Finance

แบงก์ชาติออก 3 มาตรการ ‘จัดการภัยทุจริตทางการเงิน’

แบงก์ชาติออก  3 มาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินปิดช่องทางมิจฉาชีพ ระงับธุรกรรมต้องสงสัย 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกแนวนโยบายชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินซึ่งดูแลตลอดเส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงิน โดยกำหนดเป็นแนวปฏิบัติให้สถาบันการเงินทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน มาตรการชุดนี้ จะช่วยให้สถาบันการเงินป้องกันความเสี่ยงจากมิจฉาชีพและแก้ไขปัญหาให้ประชาชนจากภัยทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งประกอบด้วย 3 มาตรการ ดังนี้

แบงก์ชาติ

1.มาตรการป้องกัน เพื่อปิดช่องทางมิจฉาชีพในการเข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น โดย 1)สถาบันการเงินงดส่งลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล และงดส่งลิงก์ขอข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน และเลขบัตรประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย (เริ่มเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2566) 2)พัฒนาระบบความปลอดภัยบน Mobile banking ให้ทันภัยการเงินรูปแบบใหม่ตลอดเวลา (เริ่มเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม 2566)

3)ยกระดับความเข้มงวดในกระบวนการยืนยันตัวตนขั้นต่ำด้วยการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบข้อมูลอัตลักษณ์ทางกายภาพของลูกค้า หรือ Biometrics เช่น สแกนใบหน้า ในกรณีลูกค้าขอเปิดบัญชีโดยผ่านแอปพลิเคชันของสถาบันการเงินหรือทำธุรกรรมผ่าน Mobile banking ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ (เริ่มเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2566)

2.มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัย เพื่อให้สถาบันการเงินจำกัดความเสียหายได้เร็วขึ้น และลดการใช้บัญชีม้า โดย 1)ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดเงื่อนไขการตรวจจับและติดตามธุรกรรมเข้าข่ายผิดปกติหรือกระทำความผิด เพื่อให้สถาบันรายงานไปสำนักงาน ปปง. (ดำเนินการแล้ว) 2) สถาบันการเงินต้องมีระบบตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัยแบบ Near Real-Time ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้สามารถระงับธุรกรรมได้ทันทีเป็นการชั่วคราวเมื่อตรวจพบ (เริ่มเดือนมีนาคม 2566 ดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนธันวาคม 2566) 3)เร่งตอบสนองต่อข้อมูลที่ได้จากการแจ้งความออนไลน์ (ดำเนินการแล้ว)

3. มาตรการตอบสนองและรับมือ เพื่อจัดการปัญหาให้ผู้เสียหายได้เร็วขึ้น โดยให้สถาบันการเงินทุกแห่งต้องมีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (Hotline) ตลอด 24 ชั่วโมง แยกจากช่องทางให้บริการปกติ เพื่อให้ผู้ใช้บริการแจ้งเหตุได้โดยเร็ว (เริ่มเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ดำเนินการให้เสร็จภายในเดือนมีนาคม 2566) รวมทั้งให้ดูแลรับผิดชอบผู้ใช้บริการ หากพบว่าความเสียหายเกิดจากข้อบกพร่องของสถาบันการเงิน

ทั้งนี้ การจัดการและแก้ไขภัยทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องรอพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีผลบังคับใช้ จะสามารถช่วยแก้ไขข้อจำกัดและอุปสรรคได้เพิ่มเติมทั้งด้านการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมต้องสงสัยระหว่างสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การระงับการทำธุรกรรมโดยสถาบันการเงินได้ทันที และการกำหนดบทลงโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าที่ชัดเจน เป็นต้น

แบงก์ชาติ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo