภาพคล่อง-ฟื้นฟูกิจการของผู้ประกอบการ
นอกจากมาตรการช่วยเหลือของสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่งตามที่ได้กล่าวไปแล้ว กระทรวงการคลังยังได้มีมาตรการเสริมสภาพคล่อง สำหรับผู้ประสบอุทกภัย ครอบคลุมทั้งผู้ประกอบการ SMEs ผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า หาบเร่แผงลอย เป็นต้น
โดยจัดสรรวงเงินจำนวน 50,000 ล้านบาท จากโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) GSB Boost Up ของธนาคารออมสินเพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ประสบอุทเสริมสภาพคล่อง
กภัยให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน สำหรับมาฟื้นฟูกิจการเพื่อประกอบอาชีพและดำเนินธุรกิจได้ต่อไปภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลง ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2567
และเพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประสบอุทกภัยได้รับสินเชื่อตามโครงการดังกล่าวรวมถึงโครงการสินเชื่ออื่น ๆ จากสถาบันการเงินได้อย่างเพียงพอ รวมถึงสร้างความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน บสย. ได้จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs ฟื้นฟู No One Left Behind วงเงินค้ำประกัน 1,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย
ช่วยเหลือแล้ว 740,000 ราย ยอดหนี้กว่า 94,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากมาตรการที่กระทรวงการคลังร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง ได้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเร่งด่วนในตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา มีประชาชนที่ประสบอุทกภัยได้รับความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 8 แห่ง เป็นจำนวนมากกว่า 740,000 ราย รวมยอดหนี้มากกว่า 94,000 ล้านบาท
สำหรับการดำเนินมาตรการด้านการเงินในระยะต่อไปจะเป็นการเน้นการเข้ามาช่วยเหลือในเรื่องของการฟื้นฟูและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและการสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่ประชาชน สามารถกลับมามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืน
กระทรวงการคลังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญในการดูแลพี่น้องทุกกลุ่มอย่างเต็มที่ โดยจะผลักดันนโยบายรัฐบาลต่าง ๆ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สามารถดูแลคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนพร้อมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างเต็มศักยภาพแ ละกำหนดแนวทางในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว
โดยกระทรวงการคลังจะมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลพี่น้องประชาชนอย่างทันท่วงทีและเหมาะสมกับสถานการณ์ต่อไป
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- เช็กรายละเอียดที่นี่! กรมสรรพากร ออกมาตรการภาษีช่วยค่าซ่อมบ้าน-ซ่อมรถ ช่วยผู้ประสบอุทกภัย
- ช่วยน้ำท่วม! มหาดไทย ประกาศขยายเวลา จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ออกไปอีก 2 เดือน
- ครม. เคาะมาตรการช่วยน้ำท่วม ค่าซ่อมบ้าน 1 แสน-ซ่อมรถ 3 หมื่น ลดหย่อนภาษีได้
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์ : https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg