Sme

‘ไทยพาณิชย์’ แนะทางรอดเอสเอ็มอี ‘ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม’ ปรับรับ 3 เทรนด์แรงระดับโลก

โควิด จุดเปลี่ยนเศรษฐกิจ สังคม ผู้คน ธนาคารไทยพาณิชย์ แนะทางรอดเอสเอ็มอีธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม ปรับกลยุทธ์ รับเทรนด์ “Healthy – Safety – Save the Earth”

ธนาคารไทยพาณิชย์ จัดงานสัมมนา “SME OF THE FUTURE อนาคต SMEs ไทยไปต่ออย่างไรดี รวมผู้เชี่ยวชาญในแวดวงธุรกิจ ชี้ทางรอดเอสเอ็มอีปรับกลยุทธ์ และคว้าโอกาสทางทองธุรกิจเพื่อตอบรับเทรนด์อาหารและเครื่องดื่มที่กำลังมาแรง

ทางรอดเอสเอ็มอี

ทั้งนี้ โควิด-19 คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกในหลากหลายมิติ รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อการดำเนิน ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สำหรับเทรนด์ในธุรกิจที่ต้องจับตามองและกำลังมาแรงคือ การหันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ ดูแลสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบต่อสังคม

เทรนด์การบริโภคเปลี่ยน ภาคธุรกิจต้องปรับ

นางสาวโชติกา ชุ่มมี ผู้จัดการกลุ่มธุรกิจสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการผลิต SCB EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่เพียงทำให้เกิดความเสี่ยงและมีส่วนกดดันภาคธุรกิจทั้งในแง่ของกระบวนการผลิตและความต้องการสินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็น ตัวเร่ง ให้พฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลกเปลี่ยนไปอีกด้วย

เห็นได้จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่พบว่า หันมาให้ความสำคัญกับอาหารและเครื่องดื่มที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ กระบวนการผลิตต้องรับผิดชอบต่อสังคมและใส่ใจสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ในการสั่งซื้อสินค้ามากขึ้น

โชติกา ชุ่มมี 2
โชติกา ชุ่มมี

ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นต้องผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์ดังกล่าวข้างต้น พร้อม ๆ ไปกับการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ซึ่งมีความต้องการที่หลากหลาย และเฉพาะเจาะจงแตกต่างจากสินค้าทั่วไปในตลาด (Mass Market)

นอกจากนี้ ยังมีโอกาสจากการเจาะตลาดสินค้าอาหารและเครื่องดื่มระดับบน (Premium Market) ซึ่งเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตดี เนื่องจากตอบโจทย์ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูงและได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย

ทางรอดเอสเอ็มอี ตามให้ทันเทคโนโลยี-กฎระเบียบการค้าโลก

นางสาวโชติกา ให้ความเห็นว่า นอกจากการปรับแผนธุรกิจและกลยุทธ์การเติบโต เพื่อตอบโจทย์เทรนด์ในตลาดโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปแล้วนั้น ผู้ประกอบการยังจำเป็นต้องเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน ด้วยการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ทันสมัยเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิต และลดความเสี่ยงจากปัญหาขาดแคลนแรงงานในอนาคตท่ามกลางการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูณ์

ขณะเดียวกัน ยังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศและข้อกีดกันทางการค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers: NTBs) เช่น การทำประมงผิดกฎหมาย  การค้ามนุษย์ มาตรฐานการส่งออกผัก-ผลไม้ ทั้งในส่วนของ GAP (การผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม) และ GMP (หลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหาร)

คุณมิตรดนัย สถาวรมณี 2

อาหารรักษ์โลก ด้วยกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (ESG) หรือการดำเนินธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ โดยธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม มักถูกกล่าวหามาตลอดว่าเป็นตัวการหลักทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ทำลายสิ่งแวดล้อมและทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

ดังนั้นกระบวนการผลิตสินค้าจะต้องมีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ (Food Journey) เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารชิ้นนั้นผลิตมาจากฟาร์มไหน ผลิตเมื่อไร เกษตรกรผู้เพาะปลูกเป็นใคร และขนส่งมาอย่างไร เป็นต้น

เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องปรับตัว เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ยิ่งไปกว่านั้นยังจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมที่อาจจะถูก Disrupt จากสินค้านวัตกรรมใหม่ ๆ ในตลาด เช่น เนื้อสัตว์เทียม (Lab-grown meat) หรือสินค้าที่เป็นโปรตีนจากพืช (Plant-based) ที่ปัจจุบันเริ่มเข้ามาตีตลาดมากขึ้นแล้ว

โชติกา ชุ่มมี 1

Healthy Food ทางเลือกใหม่เจาะกลุ่มกำลังซื้อสูง

กลุ่ม Gen Z จัดเป็นกลุ่มที่มีรายได้และกำลังซื้อสูง อีกทั้งให้ความสนใจกับสินค้าสุขภาพ ปรุงแต่งน้อย แบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และยังต้องการสินค้าที่แตกต่างจากสินค้าทั่วไป อยากทดลองสินค้าใหม่ๆ เช่น โปรตีนจากพืช

ทั้งนี้เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มนี้ มีแนวโน้มกินเนื้อสัตว์น้อยลง ขณะเดียวกันสินค้าและบรรจุภัณฑ์ต้องสวยงามน่าสนใจเพราะคนกลุ่มนี้มักจะถ่ายรูปสินค้าลงในโซเซียลมีเดีย

ส่วนกลุ่มผู้สูงอายุ ถือเป็นอีกกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และใส่ใจสุขภาพ ขณะเดียวกันยังมีความจงรักภักดีต่อแบรนด์สูง (Brand Loyalty)

สินค้าสำหรับผู้สูงอายุจะต้องมีขนาดบรรจุเล็กกว่าคนปกติ เพราะเริ่มบริโภคน้อยลง เนื้อสัมผัสอาหารต้องอ่อนนุ่มเคี้ยวกลืนง่าย เพิ่มสารอาหาร วัตถุดิบและส่วนผสมที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมกับสุขภาพผู้สูงอายุ ขณะเดียวกันบรรจุภัณฑ์ก็ต้องเปิดได้สะดวกอีกด้วย

คุณมิตรดนัย สถาวรมณี 1
มิตรดนัย สถาวรมณี

พัฒนาสินค้าให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย

นายมิตรดนัย สถาวรมณี Co-Founder แบรนด์ Plantae เล่าถึงที่มาของแบรนด์ Plantae โปรตีนจากพืชทดแทนเนื้อสัตว์ ว่า เกิดจากความต้องการจะดำเนินธุรกิจอาหารที่เป็นเทรนด์อนาคต จากการคาดการณ์กันว่าในอีก 50 ปีโลกจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหาร จากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ภาคการเกษตรในปัจจุบันปลูกพืชเพื่อใช้เป็นทั้งอาหารมนุษย์ และอาหารสัตว์ ดังนั้นหากมนุษย์สามารถลดการกินเนื้อสัตว์ลง แล้วมาทดแทนด้วยการกินโปรตีนจากพืชโดยตรง ก็จะลดการนำพืชไปผลิตอาหารสัตว์ ลดการขาดแคลนอาหารจากพืชของมนุษย์ในระยะยาว

ในมุมมองผมการเลือกสินค้าที่ใช่เป็นสิ่งที่มาก่อน ธุรกิจอาจไม่จำเป็นต้องใหญ่มาก ลองถอยมาทำอะไรที่มันง่าย จับกลุ่มเป้าหมายให้ชัด พอสินค้าเริ่มขายได้ ค่อยเริ่มมาคิดต่อยอดว่าจะนำเทคโนโลยีอะไรทำใช้ให้เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ธุรกิจใหญ่ขึ้นตามมา

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo