Finance

‘แบงก์ชาติ’ ไม่ขัด ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ แต่อยากให้ตรงกลุ่ม ยันพร้อมทบทวนนโยบายดอกเบี้ย

“แบงก์ชาติ” ยันไม่ขัด “ดิจิทัลวอลเล็ต” แต่อยากให้เจาะจง ตรงกลุ่ม ช่วยกระตุ้นคนที่ขาดเพื่อมีแรงส่งได้อย่างต่อเนื่อง ยืนยันพร้อมทบทวนนโยบายดอกเบี้ย

นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet โดยยืนยันว่า ธปท. ไม่ได้ขัดข้องในเรื่องของนโยบายในภาพรวมว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ที่ ธปท. เสนอแนะคือ ในเรื่องของรูปแบบที่อยากให้เจาะจง เฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความยากลำบาก เพื่อให้คุ้มค่ากับเม็ดเงิน ซึ่งหากเป็นไปได้ จะช่วยประหยัดงบประมาณ

ดิจิทัลวอลเล็ต

“นโยบาย ธปท. ไม่ได้ขัด แต่เป็นเรื่องของรายละเอียดมากกว่า ที่อยากจะให้มันเจาะจง ตรงกลุ่ม ช่วยกระตุ้นคนที่ขาดเพราะจะมีแรงส่งได้อย่างต่อเนื่อง” นายปิติ กล่าว

ส่วนกรณีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่จะส่งไปทางกฤษฎีกาตีความ ว่าจะใช้ มาตรา 28 กับโครงการนี้ได้หรือไม่นั้น ธปท. ไม่ได้มีประเด็น และยืนยันว่าไม่ได้มีอำนาจในการสั่งการว่าจะทำได้หรือไม่ เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการธนาคาร ธ.ก.ส. เพราะ ธปท. แค่กำกับดูแลในด้านสถาบันการเงินเท่านั้น

นายปิติ กล่าวถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียก 4 ธนาคารพาณิชย์ ขอให้ปรับลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางนั้น เท่าที่ทราบสมาคมธนาคารไทยจะมีการหารือในประเด็นดังกล่าว และเรื่องนี้เป็นเรื่องของกลไกการตลาดที่ธนาคารแต่ละแห่งต้องไปพิจารณา
อย่างไรก็ตาม เกณฑ์การพิจารณาการปล่อยสินเชื่อ ในเรื่องนี้ทุกภาคส่วนเห็นความจำเป็น และ ธปท. ดำเนินการมาตลอดในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการดูแลลูกหนี้กลุ่มเปราะบาง เช่น ช่วงโควิด ต้องปรับลดดอกเบี้ย MRR ก่อน MLR รวมถึงมีมาตรการดูแลลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และก่อนเป็น NPL ส่วนจะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ขึ้นอยู่กับสมาคมธนาคารไทย

ดิจิทัลวอลเล็ต

“เรื่องดังกล่าวขึ้นอยู่กับธนาคารพาณิชย์พิจารณาว่าเหมาะสมหรือไม่ กับความเสี่ยง และสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป” นายปิติ กล่าว

ด้านนโยบายดอกเบี้ย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พร้อมที่จะทบทวนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ถ้ามีข้อมูลใหม่เข้ามา และส่งผลต่อภาพเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญ ยืนยันว่าไม่ได้ยึดติดอัตราดอกเบี้ย แต่จะต้องพิจารณาผลกระทบ ความยั่งยืน และนัยต่อกรอบการทำนโยบายว่าเพียงพอหรือไม่ ซึ่งการลดอัตราดอกเบี้ย 0.25-0.50% ในภาพใหญ่ดีกรีอาจไม่ได้เยอะ และถ้าต้องลดดอกเบี้ยเยอะ ๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ คงไม่สามารถทำได้ ต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

“ภาวะการเงินตึงตัวขึ้น สำหรับธุรกิจขนาดเล็กบางกลุ่มและครัวเรือนรายได้น้อย ทั้งนี้ ภาวะการเงินไม่เป็นข้อจำกัดต่อเศรษฐกิจโดยรวม และกลไกสินเชื่อยังทำงานได้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ สำหรับเสถียรภาพระบบการเงิน คุณภาพสินเชื่อปรับลดลงในบางหมวด เช่น รถยนต์ อย่างไรก็ตาม ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพจะไม่เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด” นายปิติ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่

Avatar photo
Siree Osiri OHO BANGKOK