โอกาสของหุ้น “MAJOR” ความท้าทายของธุรกิจโรงหนัง มีลุ้นต่อครึ่งปีหลัง
สําหรับปี 2567 ยังคงเป็นอะไรที่ท้าทายของธุรกิจโรงภาพยนตร์ แม้จะกลับมาเปิดให้บริการได้แทบจะเป็นปกติแล้วหลังผ่านพ้นช่วงโควิด แต่ด้วยพฤติกรรมการรับชมภาพยนตร์ที่เปลี่ยนไป ผู้คนมีตัวเลือกหลายหลายมากยิ่งขึ้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจโรงหนังต้องปรับเกมกันพอสมควร
หนึ่งในนั้นก็คือ MAJOR หรือ บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำในธุรกิจโรงภาพยนตร์ของเมืองไทย รวมทั้งยังมีธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโบว์ลิ่ง คาราโอเกะ ลานสเก็ตน้ำแข็ง พื้นที่เช่าและศูนย์การค้า และธุรกิจบริการสื่อโฆษณา
MAJOR รายงานผลประกอบการงวดไตรมาส 2 ปี 2567 มีรายได้รวมเท่ากับ 2,033 ล้านบาท มีกําไรสุทธิเท่ากับ 232 ล้านบาท ลดลง 11% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 2,283 ล้านบาท ในขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 232 ล้านบาท ลดลง 56% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 532 ล้านบาท
จะเห็นว่า MAJOR ทำผลงานไตรมาส 2/2567 ได้แย่กว่าไตรมาส 2/2566 เนื่องจากปีก่อนมีหนังฮอลลีวูดฟอร์มยักษ์เข้าฉายหลายเรื่อง เช่น Fast and Furious X, Guardians of the Galaxy Vol3 และ Transformers Rise of the Beasts ส่วนปีนี้มีหนังไทยชูโรงเพียงเรื่องเดียวคือหลานม่า
หนังที่ทํารายได้สูงสุด 5 อันดับแรกของ MAJOR งวดไตรมาส 2/2567 เป็นหนังไทยถึง 3 เรื่อง และอีก 2 เรื่องเป็นหนังฮอลลีวูด ดังนี้
1. หลานม่า รายได้ 226 ล้านบาท
2. อนงค์ รายได้ 110 ล้านบาท
3. Godzilla x Kong The New Empire รายได้ 83 ล้านบาท
4. เทอม 3 รายได้ 67 ล้านบาท
5. Inside Out รายได้ 63 ล้านบาท
อีกทั้งไตรมาส 2/2567 บริษัทมีค่าใช้จ่ายพิเศษจากการประเมินด้อยค่าพื้นที่เช่าสาขาสุขุมวิท รวมถึงการปิดโรงภาพยนตร์ 4DX อีก 3 สาขา แต่ไตรมาส 3/2567 บริษัทมีกำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุน ในบริษัท เอ็ม พิศเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จ้ากัด (มหาชน) จำนวน 346 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี หากเทียบกับไตรมาส 1/2566 MAJOT สามารถสร้างกำไรเติบโตถึง 66% ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ เพราะการบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่อัตรากําไรขั้นต้นเฉลี่ยงวด 2/2567 ทําได้ 35.59% เพิ่มขึ้นจากงวด 1/67 ที่ทําได้ 31.15% เกิดจากอัตรากําไรธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่ดีขึ้นตามรายได้ และการต่อรองส่วนลดค่าเช่าพื้นที่ได้บางส่วน
กําไรพอไหว มีลุ้นต่อครึ่งปีหลัง
บทวิเคราะห์ บล. เอเซีย พลัส ให้ความเห็นต่อหุ้น MAJOR ว่ากำไรพอไหว มีลุ้นต่อครึ่งปีหลัง จากกองทัพหนังแฟรนไชส์และหนังไทยจํานวนมากที่เตรียมเข้าฉายในที่เหลือของปีนี้ น่าจะช่วยหนุนผลประกอบการให้กลับมาดูดี แต่จุดเปลี่ยนสําคัญจะเกิดขึ้นในปีหน้าจากการกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ของหนังฮอลลีวูด
จึงให้น้ำหนักการลงทุน OUTPERFORM หุ้น MAJOR ประเมินราคาเหมาะสมวิธี DCF ได้ที่ 21.50 บาท และมีเกราะป้องกันจากโครงการซื้อหุ้นคืนวงเงิน 1,000 ล้านบาท ในช่วงระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 – 16 มกราคม 2568
ขยายเป้าหมายขายป๊อปคอร์น 30 ล้านบาทต่อเดือน
หนึ่งในอัพไซด์ของ MAJOR ในครึ่งหลังของปีนี้ คือยอดขายป๊อปคอร์นที่มีโอกาสการเติบโตต่อเนื่อง บทวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุว่า บริษัทตั้งเป้าหมายเพิ่มยอดขายจาก 20 ล้านบาทต่อเดือน เป็น 30 ล้านบาทต่อเดือน และเพิ่มยอดขายผ่าน 7-Eleven จาก 5 แสนซองต่อเดือน ไปที่ 1 ล้านซองต่อเดือน
ทั้งนี้ การเติบโตของยอดขายป๊อปคอร์น หากทำได้จะกลายเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมรายได้ของบริษัทในช่วงที่ภาพยนตร์บางส่วนยังไม่กลับมาฉายเต็มที่ ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนยอดขายป๊อบคอร์นในโรงหนังยังทรงตัวอยู่ที่ 81% และที่เหลือเป็นส่วนอื่นๆ เช่น 7-Eleven และ Delivery
อ่านข่าวเพิ่มเติม
- ‘ADVANC’ หุ้นสื่อสารเบอร์หนึ่ง ที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ
- AIS ไตรมาส 2/2567 คว้ากำไรสุทธิ 8,577 ล้าน รายได้กว่า 5.1 หมื่นล้าน
- อนาคตหุ้น ‘โรงหนัง MAJOR’ หลังผ่านพ้นจุดต่ำสุด
ติดตามเราได้ที่
- เว็บไซต์: https://www.thebangkokinsight.com/
- Facebook: https://www.facebook.com/TheBangkokInsight
- X (Twitter): https://twitter.com/BangkokInsight
- Instagram: https://www.instagram.com/thebangkokinsight/
- Youtube: https://www.youtube.com/channel/UCYmFfMznVRzgh5ntwCz2Yxg