Stock - Finance

‘CKP’ โรงไฟฟ้าหลวงพระบาง สร้างอัพไซด์ระยะยาว

นักวิเคราะห์มอง CKP เชื่อว่าโครงการหลวงพระบาง จะเป็นตัวกระตุ้นราคาหุ้นทั้งในระยะสั้น และเป็นอัพไซด์ ที่ต่อเนื่องไปในระยะยาว

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ราคาหุ้น CKP หรือ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ค่อนข้าง Underperform ตลาด แม้ว่าผลประกอบการปี 2565 จะทำกำไรทุบสถิติสูงสุดของบริษัท เติบโตแตะ 2,436 ล้านบาท แต่เหตุผลที่ราคาหุ้นปรับตัวลง คาดมาจากการ take profit หลังข่าวดีลงนามบันทึกความเข้าใจการซื้อขายไฟฟ้าของโครงการหลวงพระบาง รวมถึงผ่านช่วงพีคของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

อย่างไรก็ดี นักลงทุนที่สนใจพื้นฐานธุรกิจของ CKP มองว่าช่วงนี้เป็นจังหวะสะสมหุ้นได้ เพราะมีโอกาสที่ราคาจะกลับมา Outperform ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปี เนื่องจากจะเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ขณะเดียวกันจะได้แรงกระตุ้นระยะสั้น จากการลงนามสัญญาสุดท้ายของโครงการหลวงพระบาง คาดว่าจะเสร็จในเดือนนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาด้านสินเชื่อ

บล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า จากการเข้าประชุมนักวิเคราะห์กับ CKP ครั้งล่าสุด ทำให้เชื่อว่าโครงการหลวงพระบาง จะเป็นตัวกระตุ้นราคาหุ้นทั้งในระยะสั้น และเป็นอัพไซด์ที่ต่อเนื่องไปในระยะยาว โดย CKP จะต้องใช้เงินจำนวน 17,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนโครงการนี้ แต่จะทยอยจ่ายไปตลอดระยะเวลาการก่อสร้าง 7 ปี และน่าจะได้รับเงินทุนจากการออกหุ้นกู้เป็นจำนวน 2,500 ล้านบาทต่อปี

คาดว่าส่วนแบ่งกำไรจากโครงการหลวงพระบาง จะเริ่มเข้ามาในปี 2673 มูลค่ารวมประมาณ 1,400 ล้านบาท ทำให้มีอัพไซด์ต่อราคาหุ้นเพิ่มขึ้นที่ 2.84 บาทต่อหุ้น แต่บทวิเคราะห์ยังไม่ได้รวมโครงการนี้ไว้ในประมาณการรายได้และราคาเป้าหมาย ปัจจุบันมองว่าราคาหุ้น CKP ค่อนข้างถูก จึงคงคำแนะนำ “ซื้อ” ด้วยราคาเป้าหมาย 6.50 บาท

โครงการหลวงพระบาง

รายละเอียดของโครงการโรงไฟฟ้าหลวงพระบาง ตั้งอยู่บนแม่น้ําโขง ในพื้นที่แขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบน้ำไหลผ่านตลอดปี (Run-of-River) ที่ไม่มีที่กักเก็บน้ำ แต่ใช้การไหลของน้ำตามธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้า กําลังการผลิตติดตั้งรวม 1,460 เมกะวัตต์ อายุสัมปทาน 35 ปี และมีกําหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ในวันที่ 1 มกราคม 2573 โดย กฟผ.จะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าทั้งหมด 100% ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยราว 2.4030 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง
CKP ถือหุ้นในโครงการโรงไฟฟ้าหลวงพระบางที่สัดส่วน 50% คิดเป็นกำลังการผลิตตามสัดส่วนราว 730 เมกะวัตต์ เพราะฉะนั้น หากโครงการแล้วเสร็จ ถือว่าเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นของกำลังการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ

ด้านนักวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส คาดผลการดําเนินงานงวดไตรมาส 1/2566 จะยังทรงตัวในระดับใกล้เคียงกับในงวดไตรมาส 4/2565 หรืออาจจะต่ำกว่าเล็กน้อย เนื่องจากปัจจัยฤดูกาล และภายใต้การประกาศความ
พร้อมจ่ายของโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ในไตรมาสแรกที่ลดลงมาอยู่ราว 320 จาก 367 กิกะวัตต์ชั่วโมง เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ที่ปริมาณน้ำเริ่มปรับตัวลดลง โดยเดือนมกราคม 2566 ปริมาณน้ำไหลผ่านเพียง 2,100 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

โครงการหลวงพระบาง

ปิดท้ายกันที่ความเห็นของ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ทิศทางกำไรไตรมาส 1/2566 เป็นไตรมาสที่กำไรต่ำสุดในรอบปีของ CKP ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนทราบกันอยู่แล้ว เพราะเป็น low season ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำ อย่างไรก็ตาม คิดว่าปัจจัยลบจะถูกชดเชยไปได้บางส่วนจากการที่ SG&A กลับมาอยู่ระดับปกติ และมีการขึ้นค่า Ft ของ BIC อีก 0.61 บาท/kWh

ดังนั้น แนะนำ “ซื้อ” CKP ด้วยราคาเป้าหมาย 5.60 บาท เนื่องจากราคาหุ้นที่ปรับลดลงมาเป็นเพราะภาวะตลาดหุ้นโดยรวมอ่อนแอ ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐาน CKP ไม่เปลี่ยน จึงยังมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะเข้าลงทุน ซึ่งมี reward-risk น่าสนใจในอีก 6-9 เดือนข้างหน้า ตามปกติแล้วราคาหุ้น CKP จะต่ำสุดในช่วงไตรมาสแรก ก่อนที่จะวิ่งกลับขึ้นไปโดยคาดว่าจะให้ผลตอบแทนมากว่า 25%  เป็นระดับที่น่าสนใจมากพอที่จะรับความเสี่ยง

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo
แชร์วิธีคิด แบ่งปันความรู้ การเงิน การลงทุน