11 เดือน ปีงบประมาณ 2567 กรมสรรพากร เก็บภาษีได้กว่า 1.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% พร้อมยกระดับการจัดเก็บภาษีด้วยเทคโนโลยี มุ่งสู่ระบบภาษีดิจิทัลเต็มรูปแบบต้นปี พ.ศ.2568
ดร.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ในช่วง 11 เดือนของปีงบประมาณ 2567 (ตุลาคม 2566-สิงหาคม 2567) สามารถจัดเก็บภาษีได้กว่า 1,963,205 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณฯ 8,482 ล้านบาทหรือ 0.4% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 47,911 ล้านบาทหรือกว่า 2.5%
ส่วนหนึ่งสะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศที่เริ่มไปในทิศทางที่ดีขึ้น ประกอบกับมาตรการด้านภาษีของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา อาทิ มาตรการ “Easy E-Receipt” เป็นแรงส่งให้การจัดเก็บภาษีของกรมสรรพากรในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศ ยังคงขยายตัวได้ดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนกว่า 7.7%
ยกระดับการจัดเก็บภาษีด้วยเทคโนโลยี
ดร.กุลยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ได้นำเทคโนโลยีมายกระดับการบริการ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารการจัดเก็บภาษีอากร โดยปัจจุบันกรม สรรพากรได้มีกลยุทธ์ในการจัดเก็บภาษี “SMILE RD” ซึ่งเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2567
S : Simplification การทำภาษีให้ง่ายและไร้รอยต่อ
M : Modernization มีความทันสมัย
I : Inclusivity and Innovation มีความทั่วถึง และมีนวัตกรรมด้วย
L : Legality and Compliance ถูกต้องตามระเบียบและข้อกฎหมาย
E : Efficiency มีประสิทธิภาพ
R : Responsiveness ตอบสนองความต้องการทั้งเจ้าหน้าที่และผู้เสียภาษี
D : Digitization ปรับองค์กรมุ่งสู่ Digital First
มุ่งสู่ระบบภาษีอากรดิจิทัลเต็มรูปแบบต้นปี พ.ศ.2568
และยังคงเดินหน้าสานต่อนโยบาย “oneRD : ONE TEAM ONE SEAMLESS TAX ECOSYSTEM” ตามที่ปลัดกระทรวงการคลังได้ริเริ่มไว้ทำภาษีให้ง่ายและไร้รอยต่อมากยิ่งขึ้น เตรียมความพร้อมสู่ระบบภาษีอากรที่เป็นดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ในช่วงต้นปี พ.ศ.2568 โดยจะยกระดับบริการทางภาษีและแสดงข้อมูลทางภาษีให้ครบถ้วน เปิดให้บริการ One Portal : My Tax เริ่มให้บริการกลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และต่อยอดการกำหนดให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.3 ทางอิเล็กทรอนิกส์ เท่านั้น ซึ่งได้เริ่มใช้ในปีที่ผ่านมากับแบบ ภ.ง.ด.1 ภ.ง.ด.1 ก และ ภ.ง.ด.1 ก พิเศษ
นอกจากนี้ ได้วางแผนการพัฒนา น้องอารีย์ Chatbot ด้วยการนำ ChatGPT เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการตอบคำถาม ในมิติของการทำงานของเจ้าหน้าที่ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการใช้เทคโนโลยี AI กับการประมวลผลข้อมูลภายในของกรมสรรพากร ร่วมกับข้อมูลที่ได้รับจากการเชื่อมโยงหรือแลกเปลี่ยนจากภายนอก ในการประเมินและวิเคราะห์หาพฤติกรรมของผู้เสียภาษี
ซึ่งจะช่วยเจ้าหน้าที่ในการจัดกลุ่มผู้เสียภาษีตามความเสี่ยง และสามารถเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมในมิติต่าง ๆ เช่น การตรวจสอบก่อนการคืนเงินภาษี หากเป็นผู้เสียภาษีกลุ่มเสี่ยง ก็จะต้องถูกตรวจสอบอย่างละเอียดก่อนคืนเงินภาษี
สำหรับการสร้างความเป็นธรรมและความทั่วถึงในการจัดเก็บภาษีอากร กรมสsรพากรยังคงให้ความสำคัญในการเสนอแนะและจัดทำนโยบายทางภาษีที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน เช่น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขาย Low-Value Goods รวมทั้งปรับปรุงหลักเกณฑ์หรือกฎหมายการจัดเก็บภาษีให้มีความทันสมัย
โดยอยู่ระหว่างเร่งเสนอกฎหมาย และเตรียมความพร้อมรองรับการจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่ม ตามหลักการ Pillar 2 การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) ที่กำหนดให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่เสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษีที่แท้จริงไม่น้อยกว่า 15%
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘พิชัย’ พิจารณามาตรการทางภาษี ช่วยผู้ประกอบการ รับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท 1 ต.ค.นี้
- รับมือขึ้นค่าแรง 400 บาท ‘พิพัฒน์’ จ่อชง ‘ลดเงินสมทบประกันสังคม-ลดภาษี’ ช่วยนายจ้าง
- รอก่อน! ค่าแรง ขั้นต่ำ 400 บาท ปลัดแรงงาน บอกรอดูนโยบายรัฐบาลใหม่ก่อน
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- Twitter: https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg