Finance

อึ้ง!! หุ้นใหญ่กำไรต่ำคาดเพียบ

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยกำลังทยอยประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 4 ปี 2561 และงวดปี 2561 โดยล่าสุดบรรดาหุ้นขนาดใหญ่ใน SET 50 และSET 100 เริ่มมีรายงานออกมาอย่างคึกคัก

ทั้งนี้จากการสำรวจการประเมินผลการดำเนินงานของนักวิเคราะห์ พบว่า มีบริษัทขนาดใหญ่ที่กำไรไตรมาส 4 ของปี 2561 ออกมาต่ำกว่าที่มีการคาดการณ์กันไว้มากขึ้นเรื่อยๆ

บล.เอเซียพลัส ระบุว่า การที่งบการเงินไตรมาส4ปี 2561 ของบริษัทจดทะเบียนในภาคการผลิตทยอยออกมา และยังคงต่ำกว่าประมาณการ แต่เชื่อว่าสถานการณ์ น่าจะเกิดขึ้นในไตรมาสนี้ในระยะสั้นและค่อย ๆ ดีขึ้นในไตรมาสถัดไป

หุ้นรายงานกำไรไตรมาส4ปี61ต่ำคาด2 01

สำหรับบริษัทที่มีกำไรต่ำคาดการณ์ประกอบด้วย  บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU  โดยบริษัทรายงานกำไรสุทธิ 4 ปี 2561 อยู่ที่ 1.07 พันล้านบาท (ต่ำกว่าคาดถึง 24%) ลดลง 24.5% จากงวดเดียวกันปีก่อนและ 18.6% ไตรมาส 3 ปี 2561 เกิดจากค่าใช้จ่ายพิเศษจากการปิดกิจการและการด้อยค่าเงินลงทุน หากพิจารณากำไรปกติอยู่ที่ 1.37 พันล้านบาท ลดลง 12.8% จากไตรมาส 3 ปี 2561  แต่เพิ่มขึ้น 19.5% จากงวดเดียวกันปีก่อน

แม้รายได้รวมจะขึ้นทำระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์รายไตรมาสตามปริมาณขายที่เพิ่มขึ้น แต่ถูกกระทบจากค่าเงินบาทเฉลี่ยงวดไตรมาส 4 ปี 2561 ที่แข็งค่าขึ้น 0.5% จากไตรมาส 3 ปี 2561 และ 0.4% งวดเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงเหลือ 14.9% จาก 15.7% ในงวด 3 ปี 2561 รวมทั้ง SG&A สูงกว่าคาด โดยรวมกำไรสุทธิปี 2561 อยู่ที่ 3.26 พันล้านบาท (ต่ำกว่าคาด 18%) ลดลงถึง 45.6% จากงวดเดียวกันปีก่อน จากรายการพิเศษที่เกิดขึ้น ขณะที่กำไรปกติปี 2561 อยู่ที่ 4.23 พันล้านบาท ลดลง 11.6%จากปีก่อน เนื่องจากค่าใช้จ่ายการบริหารสูงกว่าคาด และส่วนแบ่งรายได้จาก Red Lobster ต่ำกว่าคาด

สำหรับแนวโน้มปี 2562 คาดกำไรสุทธิและกำไรจากการดำเนินงานจะฟื้นตัวขึ้นจากธุรกิจทูน่าที่ได้ผลบวกจากราคาวัตถุดิบทูน่าที่ปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 จะส่งผลบวกต่อประสิทธิภาพการทำกำไรให้ดีขึ้นในงวดครึ่งปีแรก อีกทั้งยังคาดธุรกิจกุ้งจะฟื้นตัวเช่นกัน

บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN มีกำไรสุทธิปี 2561 อยู่ที่ 1.37 พันล้านบาท ต่ำกว่าคาด 12% เกิดจากยอดโอนฯ น้อยกว่าคาด แต่ยังเติบโตครั้งแรกในรอบ 2 ปี จากยอดโอนโครงการที่แล้วเสร็จในปี 2561 จำนวน 11 โครงการ และการระบายสต็อกสินค้าพร้อมอยู่ของปีก่อนๆ รวมกันสูงขึ้น 17.05% จากปีก่อนและกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากปีก่อน

ขณะที่สิ้นปี 2561 มี Backlog รวมมูลค่าประมาณ 9,500 ล้านบาท น่าจะรองรับเป้ารายได้ขายปี 2562 ได้ (แบ่งเป็น Backlog ในปี 2562 ประมาณ 8,000 ล้านบาท และปี 2563 ประมาณ 1,500 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์ปีนี้เน้นขายแนวราบมากขึ้น ซึ่งมีมาร์จิ้นต่ำกว่าคอนโดฯ อาจสร้างแรงกดดันต่อ อัตรากำไรขั้นต้น ฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างทบทวนประมาณการ

บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA รายงานกำไรสุทธิงวดไตรมาส 4 ปี 2561 ที่ 1 พันล้านบาท (ต่ำกว่าคาด 9%) ลดลงถึง 39.8% จากไตรมาส 3 ปี 2561 และ 24% จากปีก่อน ผลจากกำไรขั้นต้นลดลงตามเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น รวมทั้งการผลิตสินค้า OEM ที่เป็น low end มากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการจ่ายค่าสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเพิ่มขึ้น

sett

โดยรวมแล้ว กำไรสุทธิปี 2561 เท่ากับ 5.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากปีก่อนตามคาด ขณะที่กำไรสุทธิปี 2562 คาดจะเติบโต 6.3% จากปีก่อน แต่ยังมีความเสี่ยงจากแนวโน้มเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งจะกระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2562 ให้มี โอกาสปรับลดลงอีกราว 9%

บริษัท โรงพยาบาลจุฬารัตน์ จำกัด (มหาชน)หรือ CHG  โดยผลการดำเนินงานออกมาน่าผิดหวัง จึงให้ชะลอการลงทุนไปก่อน กล่าวคือกำไรสุทธิงวดไตรมาส 4 ปี 2561 ลดลง 11%จากปีก่อนอยู่ที่ 111 ล้านบาท (ต่ำกว่าคาด 5%)  เพราะรับรู้ผลขาดทุนของโรงพยาบาลใหม่ 2 แห่ง  ที่ปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรามากกว่าคาด  ซึ่งทำให้ฝ่ายวิจัยเตรียมทบทวนประมาณการและคำแนะนำใหม่

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT รายงานงบไตรมาส4ปี 61 มีกำไรอยู่ที่ 1.95 หมื่นล้านบาท ลดลง 35.6% จากไตรมาส 3 ปี 2561 (ต่ำกว่าคาดเล็กน้อย) กดดันหลักจากกำไรจากการดำเนินงานปกติ คือ ธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ (GSP) ที่กำไรลดลงถึง 36.6% จากไตรมาส3 ปี 2561  และผลกระทบจาก PTTEP ที่คาดกำไรสุทธิลดลง รวมถึงส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนที่ลดลง หลักๆมาจากกลุ่มธุรกิจ ปิโตรเคมี และโรงกลั่นที่อัตราค่าการกลั่น และส่วนต่างผลิตภัณฑ์ของปิโตรเคมี ลดลงประกอบกับมีบันทึกขาดทุนสต็อกน้ำมัน

ตามด้วยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4 ปี 2561 ต่ำกว่าคาดเล็กน้อย ที่ 5.5 พันล้านบาท ทรงตัวจากงวดเดียวกันปีก่อนเกิดจากรายการพิเศษจากการปรับค่าใช้จ่ายผลประโยชน์พนักงาน แต่ในส่วนของกำไรปกติตามคาด เติบโต 4.4% จากปีก่อนที่ 5.7 พันล้านบาท หลักๆ จากยอดขายเติบโต 9% จากปีก่อน ตาม SSSG ที่เติบโต 4.5%จากปีก่อน  รวมทั้งการขยายสาขาใหม่เพิ่มขึ้น 7%จากปีก่อนโดยรวมกำไรปี 2561 เติบโต 5.1%จากปีก่อน

สำหรับแนวโน้มธุรกิจปี 2562 ยังคาดว่าธุรกิจสะดวกซื้อจะยังเติบโตได้ต่อเนื่อง แรงหนุนจากเม็ดเงินที่น่าสะพัดมากขึ้นช่วงก่อน – หลังเลือกตั้ง รวมทั้งการพัฒนาธุรกิจบริการที่มีมาร์จินสูง ส่วนผลขาดทุนจาก MAKRO คาดเพิ่มขึ้น แต่ CPALL มีประเด็นใหม่ที่น่าจะเป็นปัจจัยหนุน คือ การเจรจาตกลงเพื่อเข้าในการจัดตั้ง และดำเนินการร้านสะดวกซื้อในประเทศ กัมพูชา และ ลาว โดยฝ่ายวิจัยยังอยู่ในระหว่างการประเมินรูปแบบการเข้าดำเนินธุรกิจและแผนธุรกิจ ซึ่งยังไม่รวมในประมาณการ

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight