Sme

เอสเอ็มอีมามุง! ไทยพาณิชย์ ชี้ทางรอด เปิดเคล็ดลับ ‘จับคู่ธุรกิจ’ สร้างโอกาสโตฝ่าวิกฤติ

จับคู่ธุรกิจ ทางรอดเอสเอ็มอี ฝ่าวิกฤติโควิด ไทยพาณิชย์ เปิดเคล็ดลับ จับคู่ธุรกิจให้ลงล็อค แนะเอสเอ็มอีทำ Business Matching สร้างโอกาสโต พร้อมวางแผนจัดกิจกรรม จับคู่ธุรกิจตลอทั้งปี

ในยุคที่ธุรกิจแข่งขันดุเดือด และยังถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 การต่อสู้เพียงลำพัง เพื่อพาธุรกิจให้อยู่รอด และไปต่อให้ได้ ดูจะเป็นเรื่องยากลำบาก หนึ่งในทางรอดฝ่าวิกฤติโควิด คือการ จับคู่ธุรกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้ธุรกิจได้พบเจอเครือข่ายใหม่ๆ เพราะหากได้สานต่อกับคู่เจรจาที่ลงตัว ธุรกิจอาจจะไม่ใช่เพียงแค่รอด แต่จะไปได้ไกล และขยายตัวได้กว้างเกินคาด

จับคู่ธุรกิจ

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ทุกวันนี้มีหน่วยงานมากมาย ที่พร้อมเป็นตัวกลาง ในการเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการเงิน

องค์กรเหล่านี้ มีเครือข่ายธุรกิจที่หลากหลาย และมีศักยภาพที่จะนำพาธุรกิจเอสเอ็มอี ให้ไปถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจโดยตรง จึงเป็นเหมือนทางลัดให้ธุรกิจ ไม่ต้องเสียเวลาในการตามหาเนื้อคู่ และสามารถจูงมือกันก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว

ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นองค์กรหนึ่งที่ช่วยเป็นตัวกลางในการทำ Business Matching โดยมีการจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ให้กับลูกค้าเอสเอ็มอี อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ทั้งการจับคู่ระหว่างธุรกิจในประเทศด้วยกัน และการจับคู่กับธุรกิจในต่างประเทศ ได้เห็นทั้งเคสที่ประสบความสำเร็จ และที่ล้มเหลว ในการเจรจามานับไม่ถ้วน

ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้แบ่งปันประสบการณ์ แนะ 6 เคล็ดลับลงสนาม จับคู่ธุรกิจ ดังนี้

  • ประเมินศักยภาพของธุรกิจของตัวท่านเอง

นับเป็นสิ่งแรกที่ต้องทำ เมื่อเริ่มคิดที่จะออกไปเสาะหาโอกาส จากการจับคู่ธุรกิจ เราต้องรู้ว่าธุรกิจเรามีจุดแข็ง และแตกต่างจากคู่แข่งในตลาดอย่างไร รวมถึงกำลังการผลิต และการให้บริการ สามารถรองรับได้มากน้อยเพียงใด เพราะช่วยทำให้รู้ว่า จะสามารถนำสิ่งที่มีช่วยเติมเต็ม และต่อยอดให้กับคู่เจรจาอย่างไรได้บ้าง และยังช่วยให้เลือกเจรจาได้ถูกคู่

 

  • ศึกษาข้อมูลของคู่เจรจารวมถึงคู่ค้าเดิม

“รู้เขา รู้เรา รู้คู่แข่ง” โอกาสชนะยิ่งมีมาก พยายามศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม นอกเหนือจากเอกสารที่ตัวกลางในการเจรจาเตรียมให้เท่านั้น เช่น รายงานบริษัท เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ตลอดจนข่าวที่เกี่ยวข้อง เพราะจะทำให้เข้าใจ และมองเห็นคู่เจรจาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ยังมีช่องว่างตรงไหนที่จะเป็นโอกาสของเรา เขาชอบคู่ค้าแบบไหน คู่ค้าเดิมช่วยเติมเต็มสิ่งใดไปแล้วบ้าง สิ่งนั้นมีจุดอ่อนที่ธุรกิจของเราจะช่วยพัฒนาต่อได้อย่างไร

เอสเอ็มอี

  • เตรียมพรีเซนเตชั่นสำคัญที่บ่งบอกความสามารถขององค์กรให้พร้อม

เพราะการเจรจาธุรกิจในแต่ละรอบ จะมีเวลาสำหรับการนำเสนอข้อมูลที่จำกัด เอกสารเพิ่มเติม หรือประวัติของบริษัทโดยย่อ จะช่วยให้คู่เจรจาเห็นความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และศักยภาพภาพของเราได้แจ่มชัด

นอกจากนี้ แนะนำให้เพิ่มเอกสารเช่น เกียรติบัตร ใบรับรอง รางวัลที่เคยได้รับ ผลงานที่ผ่านมาได้ร่วมงานกับที่ใดมาแล้วบ้าง สร้างผลลัพธ์ให้กับคู่ค้าอย่างไร ข้อมูลแต่ละประเภทควรจัดทำให้กระชับ อ่านและเข้าใจได้ง่าย ภายใน 1 หน้ากระดาษ

  • ฝึกฝนจนชำนาญ

หลายครั้งที่ได้เห็นคู่เจรจาธุรกิจ ตกม้าตายเพียงเพราะขาดทักษะในการนำเสนอ ทั้งที่องค์กรที่จุดแข็งมากเพียงพอ ทักษะการนำเสนอ และบุคลิกของผู้นำเสนอ เป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้ แนะนำให้ลิสต์หัวข้อที่จะนำเสนออย่างเป็นลำดับ กระชับข้อมูล นำเสนอเฉพาะไฮไลท์ ที่สะท้อนถึงความสามารถเรา และความแตกต่างของธุรกิจ

ขณะเดียวกัร การต้องสร้างความประทับใจให้ได้ภายใต้เวลาที่มี บุคลิกของผู้เจรจาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เนื่องจากเป็นตัวแทนขององค์กร สะท้อนภาพลักษณ์ขององค์กรได้อีกทางหนึ่ง จึงควรฝึกบุคลิกภาพ และซ้อมพูด โดยการเปล่งเสียงออกมา และจับเวลาเหมือนอยู่ในสถานการณ์จริง การฝึกฝนจนชำนาญ จะช่วยลดความประหม่า และช่วยให้เราจัดการข้อมูลกับเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

11 1

 

  • คาดการณ์คำถาม และเตรียมแนวคำตอบไว้ล่วงหน้า

ควรเปลี่ยนความวิตกกังวล จากการถูกตั้งคำถาม มาเป็นความดีใจ เพราะนั่นแสดงว่า คู่เจรจาสนใจธุรกิจของคุณ อาจกำลังคิดหาแนวทางที่ไปต่อด้วยกัน หลักสำคัญในขั้นตอนนี้ คือ ระงับความตื่นเต้น มีสติในการฟังคำถาม และตอบคำถามให้ตรงประเด็น สั้น และกระชับ ทำตามมาถึงขั้นนี้เราเชื่อว่าข้อมูลสำคัญต่างๆ มีพร้อมอยู่ในมือของคุณหมดแล้ว

  • ติดตามความคืบหน้าหลังจบงาน

สิ่งที่ทำมาจะสูญเปล่า หากละเลยขั้นตอนนี้ไป การเจรจาธุรกิจทุกครั้ง อย่าลืมแลกเปลี่ยนนามบัตร หรือแลกเปลี่ยนช่องทางการติดต่ออื่นๆ เด็ดขาด เพื่อประโยชน์ในการติดตามผลเจรจา หรือนัดหมายเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเพิ่มเติม อีกทั้งเป็นโอกาสในการสานต่อความสัมพันธ์ที่ดีอีกด้วย

สำหรับ ธนาคารไทยพาณิชย์ มีแผนจัดกิจกรรม Business Matching ตลอดทั้งปี โดยในเดือนกรกฎาคม 2564 ธนาคารไทยพาณิชย์ และบริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) จะร่วมกันจัดกิจกรรม Online Business Matching จับคู่ธุรกิจระหว่างลูกค้าเอสเอ็มอี ในกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยทั้งระบบ กับผู้มีอำนาจตัดสินใจในการจัดซื้อของบริษัทแสนสิริโดยตรง ซึ่งเป็น fast lane ของการจับคู่ธุรกิจที่ไม่ได้เกิดขึ้นทั่วไป

นอกจากนี้ ยังมีโครงการจับคู่ระหว่างลูกค้าเอสเอ็มอี กับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เอสเอ็มอีเสนอโครงการขอรับทุนสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อภาคธุรกิจ ทุนละ 250,000 บาท และ 10,000 บาทแบบให้เปล่า เป็นต้น

ลูกค้าเอสเอ็มอีที่สนใจ สามารถติดตามกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ ของธนาคารไทยพาณิชย์ได้ผ่านทาง Facebook SCB SME: https://www.facebook.com/groups/scbsme หรือลูกค้าเอสเอ็มอีที่ประสงค์เจรจาจับคู่ธุรกิจกับองค์กรพันธมิตรอื่นๆ ของธนาคารไทยพาณิชย์ สามารถแจ้งความประสงค์ได้ที่ผู้จัดการธุรกิจสัมพันธ์ที่ดูแลท่านอยู่ได้โดยตรง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo