Stock - Finance

‘วิกฤติเมียนมา’ ยืดเยื้อ กระทบหุ้นไทยแค่ไหน?

จากสถานการณ์วิกฤติการเงินครั้งใหม่ที่มาพร้อมกับวิกฤติการเมืองในประเทศเมียนมา ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการที่กลุ่มทหารของ “พลเอก มิน อ่อง หล่าย” ก่อรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ทำให้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นไปทั่วโลก มีการหยุดส่งเงินบริจาคช่วยเหลือทางเศรษกิจจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนอย่างหนัก ทำให้สกุลเงินจ๊าดเมียนมา (MMK) อ่อนค่ารุนแรง

หากนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน (เดือนก.ค.65) ค่าเงินจ๊าดร่วงลงไปแล้วกว่า 30% อยู่ที่ระดับ 1,850 MMK/ดอลลาร์สหรัฐ (USD) ซึ่งเป็นอัตราอ้างอิงที่ธนาคารกลางเมียนมา (Central Bank of Myanmar) ประกาศตั้งไว้แบบ Fixed Rate เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา เพื่อป้องกันความผันผวนของค่าเงิน

หมายความว่าในความเป็นจริง ค่าเงินจ๊าดของเมียนมาอาจจะอ่อนค่ากว่าที่เราเห็นมากทีเดียว ทั้งนี้ จากการสำรวจในตลาดมืด (black market) ประเมินกันว่าขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ประมาณ 2,200 MMK/USD โดยมีมูลค่าลดลงไปแล้วกว่า 60% นับตั้งแต่การรัฐประหาร ถือว่าเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วงมาก เพราะประเทศไม่มีรายได้จากนักท่องเที่ยว ไม่มีเงินลงทุนไหลเข้า แต่ยังต้องจ่ายหนี้ต่างประเทศที่มีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ

กระทบหุ้นไทยแค่ไหน

รัฐบาลเมียนมา จึงออกมาตรการเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว แต่ก็สร้างแรงสั่นสะเทือนอย่างมาก นั่นคือการที่ธนาคารกลางเมียนมาออกคำสั่งให้บริษัทและผู้กู้ยืมเงินรายย่อยระงับการชำระคืนหนี้เงินกู้ต่างประเทศ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เพื่อรักษาปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่ลดลงไปกว่า 1 ใน 3 ของทั้งหมด

ในเบื้องต้นประเมินว่ายอดสินเชื่อคงค้างของบริษัทเมียนมาที่อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์ คิดเป็นมลค่าประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์ หรือราว 44,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ของบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Ooredoo Myanmar ธุรกิจโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศ City Square Commercial ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ Apollo Towers Myanmar และ Irrawaddy Green Towers ที่เป็นผู้ให้บริการเสาโทรคมนาคม

นอกจากนี้ ยังออกคำสั้งห้ามนำเข้ารถยนต์ สินค้าฟุ่มเฟือย น้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงน้ำมันประกอบอาหารอีกด้วย เนื่องจากเชื่อว่าจะช่วยพยุงค่าเงินและรักษาปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศได้บ้าง

หุ้นไทยในเมียนมา กระทบไม่มาก

เมื่อสถานการณ์ยังคงยืดเยื้อและต้องติดตามอนาคตอย่างใกล้ชิด เพราะมีบริษัทในตลาดหุ้นไทยหลายแห่งที่เข้าไปดำเนินธุรกิจในเมียนมา โดยประกอบด้วยหลายกลุ่มอุตสาหกรรม (รวบรวมจากบทวิเคราะห์ของ บล. เอเซีย พลัส, บล. เคทีบีเอสที, บล. ฟินันเซีย ไซรัส และบล. พาย) ดังนี้
– กลุ่มวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง เช่น SCC, ITD, NWR, TTCL, AMATA และ SEAFCO
– กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม เช่น OSP, CBG และ MEGA
– กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น DELTA
– กลุ่มพลังงาน เช่น PTTEP
– กลุ่มธนาคารและการเงิน เช่น AEONTS

อย่างไรก็ตาม บล. เอเซีย พลัส ประเมินว่าหุ้นดังกล่าวจะได้รับผลกระทบที่กำจัด เพราะเมียนมามีสัดส่วนการค้ากับไทยแค่ 0.85% หรือประมาณปีละ 4,800 ล้านดอลลาร์เท่านั้น  ไม่ได้มีนัยยะสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย

บล. เคทีบีเอสที มองว่าประเด็นนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทส่วนใหญ่ และราคาหุ้นที่ย่อตัวลงมาเป็นจังหวะให้เข้าสะสมหุ้นกลุ่มข้างต้น โดยเฉพาะบริษัทที่ดำเนินงานในเมียนมา แต่สัดส่วนรายได้ไม่มีนัยสำคัญ ได้แก่

AEONTS (แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 200 บาท)

AMATA (แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 23.50 บาท)

CPF (แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 30.00 บาท)

PTTEP (แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 190 บาท)

SCC (แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 440 บาท)

shutterstock 573121573

สุดท้ายเราคงต้องรอดูสถานการณ์กันต่อไป ซึ่งมาตรการคุมเงินทุนอาจจะทำให้สินค้าส่งออกบางรายการแพงขึ้นและกระทบต่อผู้ส่งออกบ้างในระยะสั้น จนกว่าสถานการณ์จะมีเสถียรภาพขึ้น แต่สำหรับหุ้นหลายๆ ตัวที่สัดส่วนรายได้แทบจะไม่มีผล และมีพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งเพียงพอ ดังนั้น การที่ราคาหุ้นปรับลดลงจาก sentiment ในช่วงนี้ นับว่าเป็นโอกาสที่จะได้เข้าไปถือเพื่อเป้าหมายการลงทุนในระยะยาวได้เช่นกัน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน