Sme

‘คนละครึ่ง’ เอสเอ็มอี ได้ด้วย รัฐช่วยลดค่าบริการทำธุรกิจ คลอดโครงการกลางปีนี้

คนละครึ่ง เอสเอ็มอี เตรียมเฮ รัฐเตรียมเปิดโครงการ ช่วยลดภาระค่าบริการทางธุรกิจ เพิ่มความสามารถทางการแข่งขัน คาดเริ่มกลางปีนี้

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเตรียมมาตรการช่วยเหลือ ผู้ประกอบการรายย่อยเพิ่มเติม ในลักษณะร่วมกันจ่ายกับ SME (Co-payment) หรือ เอสเอ็มอี คนละครึ่ง โดยมีสัดส่วนตั้งแต่ 50-80% สำหรับค่าใช้จ่าย

คนละครึ่ง เอสเอ็มอี

สำหรับค่าใช้จ่าย ที่คาดว่าจะได้รับการสนับสนุน ในโครงการดังกล่าว เช่น ค่าใช้จ่ายในการขอทดสอบผลิตภัณฑ์ จดทะเบียน หรือขอใบรับรองมาตรฐานต่าง ๆ และการปรึกษาทางธุรกิจ เช่น มาตรฐานการบัญชี มาตรฐานสินค้าเกษตร (มกอช.) มาตรฐานอาหาร (อย.)

ที่ผ่านมา การขอรับบริการทางธุรกิจต่าง ๆ มีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญ ของการประกอบการ และกลายเป็นอุปสรรคสำคัญ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ ของเอสเอ็มอีไทยด้วย

ทั้งนี้ คาดว่าจะเริ่มเปิดตัวโครงการ “SMEs’ Co-payment” ในกลางปีนี้ ซึ่งนอกจากจะลดภาระค่าใช้จ่ายแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ เอสเอ็มอีไทย ที่มีอยู่กว่า 3.1 ล้านราย สามารถตัดสินใจเลือกพัฒนาคุณภาพ และขอรับมาตรฐานสินค้าและบริการ ที่ตรงความต้องการ ของแต่ละอุตสาหกรรม แต่ละราย สร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางการตลาด ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการ ที่เป็นมาตรฐานสากลด้วย

ขณะเดียวกัน ยังมองว่า เอสเอ็มอี ถือเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจ ปัจจุบันมีการจ้างงานทั่วประเทศ อยู่กว่า 12 ล้านคน และยังเป็นแหล่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง

โครงการดังกล่าว สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ริเริ่มแนวทาง เพื่อสร้างทางเลือกให้กับ เอสเอ็มอี ในการพัฒนาธุรกิจของตนเอง ให้ได้ตรงตามความต้องการได้มากขึ้น

shutterstock 1096772123
Young man feeling happy in SME business owner at home office workplace.

ขณะที่ สสว. จะให้การเงินสนับสนุนแบบร่วมจ่าย (co-payment) โดยมีค่าใช้จ่าย ที่สามารถขอรับการสนับสนุน ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการอบรมพัฒนาความรู้ด้านธุรกิจ, ค่าใช้จ่ายในการทดสอบ และรับรองมาตรฐาน, ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์, การพัฒนาผลิตภัณฑ์, การทดลองผลิตระดับอุตสาหกรรมและการออกแบบ

นอกจากนี้ ยังสนับสนุน ค่าใช้จ่ายในการขยายโอกาสทางการตลาด, ค่าใช้จ่ายในการรับถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา รวมทั้งค่าตอบแทน เช่น ค่าที่ปรึกษา ค่าผู้เชี่ยวชาญ ค่าวินิจฉัย เป็นต้น โดยคุณสมบัติของเอสเอ็มอี ต้องเป็นธุรกิจที่มีการยื่นชำระภาษี และขึ้นทะเบียนสมาชิกกับ สสว.

ล่าสุด รัฐบาล ได้มีการปรับกฎเกณฑ์ ด้วยการออกกฎกระทรวง กำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 เพื่อเอื้อให้เอสเอ็มอี สามารถเข้าถึงตลาดการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่ง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 ธ.ค. 2563

กฎหมายดังกล่าว กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐ จัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการ ของเอสเอ็มอี ที่ขึ้นบัญชีไว้กับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในวงเงินไม่น้อยกว่า 30% ของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อดังกล่าว

พร้อมกันนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ได้มีการหารือ เพื่อปรับปรุงโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Softloan) ให้มีความยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้เข้าถึงซอฟท์โลนได้ง่าย และมีวงเงินกู้สูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีการวางแนวทาง asset warehousing เพื่อช่วยเหลือไม่ให้ทรัพย์สินธุรกิจ ที่ยังมีศักยภาพ ต้องถูกยึด หรือปิดตัวลง ซึ่งจะนำสู่การพิจารณา ของคณะรัฐมนตรีในเร็ววันนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า asset warehousing หรือ โกดังเก็บหนี้ มีเป้าหมายเพื่อเปิดทางเลือก ให้กับเจ้าของโรงแรม เอสเอ็มอี และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ไม่ต้องขายทิ้งกิจการ เพื่อ Freeze ส่วนสูญเสีย และมีโอกาสซื้อกิจการคืนในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีการเปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ สู่ระดับปกติอีกครั้ง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo