Stock - Finance

วัดพลังหุ้นค้าปลีกน้ำมัน ‘OR vs PTG’ 

หุ้นค้าปลีกน้ำมัน OR vs PTG  2 หุ้นที่มีโมเดลธุรกิจใกล้เคียงกัน ต่างก็มีข้อได้เปรียบของตัวเอง ที่แตกต่างกัน ในอนาคตทั้งคู่ก็มีความเสี่ยงทางธุรกิจที่ต้องระวังเช่นกัน

เนื่องจากกระแสอันฮอตฮิตของหุ้น OR ของ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ในตอนนี้ ซึ่งประกอบธุรกิจหลักค้าปลีกน้ำมัน PTT Station รวมทั้งยังมีธุรกิจ Non-oil อื่นๆ อีกด้วย เช่น  Café Amazon, Texas Chicken, Hua Seng Hong Dimsum, Pearly Tea และร้านสะดวกซื้อ Jiffy เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เมื่อมองเข้าไปในตลาดหุ้นไทย เราจะพบว่ายังมีหุ้นอีกหนึ่งตัวที่มีโมเดลธุรกิจใกล้เคียงกัน กับ OR ทีเดียว นั่นก็คือ PTG หรือ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) นั่นเอง ดังนั้นวันนี้จึงอยากถือโอกาสยกหุ้น 2 ตัวนี้มาเปรียบเทียบแบบหมัดต่อหมัดให้ดูกันครับว่า มีจุดเด่น จุดด้อย แตกต่างกันยังไงบ้าง?

หุ้นค้าปลีกน้ำมัน บทพิสูจน์ธุรกิจ 

1. จำนวนสถานีบริการน้ำมัน

รายได้จากการขายน้ำมันผ่านสถานีบริการ คือ Core Business ของทั้งคู่ โดยหากนับแค่ในประเทศไทย OR มีสถานี PTT Station ราว 1,968 แห่ง ขณะที่ PTG มีสถานี PT Station ประมาณ 2,078 แห่ง ซึ่งหากวัดในแง่ปริมาณ PTG เหนือกว่าเล็กน้อย

 หุ้นค้าปลีกน้ำมัน

2. สัดส่วนการตลาดค้าปลีกน้ำมัน

แต่ถึงแม้ PTG จะมีสถานีบริการที่มากกว่า แต่เมื่อมองในแง่ของส่วนแบ่งการตลาดแล้ว ก็ยังถือว่า เป็นรอง OR อยู่เยอะทีเดียว เพราะข้อมูลล่าสุด (ไตรมาส 3/63) OR กินส่วนแบ่งอยู่ที่ 41.2% ส่วน PTG มีส่วนแบ่งที่ 16.60% เนื่องจากปั๊มน้ำมันของ PTG ส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก และไม่ได้ตั้งอยู่ถนนสายหลัก

3. รูปแบบการบริหารสถานี

ธุรกิจค้าปลีกน้ำมันจะแบ่งรูปแบบการบริหารเป็น 2 แบบ ได้แก่ COCO (Company Owned Company Operated) คือ ปั๊มที่บริษัทเป็นเจ้าของและลงทุนเอง และ DODO (Dealer Owned Dealer Operated) คือ ปั๊มที่บริษัทขายแฟรนไชส์ให้นักลงทุนมาดูแลบริหาร

แน่นอนว่าแต่ละรูปแบบย่อมมีข้อดีข้อเสีย โดยข้อดีของ COCO ก็คือให้อัตรากำไรสูงกว่า แต่ก็แลกมากับความเสี่ยง และต้องใช้เงินลงทุนที่สูง ส่วน DODO มีดีตรงที่ใช้เงินลงทุนน้อย ขยายสาขาได้ไว แต่ก็จะได้รับส่วนแบ่งกำไรที่น้อยลงเช่นกัน

ทั้งนี้ ทาง OR จะเน้นโมเดลการขยายสถานีรูปแบบ DODO มากกว่า ซึ่งมีสัดส่วนกว่า 80% ตรงกันข้ามกับ PTG ที่เน้นบริหารเองแบบ COCO อยู่ถึง 75% เพื่อต้องการรีดกำไรให้ได้แบบเน้นๆ

หุ้นค้าปลีกน้ำมัน

4. ธุรกิจ Non-Oil

คราวนี้มาดูธุรกิจเสริมอย่าง Non-oil กันบ้าง ซึ่งจะเห็นชัดว่า OR ถือว่าทิ้งห่างอยู่พอสมควรเลย เนื่องจากมีเชนร้านอาหารที่ติดตลาดมากมาย อาทิ Café Amazon ที่ถือเป็นแบรนด์กาแฟอันดับ 1 ของไทยไปแล้ว, Texas Chicken, Daddy Dough, Daddy Dough รวมถึงร้านสะดวกซื้อ Jiffy เป็นต้น

หันมามองที่ PTG กันบ้าง แม้ปัจจุบันจะยังดูเป็นรองอยู่หลายช่วงตัว แต่นี่ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ผู้บริหารของ PTG ออกมายืนยันอยู่หลายหนว่าจ้องการจะโฟกัสให้ดีขึ้น เพื่อก้าวขึ้นมาทดแทนรายได้หลักจากการขายน้ำมันให้ได้มากขึ้น สำหรับธุรกิจ Non-Oil ที่ PTG มีในมือตอนนี้ ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ Max Mart, กาแฟพันธุ์ไทย และศูนย์บริการซ่อมบำรุง Autobacs

ทั้งนี้ ปัจจุบัน OR มีสัดส่วนกำไรที่มาจากธุรกิจ Non-oil ประมาณ 25% ขณะที่ PTG ยังมีสัดส่วนกำไรที่มาจากธุรกิจ Non-oil ประมาณ 5% เท่านั้น

หุ้นค้าปลีกน้ำมัน

5. มูลค่าทางการเงิน

สุดท้ายนี้ขอยกเอาอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของทั้งคู่มาชนกันให้เห็นหน่อย เริ่มกันที่ Valuation ของหุ้น โดยปัจจุบัน PTG มี P/E Ratio ที่ระดับ 18.30 เท่า ถือว่าถูกกว่าเมื่อเทียบกับ OR ที่ประเมินกันว่าจะซื้อขายบน P/E Ratio ราว 24 – 27 เท่า แต่จุดนี้ก็พอจะเข้าใจได้ครับ เนื่องจากชื่อเสียงของ OR ในฐานะกลุ่มบริษัทปตท. ที่ใครๆ ก็รู้จัก ทำให้มูลค่าตรงนี้ก็ถูกคาดหวังมากขึ้นตามไปด้วย

สุดท้ายนี้ เรียกได้ว่าทั้ง OR และ PTG ต่างก็มีข้อได้เปรียบของตัวเองที่แตกต่างกัน และในอนาคตนั้นทั้งคู่ก็มีความเสี่ยงทางธุรกิจที่ต้องระวังเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการมาของยานยนต์ไฟฟ้าที่มีโอกาส Disrupt อุตสาหกรรมน้ำมัน รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ปริมาณการเดินทางของคนลดน้อยลงอย่างมีนัยยะ ซึ่งที่สุดแล้วคงต้องจับตาดูกันต่อไปครับว่า ในอนาคตใครจะสามารถชิงการเติบโต และปรับตัวได้ดีกว่ากัน

หมายเหตุ | บทความนี้ไม่ได้มีเจตนาชี้นำหรือแนะนำให้ซื้อ ถือหรือขายหุ้นแต่อย่างใด ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน