Stock - Finance

ลดหย่อนภาษี! Clear Cut ผู้เสียภาษีต้องรู้ มีอะไรลดหย่อนได้บ้าง

ลดหย่อนภาษี! กรมสรรพกากร เคลียร์ ชัด ค่าลดหย่อน รู้ก่อนยื่นแบบ ได้สิทธิลดหย่อนเต็มๆ ประเด็น เด็ดเกร็ดลดหย่อน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2563 เริ่มที่
กรมสรรพากร แจกแจงการเสียภาษีผู้มีเงินได้ พร้อมหลักเกณฑ์ในการหักลดหย่อนภาษี อะไรบ้างที่ควรได้รับสิทธิในการลกหย่อนภาษี แต่ละประเภทได้รับการลดหย่อยเท่าไหร่อย่างละเอียดยิบ เป็นสิ่งที่ผู้เสียภาษีต้องรู้ก่อนยื่นเสียภาษีทุกครั้ง

ลดหย่อนภาษี!

ผู้มีเงินได้
Q1 : การหักลดหย่อนผู้มีเงินได้มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A1 : การหักลดหย่อนผู้มีเงินได้ มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนได้ 60,000 บาท
2. ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี หักลดหย่อนได้ 60,000 บาท
3. กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง หักลดหย่อนได้ 60,000 บาท
4. ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล หากอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ 2 คน ขึ้นไป ให้หักลดหย่อนได้ 120,000 บาท
5. วิสาหกิจชุมชนประกอบกิจการในรูปแบบห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หักค่าลดหย่อนได้ ไม่เกิน 60,000 บาท

ลดหย่อนภาษี!
Word tax

Q2 : กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ หักลดหย่อนอย่างไร
A2 : กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ หักลดหย่อนได้ดังนี้
1. แยกยื่นแบบ ภ.ง.ด. 90/91 ต่างฝ่ายต่างหักลดหย่อนในส่วนของตนได้ 60,000 บาท
2. ยื่นแบบรวมคำนวณภาษี หักลดหย่อนรวมกันได้ 120,000 บาท

Q3 : กรณีภริยาไม่ได้ทำงาน แต่ได้รับเงินจากสามี เดือนละ 20,000 บาท และภริยาไปลงทะเบียนใช้สิทธิคนละครึ่งสามีมีสิทธินำภริยามาหักลดหย่อนคู่สมรสในการยื่นแบบได้ใช่หรือไม่
A3 : ได้ โดยหักลดหย่อนรวมกันได้ 120,000 บาท

ลดหย่อนภาษี!

คู่สมรส
Q1 : การหักลดหย่อนคู่สมรสมีหลักเกณฑ์อย่างไร
A1 : การหักลดหย่อนคู่สมรส มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. สามีหรือภริยา (คู่สมรส) ของผู้มีเงินได้ หักลดหย่อนได้ 60,000 บาท
2. สามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ไม่มีเงินได้พึงประเมิน
3. ต้องเป็นสามีหรือภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย (จดทะเบียนสมรสกัน)
4. กรณีจดทะเบียนสมรสระหว่างปี, คู่สมรสตายระหว่างปี หรือหย่าระหว่างปี สามารถหักลดหย่อนคู่สมรสได้
5. กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในไทย (180 วัน) สามารถนำสามีหรือภริยาที่อยู่ต่างประเทศมาหักลดหย่อนได้
6. กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในไทย ให้หักลดหย่อนเฉพาะคู่สมรสและบุตรที่อยู่ในไทยถึง 180 วันเท่านั้น

Q2 : ภริยาอาศัยและทำงานอยู่ในไทย มีเงินได้จากเงินเดือน แต่สามีเป็นชาวต่างชาติไม่ได้อยู่ในไทย และไม่มีเงินได้ในไทย ภริยายื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ผ่านอินเทอร์เน็ต ต้องการลดหย่อนคู่สมรสจะต้องทำอย่างไร
A2 : ในการกรอกแบบ ภ.ง.ด.90/91 ผ่านอินเทอร์เน็ต กรณีคู่สมรสเป็นชาวต่างชาติ และเป็นผู้ที่มิได้อยู่ในไทย และไม่มีเงินได้เนื่องจากหน้าที่งาน หรือกิจการที่ทำในไทย หรือเนื่องจากกิจการของนายจ้างในไทย หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในไทย ให้เลือกสถานะการยื่นแบบฯ ของคู่สมรส ไม่มีเงินได้ เลือก ต่างด้าว กรอกข้อมูลเลขที่หนังสือเดินทาง/ใบสำคัญคนต่างด้าว และระบุสัญชาติ  ทั้งนี้ จะได้รับสิทธิในการหักค่าลดหย่อน กรณีคู่สมรสไม่มีเงินได้ จำนวน 60,000 บาท
กรณีไม่ทราบเลขที่หนังสือเดินทาง/ใบสำคัญคนต่างด้าว ให้ผู้มีเงินได้ยื่นแบบกระดาษ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา

บุตร
Q1 : การหักลดหย่อนบุตรมีหลักเกณฑ์อย่างไร
A1 : การหักลดหย่อนบุตร มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. บุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้มีเงินได้ หรือของคู่สมรส คนละ 30,000 บาท
2. บุตรบุญธรรมของผู้มีเงินได้ คนละ 30,000 บาท แต่รวมกันได้ไม่เกิน 3 คน
3. บุตรต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีนั้น ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป (ไม่รวมเงินได้ที่ได้รับยกเว้น ตามมาตรา 42)
4. บุตรต้องอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้
5. เป็นผู้เยาว์ (อายุไม่ถึง 20 ปี) หรือผู้มีอายุไม่เกิน 25 ปี และยังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือชั้นอุดมศึกษา (ระดับอนุปริญญาหรือปริญญาตรีขึ้นไป) รวมถึงการศึกษาในหลักสูตรเนติบัณฑิต หรือเป็นผู้ที่ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
6. กรณีผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย ให้หักลดหย่อนได้เฉพาะบุตรที่อยู่ในประเทศไทยถึง 180 วันเท่านั้น
7. กรณีผู้มีเงินได้เป็นผู้อยู่ในไทย ให้หักลดหย่อนบุตรได้ไม่ว่าบุตรจะอยู่ในไทยหรืออยู่ต่างประเทศ
8. สำหรับบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป (ยกเว้นบุตรบุญธรรม) ที่เกิดในหรือหลัง พ.ศ. 2561 หักลดหย่อนได้เพิ่มอีก คนละ 30,000 บาท

ลดหย่อนภาษี!

Q2 : กรณีผู้มีเงินได้ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับภริยา ต้องมีเอกสารใดประกอบการใช้สิทธิลดหย่อนบุตร
A2 : กรณีสามีภริยาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน เด็กที่เกิดจากหญิงที่ไม่ได้ทำการสมรสตามกฎหมาย (จดทะเบียนสมรส) ไม่ถือว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชาย ตามมาตรา 1457 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เว้นแต่บิดาจะได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาในภายหลัง หรือบิดาได้จดทะเบียนรับรองบุตร หรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร จึงจะถือว่าเด็กนั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดา

Q3 : หากต้องการจดทะเบียนรับรองบุตรเพื่อใช้สิทธิลดหย่อน สามารถติดต่อขอจดทะเบียนรับรองบุตรได้ที่ใด
A3 : หากต้องการจดทะเบียนรับรองบุตรเพื่อใช้สิทธิลดหย่อน สามารถติดต่อขอจดทะเบียนรับรองบุตรได้ดังนี้
1. การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรต้องได้รับความยินยอมจากเด็กและมารดาของเด็ก โดยไปให้ความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน บิดามารดาและบุตรต้องไปติดต่องานปกครอง สำนักงานเขตหรืออำเภอ กิ่งอำเภอ หรือสถานทูต สถานกงสุลไทยในต่างประเทศ แล้วแต่กรณี
2. กรณีเด็กและมารดาของเด็กไม่อาจให้ความยินยอมได้ เช่น มารดาถึงแก่ความตายแล้ว หรือกรณีเด็กไม่อาจแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้ เช่น อายุยังน้อยเกินไป การรับรองบุตรนั้นบิดา จะต้องยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอันถึงที่สุดให้มีการรับรองบุตรได้

Q4 : บุตรเรียนปริญญาโท อายุ 24 ปี หักค่าลดหย่อนได้หรือไม่
A4 : หากบุตรมีเงินได้ในปีที่ใช้สิทธิหักค่าลดหย่อนไม่ถึง 30,000 บาท บิดามารดาสามารถนำบุตรมาหักลดหย่อนได้ฝ่ายละ 30,000 บาท
Q5 : ผู้มีเงินได้นำบุตรบุญธรรมไปหักลดหย่อนแล้ว บิดามารดาที่แท้จริงสามารถนำบุตรคนนั้นไปหักลดหย่อนในฐานะบุตร
ได้อีกหรือไม่
A5 : ผู้ที่มีสิทธิหักลดหย่อนบุตรบุญธรรมได้ คือ ผู้ที่จดทะเบียนรับรองเป็นบุตรบุญธรรมเท่านั้น ส่วนบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายเดิมของบุตรคนดังกล่าวไม่สามารถหักลดหย่อนได้อีก

Q6 : ผู้มีเงินได้รับบุตรบุญธรรมในเดือนกันยายน ต่อมาเดือนธันวาคม ยกเลิกการรับบุตรบุญธรรม ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนบุตรในปีภาษีดังกล่าวได้หรือไม่
A6 : ได้ เนื่องจากการหักลดหย่อนบุตรให้หักได้ตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ หากในปีถัดไป บิดามารดาเดิมไม่ได้ยกบุตรให้เป็นบุตรบุญธรรมผู้อื่น บิดามารดาเดิมสามารถนำบุตรไปหักลดหย่อนได้

Q7 : นาย ก. และ นาง จ. สถานภาพสมรส มีบุตรเกิดเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 อายุเพียง 3 วัน บิดามารดาจะนำบุตรมาหักลดหย่อนบุตรได้หรือไม่
A7 : นาย ก. และ นาง จ. ในฐานะผู้มีเงินได้ สามารถหักลดหย่อนบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้หักได้ตลอดปี    ไม่ว่ากรณีที่จะหักได้นั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่ โดยหักบุตรได้ฝ่ายละ 30,000 บาท

Q8 : หลักฐานที่แสดงว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย มีอะไรบ้าง
A8 : หลักฐานที่แสดงว่าเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย มีดังนี้
1. กรณีบิดา ใช้สูติบัตรหรือสำเนาทะเบียนบ้านประกอบกับทะเบียนสมรสของบิดามารดา หรือ หลักฐานการจดทะเบียนรับรองบุตร หรือ หนังสือบันทึกฐานะแห่งครอบครัว แล้วแต่กรณี
2. กรณีมารดา ใช้สูติบัตรหรือสำเนาทะเบียนบ้าน หรือ หนังสือบันทึกฐานะแห่งครอบครัว แล้วแต่กรณี
3. กรณีที่บุตรซึ่งเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ถ้ามีคำพิพากษาของศาลว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็สามารถนำหลักฐานคำพิพากษาดังกล่าวมาแสดงได้

Q9 : บุตรผู้เยาว์ของนาย ว. มีเงินได้พึงประเมินเป็นเงินปันผลจำนวน 2,000,000 บาท นาย ว. มีสิทธิหักค่าลดหย่อนบุตรผู้เยาว์ ได้หรือไม่
A9 : หากบุตรของนาย ว. เป็นบุตรผู้เยาว์ (อายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ /ยังไม่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส)
มีเงินได้ประเภทเงินปันผลจำนวน 2,000,000 บาท โดยไม่มีเงินได้ประเภทอื่นอีก ถือว่าเงินได้ของบุตรผู้เยาว์เป็นเงินได้พึงประเมินของนาย ว. ผู้เป็นบิดา นาย ว. มีหน้าที่ต้องนำเงินปันผลดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษี
ในนามของตน โดยนิตินัยเป็นผลเท่ากับบุตรผู้เยาว์ไม่มีเงินได้ ดังนั้น นาย ว. มีสิทธินำบุตรผู้เยาว์ดังกล่าวมาหักลดหย่อนได้

ลดหย่อนภาษี!

ค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร
Q1 : การหักลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร มีหลักเกณฑ์อย่างไร
A1 : การหักลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. เงินที่ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร เช่น ค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายา ค่าทำคลอด เป็นต้น
2. จ่ายให้แก่สถานพยาบาลของทางราชการ หรือของเอกชน
3. ตามจำนวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี สำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราว ไม่เกิน 60,000 บาท
4. ต้องมีเอกสารมาแสดง ได้แก่ ใบรับรองแพทย์ที่แสดงความเห็นว่ามีภาวะตั้งครรภ์ และใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่นใดที่ได้จ่ายให้แก่สถานพยาบาล
5. ต้องรวมกับสิทธิการเบิกค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ซึ่งเป็นสวัสดิการจากภาครัฐหรือภาคเอกชนสำหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราวแล้ว ไม่เกิน 60,000 บาท
6. กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้สามีหรือภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ ใช้สิทธิตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 60,000 บาท
7. กรณีต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้ภริยาใช้สิทธิเต็มจำนวนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 60,000 บาท

Q2 : หากจ่ายค่าฝากครรภ์ปี 2563 เป็นเงิน 35,000 บาท และจ่ายค่าคลอดบุตรปี 2564 เป็นเงิน 45,000 บาท สามารถใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีได้บุคคลธรรมดาในปี 2563 และ 2564 ได้เท่าใด
A2 : ปี 2563 ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 35,000 บาท และปี 2564 จำนวน 25,000 บาท เนื่องจากในแต่ละคราวรวมกันต้องไม่เกิน 60,000 บาท

Q3 : กรณีตั้งครรภ์และแท้งเอง และตั้งครรภ์ใหม่ในปีภาษีเดียวกัน ลดหย่อนได้เท่าใด
A3 : ใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้ง 2 ครั้งๆ ละ ไม่เกิน 60,000 บาท

Q4 : หากจ่ายค่าคลอดบุตรต้นปี 2563 เป็นเงิน 60,000 บาท ปลายปีจ่ายค่าฝากครรภ์บุตรคนที่ 2 อีก 60,000 บาท ได้รับสิทธิ์ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 120,000 บาทใช่หรือไม่
A4 : สามารถใช้สิทธิ์แต่ละคราวหรือท้องละไม่เกิน 60,000 บาท ดังนั้น สามารถใช้สิทธิ์ได้ 120,000 บาท

Q5 : กรณีฝากครรภ์แล้วภายหลังตรวจพบว่าบุตรในครรภ์ไม่สมบูรณ์ แพทย์จำเป็นต้องนำทารกออกจากครรภ์ (ยุติการตั้งครรภ์) สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้หรือไม่
A5 : ได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ไม่ว่าจะเป็นค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด และค่ากินอยู่ในสถานพยาบาล ทั้งนี้ ไม่ว่าทารกที่คลอดจะมีชีวิตรอดหรือไม่

Q6 : กรณีคลอดลูกแฝด ในเดือนสิงหาคม ปี 2563 จะได้รับสิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรอย่างไร
A6 : ได้รับสิทธิ 60,000 บาท เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์เพียงคราวเดียว

Q7 : ค่าตรวจครรภ์ที่คลินิก สามารถนำมาลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ได้หรือไม่
A7 : หากคลินิกดังกล่าวเป็นสถานพยาบาลแบบไม่มีเตียงตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ.2541 สามารถนำมาใช้สิทธิได้

Q8 : กรณีได้รับสิทธิสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลจากนายจ้างภาคเอกชนในการคลอดบุตร จำนวน 30,000 บาท แต่ได้จ่ายค่าคลอดบุตรไปจำนวน 100,000 บาท จะใช้สิทธิลดค่าฝากครรภ์และคลอดบุตร อย่างไร
A8 : ได้รับสิทธิ จำนวน 30,000 บาท เนื่องจากเมื่อนำไปรวมกับสิทธิสวัสดิการต้องไม่เกิน 60,000 บาท

ลดหย่อนภาษี!

บิดามารดา
Q1 : การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา/มารดามีหลักเกณฑ์อย่างไร
A1 : การหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา/มารดา มีหลักเกณฑ์ดังนี้
1. บิดา/มารดาต้องมีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป (การคำนวณอายุให้นำปีภาษี หักด้วย พ.ศ. เกิดของบิดา/มารดา)
2. บิดา/มารดา ต้องมีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร
3. อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้มีเงินได้
4. หากภริยาแยกยื่นแบบเสียภาษี ให้ต่างฝ่ายต่างหักบิดา/มารดาของตน
5. บิดา/มารดาต้องไม่มีเงินได้ในปีภาษีนั้นเกิน 30,000 บาท
6. ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
7. บุตรบุญธรรมไม่มีสิทธิหักลดหย่อน
8. บุตรหลายคนอุปการะบิดา/มารดา ให้บุตรเพียงคนเดียวที่มีหลักฐาน (ล.ย.03) เป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อน
9. หากผู้มีเงินได้มิได้เป็นผู้อยู่ในไทย ให้หักลดหย่อนได้เฉพาะบิดามารดาที่อยู่ในไทย

Q2 : ผู้มีเงินได้ที่เป็นชาวต่างชาติ สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนบิดามารดาได้หรือไม่
A2 : ผู้มีเงินได้ชาวต่างชาติจะมีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้นั้น บิดามารดาต้องเป็นผู้มีเลขประจำตัวประชาชนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร พร้อมหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (แบบ ล.ย.03)

Q3 : กรณีบิดาเสียชีวิตระหว่างปีภาษี สามารถหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาสำหรับปีภาษีนั้นได้หรือไม่
A3 : การที่บิดาหรือมารดาของผู้มีเงินได้เสียชีวิตในระหว่างปีภาษี หรือก่อนการยื่นแบบ ภ.ง.ด.90/91 เป็นเหตุให้ผู้มีเงินได้ที่ใช้สิทธิหักลดหย่อนไม่มีหลักฐานการรับรองการอุปการะเลี้ยงดูจากบิดามารดานั้น ให้ผู้มีเงินได้แนบแบบ ล.ย.03 และสำเนาใบมรณบัตรของบิดาหรือมารดาที่เสียชีวิตพร้อมกับการยื่นแบบฯ

Q4 : ต้องการแบบ ล.ย.03 สามารถ download ได้จากที่ใด
A4 : สามารถ download แบบพิมพ์หนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (แบบ ล.ย.03) ได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร www.rd.go.th ที่เมนู บุคคลธรรมดา > ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม > แบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2563 > เอกสารประกอบการยื่นแบบ ล.ย.03

Q5 : สามีมีเงินได้แต่ภริยาไม่มีเงินได้ สามีได้นำภริยามาหักค่าลดหย่อน 60,000 บาท ในฐานะคู่สมรส กรณีบุตรมีเงินได้ สามารถนำมารดามาหักค่าลดหย่อนในฐานะบุพการีได้หรือไม่
A5 : สามารถนำมารดามาหักค่าลดหย่อนในฐานะบุพการีได้ 30,000 บาท

Q6 : กรณีบิดามารดามีบุตรที่ดูแลเลี้ยงดูบิดามารดาหลายคน บุตรจะสามารถนำมาหักลดหย่อนสลับกันคนละปีได้หรือไม่
A6 : กรณีผู้มีเงินได้หลายคนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาคนเดียวกัน ให้ผู้มีเงินได้คนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียวที่มีหลักฐานรับรองการอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาเป็นผู้มีสิทธิหักลดหย่อนดังกล่าวในแต่ละปีภาษี โดยใช้แบบหนังสือรับรองการหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดา (แบบ ล.ย.03) เป็นหลักฐานประกอบการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
Q7 : กรณีบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันและแยกกันอยู่ (อายุได้ตามเงื่อนไข) จะต้องดำเนินการอย่างไรจึงจะสามารถหักลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้
A7 : ผู้มีเงินได้จะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดามารดา จึงจะใช้สิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ กรณีดังกล่าวเมื่อบิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน บิดาจึงเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เฉพาะมารดาเท่านั้นที่เป็นมารดาที่ชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น บิดามารดาต้องจดทะเบียนสมรสกันก่อนจึงจะถือว่าเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย

Q8 : การหักลดหย่อนสำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา มารดา บิดา มารดา ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันหรือไม่
A8 : บิดามารดาไม่ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเดียวกันกับผู้มีเงินได้

Q9 : นาย ก. ยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2563 โดยนำมารดาของภริยาที่ นาย ก. เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูมาตลอดตั้งแต่ภริยาเสียชีวิตในปี 2562 มาหักค่าลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูมารดาของภริยาได้หรือไม่
A9 : 1. กรณีภริยาไม่มีเงินได้ ในปี 2562 ที่เสียชีวิต ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูมารดาของภริยาได้
2. ในปีต่อไป เมื่อภริยาเสียชีวิตการสมรสย่อมสิ้นสุดลง ดังนั้นในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 ปีภาษี 2563 นาย ก.ไม่มีสิทธิหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูมารดาของภริยาที่เสียชีวิตไป

Q10 : บิดา มารดา มีอายุเกิน 60 ปี มีเงินได้จากดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารเพียงอย่างเดียวในแต่ละปีเกิน 30,000 บาท จากบัญชีเงินฝากประจำและบัญชีออมทรัพย์ที่ใช้ชื่อบัญชีร่วมกัน บุตรสามารถนำบิดา มารดา ที่มีเงินได้ดังกล่าวมาหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้หรือไม่
A10 : หากสามีภรรยาได้รับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารเป็นชื่อบัญชีร่วมกัน ให้แบ่งเงินได้เป็นของสามีและภรรยาฝ่ายละกึ่งหนึ่ง กรณีดังกล่าว หากบิดา มารดา ต่างฝ่ายต่างมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีไม่เกินคนละ 30,000 บาท บุตรสามารถหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดา มารดาได้

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight