Finance

ธ.ก.ส. ลุยแก้หนี้ครัวเรือน ลดคาร์บอนภาคเกษตร เติมทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ

ธ.ก.ส. เดินหน้าแก้หนี้ครัวเรือน พร้อมลดคาร์บอนภาคเกษตร สร้างรายได้ให้ชุมชน เผยผลงานไตรมาสแรกปีบัญชี 66 เติมทุนกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วกว่า 7.4 หมื่นล้านบาท

นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ได้วางนโยบายการขับเคลื่อนงาน ธ.ก.ส. ในการสานต่อเจตนารมณ์ ธนาคารพัฒนาชนบทที่ยั่งยืน ที่มุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรและการปรับทิศทางสู่อุตสาหกรรมเกษตร เพื่อสร้างการเติบโตในทุกมิติ

หนี้ครัวเรือน

พร้อมกันนี้ จะนำทัพพนักงานกว่า 2.3 หมื่นคนทั่วประเทศ ก้าวข้ามความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่เพื่อขับเคลื่อนภารกิจในด้านต่าง ๆ ทำให้ ธ.ก.ส. เป็น Essence of Agriculture (แกนกลางการเกษตร)

การดำเนินงานเริ่มจากการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือนในภาคเกษตร ทำให้พี่น้องเกษตรกรก้าวพ้นกับดักหนี้และสามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้อย่างมั่นคง ผ่านมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ในกลุ่มหนี้ที่มีปัญหา

ขณะเดียวกัน จะใช้ฐานข้อมูลและเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูล การจัดกลุ่มลูกค้า การพัฒนาเครื่องมือและช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงบริการทางการเงินได้ง่ายขึ้น การจัดทำมาตรการมีมากจ่ายมาก มีน้อยจ่ายน้อย เพื่อรักษาวินัยในการชำระหนี้

จากภาพรวมจากการใช้มาตรการต่าง ๆ ทำให้อัตราหนี้ที่มีปัญหาลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย ณ 30 มิถุนายน 2566 สามารถลด NPL ได้ 5,105 ล้านบาท โดยมีเกษตรกรที่ได้รับการแก้ไขปัญหาหนี้ไปแล้ว จำนวน 184,697 ราย จำนวนต้นเงินคงเป็นหนี้ 78,931 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ยังจูงใจลูกค้าที่ชำระหนี้ดีด้วยโครงการชำระดีมีโชค โดยลูกค้าที่ชำระหนี้ตรงตามกำหนดเวลา ธนาคารจะนำจำนวนดอกเบี้ยที่ชำระจริงทุก ๆ 1,000 บาท มอบเป็นสิทธิประโยชน์ในการชิงโชค รางวัลรวมมูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566 – 30 มิถุนายน 2567 จับรางวัลรวม 4 ครั้ง

ที่ผ่านมา ได้ให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ ทั้งหนี้ในและนอกระบบผ่านโครงการมีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส. โดยสามารถแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้เกษตรกรลูกค้าและบุคคลในครัวเรือนให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบของ ธ.ก.ส. ไปแล้วกว่า 710,123 ราย เป็นเงินกว่า 5.9 หมื่นล้านบาท

ในด้านเงินทุน ธ.ก.ส. พร้อมเติมสินเชื่อใหม่ภายใต้อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน เพื่อให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนในการผลิต พัฒนาคุณภาพและยกระดับผลิตภัณฑ์สู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง เช่น สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี สินเชื่อ SME เสริมแกร่ง และสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี เป็นต้น

ธ.ก.ส.1

การเข้าไปแก้ไขปัญหา Aging ลูกค้า ธ.ก.ส. ซึ่งมีประมาณ 35% ของลูกค้าทั้งหมด โดยจัดทำโครงการสินเชื่อแทนคุณ วงเงินรวม 2 หมื่นล้านบาท เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่มีหนี้สิน โดยเปิดโอกาสให้ทายาทเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขหนี้อย่างยั่งยืน ตั้งเป้าทายาทเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 4.2 หมื่นคน

พร้อมกันนี้ ยังตรึงอัตราดอกเบี้ย MRR ให้อยู่ที่ 6.975% ต่อปี ต่อไป แม้ภาวะอัตราดอกเบี้ยในตลาดจะปรับเพิ่มสูงขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายจากดอกเบี้ยให้กับลูกค้าและสนับสนุนการฟื้นตัวของเกษตรกรรายย่อยหลังสถานการณ์โควิด และวิกฤติเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังพร้อมสนับสนุนองค์ความรู้ในการพัฒนาอาชีพให้กับลูกค้า โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาในการให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การตลาด รวมไปถึงการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับสินค้าทางการเกษตร ควบคู่ไปกับการสร้างวินัยทางการเงินอย่างเป็นระบบ

ธ.ก.ส. ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยขับเคลื่อนภารกิจสีเขียว ทั้งในระดับชุมชน ภาคีเครือข่ายและองค์กร ได้แก่

  • โครงการธนาคารต้นไม้ ที่มีชุมชนทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการแล้ว 6,814 ชุมชน ปลูกต้นไม้ไปแล้วกว่า 12.4 ล้านต้น
  • การยกระดับธนาคารต้นไม้สู่ชุมชนไม้มีค่า ซึ่งเป็นการนำผลิตผลจากต้นไม้มาสร้างมูลค่าเพิ่มและทำให้คนในชุมชนหันมาประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างรายได้
  • การนำวัตถุดิบจากไม้มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น น้ำส้มควันไม้ สมุนไพร และเฟอร์นิเจอร์

ฉัตรชัย1

ปัจจุบันมีชุมชนที่ยกระดับไปสู่ชุมชนไม้มีค่าแล้ว 404 ชุมชน และสร้างรายได้จากกิจกรรมดังกล่าวแล้วกว่า 116 ล้านบาท

ธ.ก.ส. ยังได้จัดโครงการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีการปลูกต้นไม้เพิ่มในโครงการดังกล่าวไปแล้ว 150,790 ต้น และโครงการสนับสนุนกิจกรรม ลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมีชุมชนเข้าร่วมโครงการ จำนวน 76 ชุมชน สามารถกักเก็บก๊าซเรือนกระจกได้จำนวน 1.59 ล้านตันคาร์บอน เป็นต้น

สำหรับการขับเคลื่อนภายในองค์กร ธ.ก.ส. จัดทำโครงการเพิ่มประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency) โดยลดการใช้ทรัพยากรที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารพลังงานและทรัพยากร ในสำนักงานใหญ่และสาขาทั่วประเทศ อาทิ การลดปริมาณขยะ การนำน้ำเสียมาปรับคุณภาพเพื่อใช้รดต้นไม้ โครงการติดตั้ง Solar Roof Car park โครงการกังหันน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น

นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกของปีบัญชี 2566 (เม.ย.-มิ.ย. 2566) ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนสินเชื่อในภาคการเกษตรไปแล้ว 74,048 ล้านบาท ทำให้มียอดสินเชื่อสะสมคงเหลือ 1,631,268 ล้านบาท

ขณะที่ยอดเงินฝากสะสมอยู่ที่ 1,825,943 ล้านบาท มีสินทรัพย์ 2,232,021 ล้านบาท หนี้สินรวม 2,080,919 ล้านบาท และส่วนของเจ้าของ 151,102 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ  2,065 ล้านบาท ส่วน NPL อยู่ที่ 8.07% โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) 12.95% สูงกว่าเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด

ในปีบัญชี 2566 ธ.ก.ส. ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อภาคการเกษตรเติบโตเพิ่มขึ้น 85,000 ล้านบาท เงินฝากเพิ่มขึ้น 1.2 หมื่นล้านบาท และลดหนี้ NPL ลงมาอยู่ที่ 5.5% โดยมุ่งเน้นการเชื่อมโยงธุรกิจเกษตรตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อขับเคลื่อนการสร้างคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น  สร้างชุมชนไทยให้เข้มแข็ง และยกระดับชีวิตเกษตรกรไทย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo