Startup

อุตสาหกรรมดึงธุรกิจ ร่วมลงทุนสตาร์ทอัพ ตั้งเป้ากว่า 500 ล้าน ปีนี้

กระทรวงอุตสาหกรรม เดินหน้าปั้นสตาร์ทอัพ ดึงเอกชน ภาคธุรกิจ ร่วมลงทุนภายใต้โครงการสตาร์ทอัพ คอนเน็คท์ ตั้งเป้าเงินลงทุนกว่า 500 ล้านปีนี้

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้สั่งการให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ดำเนินโครงการเชื่อมโยงตลาด สําหรับวิสาหกิจเริ่มต้น หรือ STARTUP CONNECT ขึ้น เพื่อสร้างโอกาส ในการเข้าถึงตลาด และรับการสนับสนุนจากนักลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีเชิงลึก

สุริยะ 1

ทั้งนี้ ในปีผ่านมา ได้เริ่มโครงการในระยะนำร่อง โดยเลือกผู้ประกอบการสตาร์ทอัพจำนวน 6 ราย นำเสนอโมเดลธุรกิจต่อนักลงทุน และบริษัทร่วมลงทุน โดยบริษัท อีซีจี-รีเซิร์ช จำกัด หนึ่งในนักลงทุนมีความสนใจและร่วมลงทุนกับสตาร์ทอัพกลุ่มนี้ รวมมูลค่ากว่า 350 ล้านบาท ซึ่งคาดว่ามูลค่าการร่วมลงทุนของนักลงทุนในปีนี้จะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 500 ล้านบาท

การดำเนินงานสนับสนุนสตาร์ทอัพ จะผ่านการดำเนินงาน 4 ขั้นตอนหลัก ประกอบด้วย

  • ขยายเครือข่ายสตาร์ทอัพ เพื่อเฟ้นหาผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ ต่อยอดพัฒนาทักษะให้มีความพร้อมในการนำเสนอโมเดลธุรกิจกิจกับนักลงทุน
  • ขยายเครือข่ายเงินทุน โดยการสร้างเครือข่ายบริษัทเอกชนที่สนใจลงทุนกับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพที่ได้รับการส่งเสริมจาก กสอ. เพื่อสร้างความมั่นใจในการร่วมดำเนินธุรกิจ
  • ขยายเครือข่ายตลาด ผ่านกระบวนการทดลองการทำการตลาดในประเทศ โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถบรรลุความต้องการของผู้บริโภค ทั้งยังช่วยให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างมั่นคง
  • ขยายเครือข่ายนานาชาติ เป็นขั้นตอนสุดท้าย เมื่อผู้ประกอบการมีความพร้อมเพียงพอ ในการต่อยอดไปยังตลาดนานาชาติ ที่มีมูลค่าตลาดที่สูงขึ้น เพื่อรองรับความต้องการจากต่างประเทศ ทั้งยังเป็นการการันตีให้กับนักลงทุน ถึงคุณภาพของผู้ประกอบการ ที่ได้รับการส่งเสริมจาก กสอ.

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า การขยายผลการดำเนินงาน โครงการ STARTUP CONNECT ในปี 2564 มีผู้ประกอบการผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้นจำนวน 25 ราย จากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 500 ราย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับการอบรมเชิงปฏิบัติการอย่างเข้มข้น อาทิ การศึกษาความต้องการของลูกค้า เพื่อการพัฒนา และออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ (Customer Development) การประเมินศักยภาพตลาดกลยุทธ์ และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าและการขยายตลาด (Market Strategy)

นอกจากนี้ ยังประเมินศักยภาพเทคโนโลยี ให้สอดคล้องกับแผนการตลาด และการเติบโตของธุรกิจ (Technology Roadmap) รวมทั้งการวิเคราะห์โมเดลธุรกิจ เพื่อการนำเสนออย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมเพียงพอ ที่จะสามารถเข้าร่วมกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) กับหน่วยงานเครือข่ายและ Big Brother ของกระทรวงอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดี นอกจากโอกาสการเติบโตทางธุรกิจ ของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักแล้วของการดำเนินการในปีนี้แล้ว เชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถสร้างมูลค่า การร่วมลงทุนของนักลงทุนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 500 ล้านบาท ช่วยลดการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และก่อให้เกิดการพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเชิงลึกที่มีศักยภาพต่อไป

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo