Sme

‘ปัญหา-ประสบการณ์’ กุญแจธุรกิจสตาร์ทอัพไทยสู่ยูนิคอร์น

ปัจจุบัน ประเทศไทยทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างเร่งร่วมมือผลักดันสตาร์ทอัพให้สามารถสร้างทั้งมูลค่าและสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นในตลาดโลก ด้วยการสร้างสรรค์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ การพัฒนาโมเดลธุรกิจให้มีความแตกต่างสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ รวมถึงการจับคู่ธุรกิจและดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพไทย

บรรยากาศเสวนา 2

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงแค่ในประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนามต่างก็ให้ความสำคัญกับธุรกิจสตาร์ทอัพไม่แพ้กัน โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียที่ทุกวันนี้มีนักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจลงทุนธุรกิจเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง จนสามารถพัฒนาสตาร์ทอัพให้ก้าวสู่ระดับยูนิคอร์น (สตาร์ทอัพที่มีมูลค่ากว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) และก้าวสู่ตลาดอินเตอร์ติดตลาดได้หลากหลายราย

ล่าสุด กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DIPT) โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(NEA) ได้ร่วมกับ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ดำเนินการจัดโครงการ “Pitch2Success : สานฝันสตาร์ทอัพไทยสู่สากล” โดยมุ่งติดอาวุธสำคัญอย่าง “การพิชชิ่ง : Pitching” ให้กับเหล่าสตาร์ทอัพ เพื่อสร้างทักษะที่ดีในการนำเสนอแผนธุรกิจ และสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการจัดตั้งและขยายธุรกิจได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต ทั้งยังได้มีการได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ “เคล็ดลับการทำสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จ” โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากวงการสตาร์ทอัพมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์

เริ่มจาก นายรังสรรค์ พรมประสิทธิ์ ผู้สร้างสรรค์และก่อตั้งแอปพลิเคชั่นคิวคิว แอพเพื่อคนไม่ชอบรอคิว ที่มีแรงบันดาลใจมาจากความคิดที่ว่า “ปัญหาคือที่มาของสิ่งใหม่” ทำให้แอปพลิเคชั่นคิวคิว ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาให้กับร้านอาหารและลูกค้าทั่วไป ที่ไม่อยากเสียเวลารอคิวให้หมดไปอยู่หน้าร้าน

เทคนิคง่ายๆ ที่ฝากไว้ให้รุ่นน้องสตาร์ทอัพนำไปใช้ก็คือ ต้องรู้จักวิเคราะห์ปัญหาจากสิ่งใกล้ตัว ตีโจทย์ให้แตกว่าจะแก้ไขปัญหานั้นได้อย่างไร และที่สำคัญคือ คิดแล้วต้องลงมือทำ หาช่องทางในการนำนวัตกรรมมาช่วยพัฒนาระบบ มองตลาดที่รองรับให้กว้าง และไม่หยุดยั้งในการพัฒนาสินค้าและบริการ

ภาพประกอบบทความ 2

“หาสิ่งที่ชอบ หาตัวเองให้เจอเร็วที่สุด โฟกัสในเรื่องนั้น และลุยให้มันสุดๆ ไปเลย”นายรังสรรค์กล่าว

ขณะที่ นายนพพล อนุกูลวิทยา ผู้ก่อตั้ง เทคมีทัวร์ : TAKE ME TOUR ธุรกิจท่องเที่ยวแนวคิด Local Experience หรือประสบการณ์ร่วมกับชุมชน กล่าวว่า ธุรกิจสตาร์ทอัพต้องสร้างคุณค่าและประสบการณ์ใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้า โดยเทคมีทัวร์ ถือกำเนิดจากการเป็นคนชอบเที่ยวและไม่อยากเป็นลูกน้อง จึงริเริ่มก่อตั้ง เว็บไซต์ ที่เป็นตลาดกลางให้นักท่องเที่ยวมาพบปะไกด์ท้องถิ่น

ทั้งนี้ บริษัทได้สร้างแพลตฟอร์มในการสร้างทริป ตั้งราคาและพาเที่ยวได้ด้วยตนเอง หรือที่เรียกว่า Local Expert ถ้าคุณรู้จักย่านที่คุณอยู่เป็นอย่างดี และ มีไอเดียพาเที่ยวก็สามารถเข้ามาสร้างทริปได้ฟรี เพราะเราเชื่อว่า “ใครๆก็พาเที่ยวได้” ส่วนในด้านนักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะเข้ามาเลือกทริปและจองออนไลน์ผ่านหน้าเว็บไซต์ได้เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม เทค มี ทัวร์ มีโมเดลธุรกิจเดินตามแนวคิดแบบ Sharing Economy หรือเศรษฐกิจแบ่งปัน ซึ่งเป็นคอนเซปต์ใหม่ของโลกที่พยายามสร้างให้เห็นว่า Local Experience มันมากกว่าแค่การไปในที่ชุมชน หรือชนบทไกลๆ หรือการเที่ยวเมืองไทยอาจไม่ใช่เรื่องของวัดพระแก้ว หรือวัดอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องทั่วๆ ไปในชีวิตรอบๆ ตัวเราทั้งหมดเลย ด้วยคอนเซปต์นี้ทำให้เกิดความหลากหลายในกิจกรรมการท่องเที่ยวค่อนข้างมากขึ้น เปรียบเสมือนการสร้างคุณค่าและประสบการณ์ใหม่ๆให้กับลูกค้า

ภาพประกอบบทความ 1

“จิตใจต้องพร้อม ต้องสู้ระดับหนึ่ง แต่ต้องชอบในสิ่งที่คุณทำเมื่อเห็นปัญหา และนำมาเพื่อแก้ไข”นายนพดลกล่าว

นายปริวรรต วงษ์สำราญ ผู้อำนวยการศูนย์สตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า การเริ่มต้นทำสตาร์ทอัพ สิ่งสำคัญจะต้องเข้าใจกลุ่มลูกค้า เข้าใจกระบวนการในการพัฒนาเรื่องของสินค้า และผู้ประกอบการต้องไม่ย่อท้อ เพราะการทำสตาร์ทอัพส่วนใหญ่แล้วเป็นสิ่งใหม่ในตลาด จึงต้องรู้จักเตรียมความพร้อม ไม่ว่าจะเป็นข้อมูล เงินทุน เครือข่ายธุรกิจ แผนการทำตลาด ฯลฯ

“ที่สำคัญคือ ล้มเมื่อไหร่ก็ต้องลุกเสมอ เพราะว่าจะไม่มีใครเป็นไอดอลหรือเป็นตัวอย่างที่ดีให้เราได้ เราต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ต้องทดสอบสมมติฐานเรื่อยๆอยู่เสมอ และประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ ปัญหาทุกอย่างมีทางออก ไม่มีเงินก็มีหน่วยสนับสนุน ไม่มีตลาดเราก็ต้องหาวิธีทำ Business Model ใหม่ขึ้นมา เพราะฉะนั้นปัญหาพวกนี้สามารถทำได้ แก้ไขได้ เพียงแค่อย่าเพิ่งยอมแพ้อะไรง่ายๆ”นายปริวรรต กล่าว

Avatar photo