Sme

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ต่อยอด sandbox ขยายผล ปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอี 1 แสนราย

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เดินหน้าทำ sandbox เต็มสูบ หนุนข้อมูลช่วยแบงก์ปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอีแสนราย หลังชิมลางปล่อยกู้แล้วเฟสแรกกว่า 5,000 ล้านบาท

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ประชุมกับสมาชิกสมาคม และภาคีเครือข่ายกว่า 70 บริษัท ซึ่งมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่อยู่ในห่วงโซ่การค้ามากกว่า 100,000 ราย นับเป็น 40% ของมูลค่าการบริโภคค้าปลีกทั้งประเทศ หรือคิดเป็น 12% ของ GDP

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย

ทั้งนี้ ได้ร่วมกับ 5 ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ในเฟสแรก คือ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB), ธนาคารกรุงเทพ (BBL), ธนาคารกรุงไทย (KTB) และธนาคารออมสิน เพื่อเชื่อมโยงให้ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี ให้สามารถเข้าถึง แหล่งเงินทุน (Soft Loan) ผ่าน Digital Factoring Platform

สำหรับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย จะเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย เพื่อช่วยให้การพิจารณาสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี และเกษตรกร ได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว โดยเฉพาะในสภาวะวิกฤติโควิด-19 ที่ เอสเอ็มอี ทั่วประเทศ ขาดสภาพคล่องเป็นอย่างมาก และต้องการความช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วน

สำหรับโครงการ Sandbox เฟสแรก เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง เซ็นทรัล รีเทล (CRC) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK) โดยการนำข้อมูลการทำธุรกิจ ระหว่างบริษัทฯ และซัพพลายเออร์ หรือคู่ค้าเบื้องต้นกว่า 4,000 ราย ของเซ็นทรัล รีเทล เพื่อใช้ประกอบในการพิจารณาสินเชื่อ ของธนาคารกสิกรไทย ผ่านแพลตฟอร์มฯ และได้อนุมัติสินเชื่อกลุ่มแรกให้กับ เอสเอ็มอี มากกว่า 1,000 ราย ในวงเงินรวม 5,000 ล้านบาท ซึ่งกว่า 70% ของ เอสเอ็มอี เหล่านี้ ยังไม่เคยเข้าถึงแหล่งเงินทุน Soft Loan มาก่อน

แพลตฟอร์มดังกล่าว จะทำให้ธนาคารฯ สามารถพิจารณาปล่อยสินเชื่อได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น บนต้นทุนและความเสี่ยงที่ต่ำ และ เอสเอ็มอี สามารถชำระหนี้แบบอัตโนมัติผ่านช่องทางดิจิทัล เพราะฉะนั้น ธนาคารจึงสามารถเสนอสินเชื่อวงเงินที่สูง และอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ

TRA INFO

ความสำเร็จของโครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งจะนำต้นแบบนี้ขยายไปสู่ เอสเอ็มอี มากกว่า 100,000 ราย ทั่วประเทศ ของสมาชิกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และภาคีเครือข่ายภายในสิ้นปี 2564

จากนั้น ในเฟสต่อไปจะขยายผลไปถึงสมาชิกของทุกสมาคมฯ ตั้งแต่สมาคมศูนย์การค้าไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้รับการร่วมมืออย่างเต็มที่ จากธนาคารพาณิชย์ ของรัฐและเอกชน เพื่อช่วยให้ เอสเอ็มอี ไทยสามารถพลิกฟื้น เสริมสภาพคล่อง และได้แต้มต่อในการดำเนินธุรกิจ

“การผนึกกำลังสำคัญ ของทุกภาคส่วนในครั้งนี้ เราทุกคนมีความตั้งใจ และทำอย่างจริงใจ เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ได้จริง และรวดเร็ว บนจุดมุ่งหมายเดียวกัน เอสเอ็มอี ไทยต้องรอดโดยการช่วยเหลือ เอสเอ็มอี ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน ได้ง่ายและทั่วถึง และสามารถก้าวพ้นวิกฤติโควิดในครั้งนี้ ไปได้ด้วยกันโดยเร็วที่สุด” นายญนน์ กล่าว

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย มีอยู่กว่า 3.1 ล้านราย ถือเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจ โดยมีการจ้างงานทั่วประเทศอยู่กว่า 12 ล้านคน

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีก (Retail Sentiment Index) เดือนเมษายน พบว่า ปรับลดลงกว่า 43% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม โดยดัชนีปรับลดลง ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 อย่างชัดเจน ใกล้เคียงกับดัชนีความเชื่อมั่นเดือนเมษายน 2563 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ลดลง หลังจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกสามในเดือนเมษายน กระจายเป็นวงกว้างกว่าที่ผ่านมา ประกอบกับกำลังซื้อที่ฟื้นตัวช้า เป็นปัจจัยที่เพิ่มความกังวลให้แก่ผู้ประกอบการ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo