Stock - Finance

รู้จัก ‘TLI’ ไอพีโอตัวใหม่ ที่เตรียมเข้าตลาดหุ้น

รู้จัก “ไทยประกันชีวิต” ไอพีโอตัวใหม่ที่เตรียมเข้าตลาดหุ้น ระดมทุนไปทำอะไร ทำความเข้าใจทำธุรกิจอะไรบ้าง ผลประกอบการเป็นอย่างไร 

ไทยประกันชีวิต เป็นบริษัทประกันชีวิตที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ซึ่งดำเนินธุรกิจมายาวนานกว่า 80 ปี และหลายคนคงพอทราบข่าวกันแล้วว่าบริษัทประกันแห่งนี้ กำลังมีแผนเข้าระดมทุนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยจะใช้ชื่อย่อว่า TLI

ทั้งนี้ ไทยประกันชีวิต ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขาย IPO ไปตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา และ ก.ล.ต. นับหนึ่งไฟลิ่งแล้วเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 ล่าสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาการมีผลบังคับใช้ของแบบไฟลิ่ง ซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาดเราคงได้เห็น ไทยประกันชีวิต หรือ TLI เข้าซื้อขายในปีนี้

รายละเอียดการ IPO หุ้นไทยประกันชีวิต เตรียมเสนอขายจำนวนไม่เกิน 2,207,309,200 หุ้น รวมทั้งหมดคิดเป็นไม่เกิน 19.3% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และอาจมีการจัดสรรหุ้นส่วนเกินเป็นจำนวนไม่เกิน 320,578,000 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 14.5% ของจำนวนหุ้นสามัญที่เสนอขายในครั้งนี้ ราคาพาร์ 1 บาทต่อหุ้น

ไทยประกันชีวิต

ไทยประกันชีวิต คือแบรนด์ประกันเจ้าไหน

เชื่อว่าคงมีหลายคนที่อาจจะยังสับสนเกี่ยวกับแบรนด์ประกันชีวิตในเมืองไทย เพราะมีหลายเจ้าที่มีชื่อและโลโก้คล้ายๆ กัน ซึ่ง 4 เจ้า ที่มักจะจำสลับกันบ่อยๆ นั่นคือ “ไทยประกันชีวิต” “ไทยประกันภัย” “เมืองไทยประกันชีวิต” “เมืองไทยประกันภัย”

สำหรับเจ้าที่เรากำลังพูดถึงในบทความนี้ คือ “ไทยประกันชีวิต” ที่มีโลโก้สีน้ำเงิน ครอบครัวไชยวรรณเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ภาพจำของแบรนด์ไทยประกันชีวิต คือหนังโฆษณาที่เน้นสร้างกำลังใจให้เห็นคุณค่าของชีวิต ซึ่งอยู่ในความทรงจำของผู้ชม เช่น Everlasting Love (ปู่ชิว), Que Sera Sera, Unsung Hero และ Silence of Love เป็นต้น

ส่วนเจ้าอื่นๆ นั้นไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงแต่อย่างใด โดย “ไทยประกันภัย” เป็นธุรกิจประกันของเครือไทย โฮลดิ้งส์ ของเจ้าสัวเจริญ ขณะที่ “เมืองไทยประกันภัย” (หุ้น MTI มาดามแป้งถือหุ้นใหญ่) กับ “เมืองไทยประกันชีวิต” (KBANK ถือหุ้นใหญ่) ทั้งคู่เป็นธุรกิจประกันของตระกูลล่ำซำ

ไทยประกันชีวิต ทำธุรกิจอะไรบ้าง

บริษัทมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ครบวงจร ทั้งด้านการคุ้มครองชีวิต คุ้มครองสุขภาพ การออม การลงทุน และการวางแผนมรดก แบ่งเป็น 6 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ประกอบด้วย
1. ประกันชีวิตประเภทสามัญ (Basic Ordinary Life Insurance) ได้แก่ แบบสะสมทรัพย์ (Endowment)แบบตลอดชีพ แบบชั่วระยะเวลา และแบบเงินได้ประจำหรือแบบบำนาญ
2. ประกันชีวิตประเภทควบการลงทุน (Investment-linked) ได้แก่ แบบยูนิเวอร์แซลไลฟ์ และแบบยูนิต ลิงค์
3. ประกันชีวิตประเภทอุตสาหกรรม (Industrial Life Insurance)ฃ
4. ประกันชีวิตประเภทกลุ่ม (Group Life Insurance)
5. ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (Personal Accident)
6. สัญญาเพิ่มเติม (Riders)

นอกจากนี้ ยังมีช่องทางจัดจำหน่ายที่หลากหลายและครอบคลุมทั่วประเทศไทย อาทิ ตัวแทนประกันชีวิต กว่า 64,000 ราย ขายผ่านพันธมิตรที่มีทั้งธนาคารพาณิชย์ ธนาคารและองค์กรของรัฐ บริษัทลีสซิ่งและเช่าซื้อ และบริษัทสินเชื่อเพื่อผู้บริโภค รวมถึงช่องทางผลิตภัณฑ์ผ่านทางโทรศัพท์ และ E-Commerce อีกด้วย

ไทยประกันชีวิต

รายได้หลักมาจากธุรกิจประกันภัยในรูปแบบของเบี้ยประกันภัย และมีรายได้จากกิจกรรมการลงทุนที่อยู่ในรูปแบบของดอกเบี้ย เงินปันผล และกำไรจากเงินลงทุน ทั้งนี้ ไทยประกันชีวิตมีรายได้สะดุดไปบ้างในช่วงโควิด-19 จากเบี้ยประกันภัยรับรวมที่หดตัวลง แต่ยังสามารถรักษาผลกำไรให้เติบโตได้อย่างน่าสนใจ โดยปี 2564 มีกำไรสุทธิสูงสุดเป็นประวัตการณ์ ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะไม่มีผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ “เจอ จ่าย จบ” ประกอบกับการเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลในกรณีอื่นที่ไม่ใช่โควิด-19 ปรับลดลง เนื่องจากประชาชนหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาล

ไทยประกันชีวิต ระดมทุนไปทำอะไร

ไทยประกันชีวิต วางแผนที่จะใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพในการเติบโตสำหรับอนาคต โดยเน้นลงทุนในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) และส่งเสริมการตลาด เสริมสร้างความแข็งแกร่งของช่องทางจัดจำหน่ายผ่านทางพันธมิตร รวมถึงการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของเงินทุน กลยุทธ์สร้างการเติบโตภายหลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเน้นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีการเติบโตสูงและมีมูลค่าสูง ขณะที่ตัวแทนประกันชีวิตยังคงเป็นช่องทางหลักในการขายผลิตภัณฑ์

ความน่าสนใจของหุ้นไทยประกันชีวิต

1. เป็นบริษัทประกันชีวิตรายแรกและรายใหญ่ที่สุดที่เป็นแบรนด์ของคนไทย ซึ่งแข็งแกร่งมากว่า 80 ปี
2. เครือข่ายตัวแทนประกันชีวิตที่ครอบคลุมทั่วประเทศ
3. ช่องทางการจัดจำหน่ายที่หลากหลาย
4. มีผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่ครบวงจร โดยเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีการเติบโตสูงและมีมูลค่าสูง
5. ความสามารถในการทำกำไรที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง
6. ผู้บริหารที่มีประสบการณ์สูงในธุรกิจประกันชีวิต และได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น Meiji Yasuda Life Insurance Company ซึ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตรายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน