Startup

‘ดีป้า’ ผนึกทุกภาคส่วน ลุยแก้ปัญหา-ขับเคลื่อน ‘เมืองอัจฉริยะ’

เมืองอัจฉริยะ หรือ “สมาร์ท ซิตี้” (Smart City) เป็นสิ่งที่หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกกำลังเดินหน้าพัฒนา ซึ่งเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะก็เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น

สำหรับประเทศไทย เมืองอัจฉริยะ กำลังเป็นโครงการระยะยาว ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (depa) มุ่งพัฒนาให้เกิดขึ้นจริง แต่การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการร่วมกันทำงานของหลายภาคส่วน เพื่อร่วมกันหาโซลูชั่น ในการขับเคลื่อนโครงการเมืองอัจฉริยะ ที่จะตอบโจทย์และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้อย่างแท้จริง

ภาพ1 Depa

หนึ่งในภาคส่วนที่ ดีป้า ให้ความสำคัญ คือ การสนับสนุน ภาคประชาชนผ่านตัวแทนจังหวัด และภาคเอกชนอย่างสตาร์ทอัพ ผ่านโครงการ “depa Accelerator 2019” เริ่มจากการเปิดรับสมัครสตาร์ทอัพ เข้าร่วมโครงการ เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสร้าง เมืองอัจฉริยะ และได้คัดเลือกจนเหลือ 20 ทีมสุดท้าย

ล่าสุด โครงการได้จัดเสวนา Smart City Development กับตัวแทนจังหวัดจากเมืองอัจฉริยะ 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ขอนแก่น เชียงใหม่ และภูเก็ต ที่มาเล่าถึงปัญหาและความต้องการในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันให้แก่สตาร์ทอัพ ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อที่จะเป็นหนึ่งในข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการพัฒนาโซลูชั่น เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริง

เริ่มต้นที่ จังหวัดชลบุรี ที่มีโมเดลการพัฒนาหลายโครงการ รวมถึงงบประมาณที่พร้อมลงมือทำในด้านโลจิสติกส์ ได้แก่ “เรือ – รถ – ราง” ให้ถูกนำมาพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดแต่สิ่งที่ทางจังหวัดยังขาดคือ บุคลากรหรือสตาร์ทอัพในการคิดแก้ปัญหา รวมถึงมาพัฒนาสิ่งเหล่านี้ได้จริง

ภาพ5 Depa

ส่วนที่ จังหวัดเชียงใหม่ จากการที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้คนเชียงใหม่ต้องการความปลอดภัยที่ครอบคลุมมากพอที่จะรองรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามารวมถึงประชาชนที่อยู่ในจังหวัด อีกหนึ่งปัญหาคือด้านการจราจร เนื่องจากเมืองเชียงใหม่บริเวณคูเมืองซึ่งเป็นพื้นที่เก่า ถนนค่อนข้างแคบทำให้เกิดรถติดจากปริมาณคนที่เข้ามามากขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัญหาการจอดรถบริเวณถนนเส้นหลักในคูเมืองที่ทำให้รถติด, ปัญหาสิ่งแวดล้อม ฝุ่น PM 2.5, ชุมชนหลักในเมืองที่เป็นผู้สูงอายุและเด็กต้องการการดูแลสุขภาพ

ด้านจังหวัดขอนแก่นที่ตอนนี้มีการพัฒนาขนส่ง มี สมาร์ท บัส ซึ่งทำได้แล้วและอยู่ระหว่างการพัฒนาปรับปรุงให้ตอบโจทย์มากยิ่งขึ้น ด้านสุขภาพทางโรงพยาบาลขอนแก่นอยากเก็บข้อมูลสุขภาพบุคคลเพื่อนำข้อมูลมาสร้างสุขภาวะที่ดีให้คนขอนแก่น ซึ่งโซลูชั่นด้านนี้ก็เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ขอนแก่นเช่นกัน

นอกจากนี้จากการที่สถานที่รองรับการท่องเที่ยวและการจัดประชุม เป็นส่วนที่ยังไม่พัฒนามากนัก ทางจังหวัดจึงกำลังผลักดันเรื่องนี้เช่นกัน ซึ่งทางจังหวัดยังต้องการสตาร์ทอัพที่มีโซลูชั่นเข้ามาร่วมกันช่วยกันทำงาน

ภาพ2 Depa

ปิดท้ายที่จังหวัดภูเก็ต ที่กำลังมุ่งเน้นการยกระดับการขนส่งสาธารณะของจังหวัด ซึ่งปัจจุบันมีไม่มากนัก ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่สูง ประเด็นด้านความปลอดภัยที่ต้องการโซลูชั่นมาช่วยตำรวจหรือหน่วยงานด้านความปลอดภัยที่ครอบคลุมถึงการขนส่งทางน้ำด้วย

อีกด้านที่กำลังมุ่งเน้นคือด้านพลังงาน จากสภาพภูมิประเทศที่เป็นเกาะและมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก ทำให้พลังงานมีไม่เพียงพอ และสุดท้ายคือด้านการท่องเที่ยวที่ปัจจุบันยังไม่มีโซลูชั่นเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว

ขณะเดียวกัน ทางโครงการยังได้นำภาคเอกชน คือ siri ventures มาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยในส่วนของ ดิจิทัล โซลูชั่น ที่เข้ามาตอบโจทย์ สมาร์ท ลิฟวิ่ง ของคนกรุงเทพ ซึ่ง siri ventures มีแกนหลักที่อยากพัฒนา การลงทุนในด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของคน เช่น ด้านของการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ ด้านการดูแลสุขภาพของผู้อยู่อาศัย ซึ่ง siri ventures มองว่าเป็นโอกาสสำคัญในการได้โซลูชั่นใหม่ๆ จากสตาร์ทอัพของโครงการ

ภาพ4 Depa

หลังจากรับฟังเสียงตัวแทนจาก 4 จังหวัดและประสบการณ์จากภาคเอกชนสตาร์ทอัพ ทั้ง 20 ทีม ที่เข้าร่วมโครงการ depa Accelerator 2019 จะนำโจทย์สำคัญจากข้อมูลที่ได้มาต่อยอดว่าโซลูชั่นที่แต่ละทีมมีอยู่นั้นว่าจะตรงกับปัญหาของจังหวัดไหนหรือสามารถนำมาใช้ในการพัฒนางานของตนได้หรือไม่

สุดท้ายแล้วสตาร์ทอัพ ทีมใดจะถูกเลือกและตอบโจทย์ปัญหาในจังหวัดใดคงต้องมารอลุ้นกันต่อในรอบ Demo Day ที่จะจัดขึ้นใน วันที่ 13 มีนาคม 2020 นี้

Avatar photo