Stock - Finance

เปิด ’10 อันดับหุ้นไทย’ กำไรไตรมาส 1/65 สูงสุด

เปิด 10 อันดับหุ้นไทย  กำไรไตรมาส 1/2565 สูงสุด จากผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai)  กำไรสุทธิรวมกันกว่า 295,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นราว 12%

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน บทความนี้เราจึงรวบรวมข้อมูลของหุ้นที่มีกำไรสุทธิสูงที่สุด 10 อันดับแรก มาฝาก

10 อันดับหุ้นไทย

10 อันดับหุ้นไทยกำไรไตรมาส 1/65 สูงสุด

อันดับ 1 หุ้น PTT หรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

กำไรสุทธิไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 25,571 ล้านบาท ปรับลดลง 21.50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 32,58 ล้านบาท
แม้ว่ากำไรจะปรับลดลง เนื่องจากหลายบริษัทในกลุ่มมีผลขาดทุนจากสัญญาประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ แต่ด้วยขนาดธุรกิจที่ใหญ่ของเครือปตท. และกลุ่มธุรกิตโรงกลั่นที่มีผลงานโดดเด่น ทำให้ PTT ยังครองแชมป์บริษัทเบอร์ 1 ในประเทศไทย

อันดับ 2 หุ้น IVL หรือ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน)
กำไรสุทธิไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 14,070 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 134% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 6,009 ล้านบาท
เป็นไตรมาสที่ผลประกอบการของบริษัทโตขึ้นอย่างมาก เนื่องจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อัตราค่าระวางสินค้าทางทะเลที่สูงขึ้น และการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งมีแรงหนุนสำคัญจากอัตรากำไรของผลิตภัณฑ์ PET ทั้งฝั่งสหรัฐและยุโรปที่เพิ่มขึ้น

10 อันดับหุ้นไทย

อันดับ 3 หุ้น KBANK หรือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
กำไรสุทธิไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 11,211 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 5.50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 10,627 ล้านบาท
เป็นการเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศ โดยมีรายได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจากการเติบโตของยอดสินเชื่อ ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากยุทธศาสตร์ของธนาคารที่เน้นให้สินเชื่อแก่ลูกค้าที่มีศักยภาพ และมีมาตรการช่วยเหลือลูกค้าโดยการเสริมสภาพคล่องให้สามารถลูกค้ากลับมาดำเนินธุรกิจได้ปกติ

อันดับ 4 หุ้น PTTEP หรือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
กำไรสุทธิไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 10,519 ล้านบาท ปรับลดลง 8.80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 11,533 ล้านบาท
PTTEP มีรายได้รวมที่สูงขึ้น เนื่องจากปริมาณการขายน้ำมันและราคาเฉลี่ยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ทางบริษัทมีผลขาดทุนจากการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน จึงทำให้กำไรสุทธิลดลงเล็กน้อย แต่ก็เพียงพอที่ติดอันดับในครั้งนี้

อันดับ 5 หุ้น BANPU หรือ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน)
กำไรสุทธิไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 10,264 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 568% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 1,535 ล้านบาท
ธุรกิจถ่านหินของ BANPU สามารถกลับมาเติบโตได้อย่างโดดเด่นมาก เพราะการปรับตัวขึ้นของราคาราคาถ่านหินที่เพิ่มขึ้นกว่า 100% รวมถึงในส่วนของธุรกิจก๊าซธรรมชาติก็เติบโตเช่นกัน

อันดับ 6 หุ้น SCB หรือ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน)
กำไรสุทธิไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 10,193 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 10,088 ล้านบาท
ผลกำไรปรับตัวขึ้นเล็กน้อย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจสินเชื่อ

อันดับ 7 หุ้น SCC บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน)
กำไรสุทธิไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 8,844 ล้านบาท ปรับลดลง 41% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 14,913 ล้านบาท
บริษัทมีรายได้จากการขายเพิ่มขึ้นจากทุกกลุ่มธุรกิจ ตามกราคาผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทว่ากำไรปรับลดลง เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบของธุรกิจเคมิคอลส์ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก

อันดับ 8 หุ้น KTB ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)
กำไรสุทธิไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 8,780 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 57.40% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 5,578 ล้านบาท
ธนาคารกรุงไทยสามารถทำรายได้รวมขยายตัว และควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ในระดับที่ควบคุมได้อย่างต่อเนื่อง

10 อันดับหุ้นไทย

อันดับ 9 หุ้น RCL หรือ บริษัท อาร์ ซี แอล จำกัด (มหาชน)
กำไรสุทธิไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 8,223 ล้านบาท  ปรับเพิ่มขึ้น 179.50% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 2,942 ล้านบาท
ธุรกิจเดินเรือของ RCL เติบโตอย่างมาก จนทำลายสถิติเป็นประวัติกาลของบริษัท โดยปัจจัยมาจากปริมาณการขนส่งตู้สินค้าเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีกำไรพิเศษจากการบวกกลับด้อยค่าของทรัพย์สินที่เกินขึ้นเมื่อไตรมาสก่อน

อันดับ 10 หุ้น BAY หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
กำไรสุทธิไตรมาส 1/2565 อยู่ที่ 7,418 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 6,505 ล้านบาท
ปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของกำไรจากการดำเนินงาน และการลดลงของผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น โดยเงินให้สินเชื่อรวมก็เติบโตขึ้นจากความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

ทั้งหมดนี้เป็นการสรุปข้อมูลของ 10 บริษัทขนาดใหญ่ที่มีกำไรสุทธิสูงสุดในไตรมาส 1/2565 โดยรวมแล้วก็ยังเป็นหุ้นขนาดใหญ่ในธุรกิจดั้งเดิม (Traditional Business) ที่เราต่างคุ้นเคยกันดี แต่ก็มีหุ้นวัฎจักรเดินเรืออย่าง RCL สอดแทรกเข้ามาด้วยจากผลงานที่โดดเด่นเป็นประวัติกาล

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน