Startup

‘ชู ชู ดีไซน์’ สตาร์ทอัพสีเขียว เปลี่ยนขยะให้เป็นขุมทรัพย์

แม้จะอยู่ห่างจากนครย่างกุ้งเพียงแค่แม่น้ำกั้น แต่ “ดาลา” กลับเป็นโลกที่แตกต่างจากเมืองศูนย์กลางพาณิชย์ของพม่าอย่างสิ้นเชิง เพราะเมืองนี้มีฐานะยากจน ไร้การพัฒนา ถนนหนทางย่ำแย่ ขาดแคลนไฟฟ้า และน้ำ

เปลี่ยนขยะให้เป็นขุมทรัพย์
ชู ชู ดีไซน์ เปลี่ยนขยะให้เป็นขุมทรัพย์

สิ่งเดียวที่ดาลา และนครย่างกุ้งมีเหมือนกัน ก็คือ “ขยะ”

ในแต่ละวัน ย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงของเมียนมา มีปริมาณขยะมากถึง 2,800 ตัน ส่วนใหญ่อยู่ตามถนนหนทาง และทางน้ำต่างๆ เนื่องจากความสามารถในการบริหารจัดการขยะ ไล่ตามการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมืองไม่ทัน

เมืองดาลา ก็มีขยะทิ้งอยู่เกลื่อนกลาดเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกองขยะที่อยู่ริมถนน ลอยอยู่ในแม่น้ำ หรือทิ้งเกลื่อนกลาดอยู่บนพื้น

วิกฤตการณ์ขยะในเมือง ทำให้เกิด “ชู ชู ดีไซน์” สตาร์ทอัพหัวใจสีเขียว ที่เปลี่ยนขยะให้เป็นงานฝีมือ ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับการสร้างงานใหม่

เปลี่ยนขยะให้เป็นขุมทรัพย์
เวนดี้ นีมปุย

เวนดี้ นีมปุย ผู้จัดการชู ชู ดีไซน์ กล่าวว่า ชู ชู ดีไซน์ มีหน้าที่นำขยะจำนวนมาก ที่ถูกทิ้งไว้ตามกองขยะ กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง

ผู้จัดการวัย 66 ปีรายนี้ พัก และทำงานอยู่ที่บริษัท สถานที่ที่เธอใช้เป็นที่สอนหญิงสาวท้องถิ่นราว 30 คน ให้มีความรู้ด้านการนำขยะมารีไซเคิลให้เป็นงานฝีมือ

สำนักงานของชู ชู ดีไซน์ เป็นอาคาร 2 ชั้นตั้งอยู่ในย่านทรุดโทรม ตัวกำแพงทาสีสันสดใส มีร้านกาแฟเล็กๆ และสินค้าวางอยู่เต็มห้องทำงาน เป็นสถานที่ที่ขยะราว 20 กิโลกรัมถูกแปลงโฉมให้กลายเป็นของที่มีประโยชน์ในทุกๆ เดือน

ผู้ที่มาเยือนสถานที่แห่งนี้ จะได้พบกับสินค้าเกือบทุกปรเะเภท ไล่ตั้งแต่ ถุงใส่เสื่อโยคะ ไปจนถึงตะกร้าผ้าซัก ปลอกสวมขวดไวน์ และกระเป๋าเงิน ซึ่งสิ่งของทั้งหมดนี้ทำขึ้นมาจากวัสดุรีไซเคิล เพื่อนำออกขาย

ตั้งชื่อบริษัทตามถุงพลาสติก

เวนดี้ เล่าว่า ชื่อชู ชู ของบริษัทมาจากภาษาเมียนมา ที่แปลว่า ถุงพลาสติก

“เมื่อคุณจับถุงพลาสติก จะได้ยินเสียง ชู ชู และนี่เองเป็นที่มาของชื่อบริษัทเรา”

แต่เดิมนั้น ชู ชู ดีไซน์ เป็นโครงการกำหนด 3 ปี ของเซส์วี องค์กรไม่หวังผลกำไรของอิตาลี ที่มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และขจัดความยากจน ผ่านการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วโลก

เปลี่ยนขยะให้เป็นขุมทรัพย์

หลังจากที่โครงการสิ้นสุดลงในปี 2559 แนวคิดดังกล่าวก็ยังดำเนินต่อมา และสร้างรายได้ให้กับช่างฝีมือทั้งหลาย

สินค้าที่ผลิตออกมาจาก จะถูกนำไปวางจำหน่ายในร้านค้าที่เป็นกิจการเพื่อสังคม ในย่านการค้าของนครย่างกุ้ง ซึ่งจะทำให้สามารถกำหนดราคาขายที่สะท้อนถึงการทำงานอย่างหนักเพื่อผลิตสินค้าแต่ละชิ้นได้เป็นอย่างดี

ชาวบ้านที่ทำงานให้กับชู ชู ดีไซน์ จะได้รับค่าแรงชั่วโมงละ 1,000 จ๊าด หรือประมาณ 23 บาท ในการเปลี่ยนขยะให้เป็นสินค้า ซึ่งทำด้วยมือทั้งหมด ตั้งแต่การเลือกขยะส่วนที่นำมาใช้ได้ ไปทำความสะอาด และผลิตสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมออกมาอย่างมีศิลปะ

เซน เซน หนึ่งในนักออกแบบของชู ชู ดีไซน์ บอกว่า สินค้าของพวกเขาทำจากวัสดุรีไซเคิล ซึ่งพวกเขาจะต้องมาประชุมระดมความคิดกัน เพื่อดูว่าจะนำวัสดุรีไซเคิลเหล่านี้มาทำเป็นอะไรได้บ้าง

“การใช้สีที่ต่างกัน เพื่อสร้างการผสมผสานที่กลมกลืนกัน ทำให้เราสามารถผลิตบางสิ่งบางอย่าง ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวสำหรับลูกค้าของเรา”

นักออกแบบวัย 22 ปีรายนี้ มีความสนใจในงานฝีมือต่างๆ มาตั้งแต่ก่อนที่จะเข้าร่วมงานกับชู ชู ดีไซน์เมื่อปี 2556 เธอบอกด้วยว่า เธอมีความภูมิใจที่ได้ทำงานนี้

“ฉันรู้สึกเต็มเปี่ยมทุกครั้งที่สร้างบางอย่างขึ้นมา งานของฉันไม่ได้แค่ทำรายได้ให้เท่านั้น แต่ยังทำให้ฉันได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันภูมิใจ”

เปลี่ยนขยะให้เป็นขุมทรัพย์

“ขยะของคนหนึ่งคือขุมทรัพย์ของอีกคนหนึ่ง” ข้อความนี้ถือเป็นคำจำกัดความให้กับชู ชู ดีไซน์ ซึ่งนอกจากความภาคภูมิใจ และรายได้ที่มั่นคงแล้ว สตาร์ทอัพสีเขียวรายนี้ ยังช่วยทำให้ช่างฝีมือของบริษัทเกิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับขยะ

เซน เซน ยอมรับว่า เธอเคยไม่สนใจอะไรเมื่อต้องทิ้งขยะสักชิ้น เธอไม่เคยคิดเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนกระทั่งมาร่วมงานกับบริษัท

เปลี่ยนขยะให้เป็นขุมทรัพย์
เซน เซน

ปัจจุบัน ดีไซน์เนอร์รายนี้ ไม่เพียงแต่รีไซเคิลขยะด้วยตัวเองเท่านั้น แต่ยังกระตุ้นให้ชาวบ้านคนอื่นๆ ตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะโยนอะไรทิ้งไป

“บางคนต้องการรีไซเคิลขยะด้วยตัวเอง ฉันจึงสอนวิธีทำให้กับพวกเขา ทำให้มีการตระหนักมากขึ้นว่า ขยะสามารถเปลี่ยนเป็นสิ่งใหม่ได้ ซึ่งฉันหวังว่า สิ่งที่พวกเราทำจะเป็นแรงบันดาลใจให้พวกเขารีไซเคิลขยะมากขึ้น”

ความใส่ใจที่เพิ่มขึ้น ทำให้ย่านที่อยู่อาศัยขนาดเล็กที่เซน เซนทำงานอยู่ ดูสะอาดขึ้นวันละเล็กละน้อย ตามท้องถนนแทบจะไม่เห็นขยะประเภทซองกาแฟสำเร็จรูป ยางรถยนต์เก่า และถุงพลาสติก เพราะชาวบ้านรู้ดีว่าขยะเหล่านี้มีค่า และมักจะนำมาขายให้กับชู ชู ดีไซน์ ที่ขณะนี้ไม่ได้เป็นสถานที่สำหรับรีไซเคิลขยะแล้ว แต่ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในดาลาด้วย

กระนั้นก็ตาม ผู้ที่มาเยือนชู ชู ดีไซน์ส่วนใหญ่จะเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งเวนดี้ บอกว่า คนเมียนมามีมุมมองเกี่ยวกับวัสดุรีไซเคิลแตกต่างออกไป และไม่เข้าใจว่า ทำไมพวกเขาจะต้องจ่ายเงินให้กับของที่ทำมาจากขยะ

“มีแต่คนต่างชาติเท่านั้น ที่สนใจในงานฝีมือรีไซเคิลเหล่านี้ คนท้องถิ่นไม่เลย พวกเขาไม่เห็นค่าของสินค้าเหล่านี้ เพราะว่ามันทำมาจากขยะ พวกเขาซื้อแต่ของที่ติดป้ายว่า ผลิตในไทย และผลิตในจีน”

เป็นเรื่องของความคิดที่เปลี่ยนแปลงได้ยาก และเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับพวกเรา

เปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงกำลังเกิดขึ้นอย่างช้า ในอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำย่างกุ้ง โดยผลิตภัณฑ์ของชู ชู ดีไซน์ ที่วางจำหน่ายอยู่ที่ร้านค้าปลีกแห่งหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญกับเรื่่องราวทางสังคม ได้เจอกับแฟนๆ จำนวนหนึ่งแล้ว

เปลี่ยนขยะให้เป็นขุมทรัพย์

แนนซี่ ลัตซ์ นักท่องเที่ยวจากสหรัฐ ที่ถือถังขยะจากวัสดุรีไซเคิล ทาสีสันสดใสอยู่ในมือบอกว่า เธอไม่คิดว่าจะได้เห็นขยะกลายมาเป็นสินค้าแบบนี้

“มันทำให้ฉันอยากมองซ้ำอีกที พิจารณาอย่างละเอียด และอาจจะซื้อไป มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับเรา สำหรับโลกของเรา ที่จะทำแบบนี้ และฉันรับได้ที่จะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกเล็กน้อย เป็นการซื้อที่สมเหตุสมผล”

ที่มา: channelnewsasia

Avatar photo