Finance

ครม. ไฟเขียวจัดตั้ง ‘NaCGA’ สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ

ครม. มีมติให้ความเห็นชอบหลักการการจัดตั้ง “NaCGA” สถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ ยกเครื่องระบบค้ำประกันของไทย

นางสาวเกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติให้ความเห็นชอบหลักการการจัดตั้งสถาบันค้ำประกันเครดิตแห่งชาติ หรือ NaCGA เพื่อให้กระทรวงการคลัง (กค.) และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ร่วมกันจัดทำร่างกฎหมายจัดตั้ง NaCGA และดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ

NaCGA
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลัง รายงานว่าการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง และยาวนานและนำไปสู่ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจจากความเสี่ยงด้านเครดิตในระบบการเงินที่ปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ดังนั้น เพื่อตอบสนองต่อปัญหาความเสี่ยงด้านเครดิตในภาวะวิกฤตได้อย่างทันการณ์ เพียงพอและครอบคลุมภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ และเพื่อให้ระบบการเงินทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการต่อไปได้

ภาครัฐจึงพัฒนาแนวทางการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านกลไกการค้ำประกันเครดิตที่มีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืนทางการคลังตามร่างแนวคิดการจัดตั้ง NaCGA ซึ่งสอดคล้องกับกรอบนโยบายในการบริหารและพัฒนาประเทศตามคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ที่ 8 การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน (Financial Hub) ผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงระบบการเงินที่มีต้นทุนต่ำและทำธุรกิจได้เร็วขึ้นภายใต้วิสัยทัศน์ Thailand vision “Ignite Thailand” ของนายกรัฐมนตรี

NaCGA
ร่างแนวคิดการจัดตั้ง NaCGA มีสาระสำคัญ เช่น NaCGA มีสถานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ โดยไม่เป็นทั้งส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน และจะทำหน้าที่หลักในการค้ำประกันสินเชื่อและธุรกรรมต่าง ๆ ของสถาบันการเงินและ Non-Banks รวมถึงค้ำประกันหลักทรัพย์และการออกหลักทรัพย์ ให้ความรู้และคำปรึกษาทางการเงินแก่ผู้ประกอบธุรกิจ และจัดทำฐานข้อมูลความเสี่ยงด้านเครดิต เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นและรวดเร็ว วิธีและรูปแบบการค้ำประกันจะเน้นการค้ำประกันโดยตรง (Direct Guarantee) โดย NaCGA เป็นผู้ประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้และเป็นผู้รับผิดชอบขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ำประกันทั้งหมด

สำหรับแหล่งเงินทุนของ NaCGA ประกอบด้วย (1) เงินสมทบจากรัฐบาล (2) เงินสมทบจากผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อ และ (3) ค่าธรรมเนียมและค่าบริการอื่น ๆ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแล้วไม่ขัดข้อง/เห็นชอบ/เห็นชอบในหลักการ โดยมีความเห็นเพิ่มเติม เช่น ให้กระทรวงการคลังวางแผนการดำเนินการ โดยแสดงแหล่งเงินทุนที่จะใช้สำหรับการดำเนินการของ NaCGA ให้ครอบคลุมและเหมาะสม เพื่อไม่ให้เป็นภาระงบประมาณในอนาคต และ (2) กรณีที่กระทรวงการคลังจะจัดทำและนำร่างกฎหมายเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไปนั้น เห็นควรต้องปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้อง โดยควรคำนึงถึงความซ้ำซ้อนกับภารกิจของหน่วยงานอื่นของรัฐและหลักความจำเป็นในการตรากฎหมาย เป็นต้น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK