Stock - Finance

ผู้สูงอายุ ต้องมีเงินออมหลังเกษียณ เท่าไร ถึงจะอยู่รอด สภาพัฒน์ มีคำตอบ

เงินออมหลังเกษียณ สภาพัฒน์ เปิดตัวเลข ต้องตุนไว้ 2.8 – 4 ล้านบาท ถึงจะพอใช้หลังอายุ 60 ปีขึ้นไป ชงรัฐเร่งส่งเสริมการออม หาทางเพิ่มรายได้วัยชรา

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยรายงานพิเศษเรื่อง “หลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุ : เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” ว่า ประเทศไทย จะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Completely Aged Society) ในปี 2566 และสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super Aged Society) ในปี 2576 แต่พบว่า เงินออมหลังเกษียณ ของผู้สูงอายุ ยังไม่เพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงในชีวิต

เงินออมหลังเกษียณ

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ ได้เสนอให้ภาครัฐ เร่งดำเนินการใน 2 ประเด็น ได้แก่

  • การส่งเสริมการออม เพื่อสร้างหลักประกันรายได้ ให้กับผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ สามารถดำเนินการได้ ด้วยการสร้างการรับรู้ และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงหลักประกัน ให้สะดวก และรวดเร็ว ทั้งการสมัคร และการขอรับสิทธิประโยชน์ รวมถึงการทบทวนฐานเงินเดือนสูงสุด ในการคำนวณเงินสมทบประกันสังคม และปรับอัตราการออม เพื่อให้แรงงาน สามารถออมได้มากขึ้น ขณะที่ภาคประชาชน สามารถเตรียมความพร้อม โดยการเก็บออม ได้อีกทางหนึ่งด้วย

  • การเพิ่มรายได้ โดยส่งเสริมการมีรายได้หลังเกษียณ และความรู้ทางการเงิน การประกอบอาชีพ ตามความสามารถของผู้สูงวัย และเพิ่มความรู้ ในการบริหารจัดการการเงิน (Financial literacy)

ก่อนหน้านี้ สภาพัฒน์ เคยมีการศึกษาไว้ว่า เงินออมที่พึงมี หลังจากอายุ 60 ปีไปแล้ว ในเขตเมือง ต้องมีเงินออม ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านบาท เพื่อให้มีชีวิตอยู่ได้ต่อไป หลังเกษียณ ส่วนในชนบท ต้องมีเงินออมประมาณ 2.8 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในระบบบำนาญของไทย กลับพบว่า คนที่มีรายได้เพียงพอ หลังเกษียณไปแล้ว อยู่ในระดับไม่ค่อยดีนัก และหากไม่ทำอะไรเลย ในอนาคตจะมีคน 14 ล้านคน ที่จะอยู่ได้ หรือมีรายได้จากเบี้ยผู้สูงอายุเท่านั้น จึงต้องทำให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบการออม

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo