Stock - Finance

อนาคต ‘BEM และ BTS’ การวิ่งสวนทางของหุ้นรถไฟฟ้า

ราคาหุ้น BEM และ BTS หลังเปิดตลาดหุ้นวันแรก (23พ.ค.) เมื่อทราบผลเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. พบว่าวิ่งสวนทางกันอย่างเห็นได้ชัด 

ในตลาดหุ้นไทยมี 2 บริษัท ที่ดำเนินธุรกิจรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน สำหรับการเดินทางหลักในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร หนึ่งคือ BEM หรือ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และสองคือ BTS หรือ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)

bem bts

อย่างไรก็ดี หลังทราบผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 โดยผู้ชนะคือ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็เกิดแรงกระเพื่อมพอสมควรต่อกิจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ เนื่องจากหนึ่งในนโยบายหลักที่ใช้ในการหาเสียงครั้งนี้ มีความเกี่ยวข้องกับการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าในอนาคต

ราคาหุ้นของ BEM และ BTS หลังการเปิดตลาดหุ้นวันแรกเมื่อทราบผลเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ (วันที่ 23 พ.ค.65) พบว่าวิ่งสวนทางกันอย่างเห็นได้ชัด โดยราคาหุ้น BEM ปรับเพิ่มขึ้น 2.84% หรือลดลง 0.25 จุด ขณะที่ราคาหุ้น BTS ปรับลดลง 2.78% หรือลดลง 0.25 จุด ซึ่งเป็นไปได้ว่ามีคนที่ขายหุ้น BTS แล้วเปลี่ยนมาซื้อหุ้น BEM แทน เพราะต้องการคงสัดส่วนการลงทุนในกลุ่มธุรกิจนี้

รถไฟฟ้า

ทำไม BTS ถึงเจอแรงกดดัน

บล. กรุงศรี ระบุว่า นโยบายการไม่ต่อสัมปทานกับ BTS ที่จะหมดอายุในปี 2572 และความต้องการคงค่าโดยสารในระดับ 20-25 บาทตลอดสายสีเขียว จะสร้างโมเมนตัมเชิงลบต่อหุ้น BTS อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในระยะสั้น แต่ในระยะยาวตลาดอาจจะคลายกังวลได้ เนื่องจากมูลค่าการต่อสัมปทานของ BTS หลังหมดอายุลง จะไม่กระทบต่อ valuation ของหุ้นที่วิเคราะห์เอาไว้

อีกทั้งมองว่าการต่อสัมปทานเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับกรุงเทพฯ เพราะยังมีหนี้ค้างชำระอย่างน้อย 32,000 ล้านบาท สำหรับงานควบคุมและตรวจสอบระบบ (M&E) และงานเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ตั้งแต่ปี 2562 นอกจากนี้ ในระยะยาวยังมีหนี้อีกกว่า 50,000 ล้านบาท จากงานโยธาของสายสีเขียวส่วนต่อขยาย

บล. กสิกรไทย เปิดเผยว่า ตลาดมีความกังวลต่อการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่จะหมดอายุ รวมทั้งนโยบายที่จะลดค่าแรกเข้าและค่าโดยสารลงจากปัจจุบัน ทำให้เป็น sentiment ลบต่อหุ้น BTS และบริษัทอื่นๆ ในเครือ อาทิ VGI และ PLANB ที่อาจได้รับผลกระทบในส่วนรายได้โฆษณาหากการต่อสัญญาสัมปทานสะดุด

รถไฟฟ้า

BEM วิ่งสวนทาง รับผลบวก

ขณะที่ราคาหุ้น BEM กลับมีความโดดเด่นขึ้นมาทันที โดย บล.หยวนต้า ให้ความเห็นว่าเกิดจากความคาดหวังต่อความคืบหน้าเรื่องการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนต่อขยาย ทำให้มีนักลงทุนที่ขายหุ้น BTS จากผลกระทบเชิงลบ สลับมาลงทุนในหุ้น BEM แทน

ดังนั้น ในระยะสั้นราคาหุ้น BEM ค่อนข้างมีความน่าสนใจกว่า BTS จากปัจจัยหนุนเฉพาะตัวในเรื่องรถไฟฟ้าสายสีส้ม ประกอบกับการกลับมาเปิดเมืองทำให้จำนวนผู้ใช้ทางด่วนและรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ประกอบกับค่า P/E ของ BEM ที่ยังต่ำกว่า BTS อีกด้วย ทว่าการเข้าเก็งกำไรต้องระมัดระวัง เพราะหากการประมูลสายสีส้มมีความชัดเจนแล้ว อาจเห็นการ Sell on Fact ออกมาได้

บล. กสิกรไทย เปิดเผยว่า ทิศทางของ BEM สดใสจากการเปิดประเทศ เริ่มเปิดโรงเรียนและการกลับไปทำงานอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้จำนวนผู้ใช้ทางด่วนและผู้โดยสารรถไฟฟ้าฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ขณะเดียวกัน คาดว่าการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะเปิดขายซอง TOR โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 140,000 ล้านบาท ในวันที่ 27 พฤษภาคม -10 มิถุนายน 2565

ถือว่าเป็น 2 หุ้นบิ๊กแคป ที่ทำธุรกิจคล้ายคลึงกันและเป็นคู่แข่งโดยตรงก็ว่าได้  หากมองเฉพาะธุรกิจโรงไฟฟ้า ปัจจุบัน BTS ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน (สายสุขุมวิท) รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (สายสีลม) และรถไฟฟ้าสายสีทอง ในส่วนของ BEM ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังเป็นผู้ให้บริการทางด่วนเส่นต่างๆ อีกด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน