Stock - Finance

เปิด 10 หุ้นกำไรสุทธิสูงสุด ประจำปี 2564

เปิด 10 หุ้นไทยกำไรสุทธิสูงสุด ประจำปี 2564 พร้อมจับตาสถานการณ์การลงทุน ที่ผันผวนอย่างมากในปีนี้ แต่ละบริษัทจะปรับกลยุทธ์รับมืออย่างไร

บริษัทจดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ประกาศผลการดำเนินงานงวดปี 2564 ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ถือว่าเป็นปีที่หลายบริษัทกลับมาเติบโตได้ดีอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็น Traditional Business ซึ่งมีพื้นฐานแข็งแกร่ง ทำให้สามารถปรับกลยุทธ์ฟันฝ่าความผันผวนไปได้ด้วยดี

เมื่อเสร็จสิ้นของฤดูกาลประกาศผลการดำเนินงานประจำปีแบบนี้ เราจึงถือโอกาสรวบรวมผลงานของ 10 หุ้นกำไรสุทธิสูงสุด ในปี 2564 มาฝากพร้อมทั้งสรุปที่มาที่ไปของงบการเงินแต่ละบริษัทให้เห็นภาพรวมแบบชัด ๆ

หุ้นกำไรสุทธิสูงสุด

หุ้นกำไรสุทธิสูงสุดประจำปี 2564 

อันดับ 1 หุ้น PTT หรือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
กำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 108,363 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 187% จากปีก่อนที่ทำได้ 37,765 ล้านบาท
เป็นบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในตลาดหุ้นไทย และครองแชมป์กำไรสุทธิสูงสุดมายาวนาน โดยเป็นปีที่ กลุ่ม ปตท. กลับมาสร้างผลงานได้อย่างโดดเด่น ตามทิศทางราคาพลังงาน ส่งผลให้ธุรกิจปิสำรวจปิโตรเลียม โรงกลั่น และปิโตรเคมี ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ บริษัทยังมีกำไรจากสต็อกน้ำมันเข้ามาช่วยหนุนผลการดำเนินงาน

อันดับ 2 หุ้น SCC หรือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน)
กำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 47,173 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 38% จากปีก่อนที่ทำได้ 34,143 ล้านบาท
SCC ถือว่าได้รับผลบวกจากกลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ ที่สร้างการเติบโตได้ทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ เนื่องจากราคาและปริมาณขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ตามทิศทางเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในปีที่ผ่านมา

อันดับ 3 PTTGC หรือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)
กำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 44,982 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 22,504% จากปีก่อนที่ทำได้ 199 ล้านบาท
ก้าวขึ้นเป็นแกนนำธุรกิจเคมีภัณฑ์ (Chemical Flagship) ของ กลุ่ม ปตท. โดยปีนี้ PTTGC ได้รับอานิสงส์จากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งสายโอเลฟินส์และสายอะโรเมติกส์ ทำให้บริษัทเติบโตอย่างก้าวกระโดดเลยทีเดียว

อันดับ 4 PTTEP หรือ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
กำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 38,863 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 71% จากปีก่อนที่ทำได้ 22,664 ล้านบาท
เติบโตตามความต้องการใช้ และทิศทางราคาน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 18% ส่งผลให้รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น 12%  สะท้อนมาสูงกำไรสุทธิของบริษัทที่เติบโต

อันดับ 5 KBANK หรือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
กำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 38,052 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อนที่ทำได้ 29,487 ล้านบาท
สาเหตุของการเติบโตในหุ้นธนาคาร มาจากยอดสินเชื่อที่เริ่มฟื้นตัว ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมต่างๆ ก็ดีขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา KBANK ได้ปรับลดการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่า จะเกิดขึ้น 3,216 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากปีก่อนหน้า

หุ้นกำไรสุทธิสูงสุด

อันดับ 6 SCB หรือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
กำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 35,598 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 30% จากปีก่อนที่ทำได้ 27,217 ล้านบาท
ถือว่าดีขึ้นตามแนวโน้มของอุตสาหกรรมธนาคาร ทั้งในแง่ความสามารถในการทำกำไรและการตั้งวงเงินสำรองที่ลดลง

อันดับ 7 BAY หรือ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
กำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 33,794 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 46% จากปีก่อนที่ทำได้ 23,039 ล้านบาท
สำหรับ BAY  ก็ดีขึ้นจากการตั้งสำรองที่ลดลงเช่นกัน ขณะเดียวกันบริษัทยังมีกำไรพิเศษ ที่เกิดขึ้นจากการขายหุ้น TIDLOR

อันดับ 8 ADVANC หรือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
กำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 26,922 ล้านบาท ปรับลดลง 2% จากปีก่อนที่ทำได้ 27,434 ล้านบาท
เป็นเพียงบริษัทเดียวใน 10 บริษัทที่มีกำไรลดลง อย่างไรก็ดี สาเหตุหลักมาจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง และการเพิ่มขึ้นของค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย  เป็นเหตุผลทางบัญชี

อันดับ 9 BBL หรือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
กำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 26,507 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากปีก่อนที่ทำได้ 17,180 ล้านบาท
เป็นอีกหนึ่งธนาคารขนาดใหญ่ที่ติดอันดับเข้ามา เนื่องจากรายได้ที่เติบโตดีขึ้นทั้งในฝั่งของรายได้จากดอกเบี้ยและรายได้จากค่าธรรมเนียม

อันดับ 10 IVL หรือ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน)
กำไรสุทธิปี 2564 อยู่ที่ 26,288 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 989% จากปีก่อนที่ทำได้ 2,414 ล้านบาท
เป็นธุรกิจปิโตรเคมีที่กลับมาสร้างผลงานได้อย่างโดดเด่น เนื่องจากผลิตภัณฑ์ทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ Combined PET (CPET), Fibers และ Integrated Oxides and Derivatives (IOD) ปรับตัวดีขึ้นทั้งหมด

หุ้นกำไรสุทธิสูงสุด

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นชัดเจนว่า เป็นช่วงเวลาที่หุ้นขนาดใหญ่กลับมาสร้างผลงานได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งก็เป็นไปตามแนวโน้มภาพรวมเศรษฐกิจ ทั้งนี้ก็ต้องจับตากันต่อไปว่าด้วยสถานการณ์การลงทุน ที่ผันผวนอย่างมากในปีนี้ แต่ละบริษัทจะปรับกลยุทธ์รับมืออย่างไร และจะยังสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่

หมายเหตุ : บทความนี้เพื่อใช้สำหรับศึกษาเบื้องต้นเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุน

 อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน