Startup

‘HackaTravel’ กระตุ้นคนรุ่นใหม่ประชันไอเดียธุรกิจนวัตกรรมท่องเที่ยว

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จับมือ เทคมีทัวร์ (TakeMeTour) ในฐานะ Travel Tech ที่พัฒนาแพลตฟอร์มเว็บไซต์ ในการบริการจองทริปส่วนตัวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และขยายไปในประเทศต่างๆ ในอาเซียน จัดงาน “Create a New Era of Tourism in Thailand” สนับสนุนให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว (Travel Tech)

ดำเนินการผ่านกิจกรรมการแข่งขันพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลในรูปแบบ Hackathon ภายใต้ชื่อโครงการ HackaTravel เพื่อกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่คิดธุรกิจนวัตกรรมใหม่ๆ ด้านการท่องเที่ยว และเข้ามาประชันไอเดียเจ๋งๆ ที่สามารถนำไปตั้งต้นพัฒนาเป็นนวัตกรรม ธุรกิจ หรือผลิตภัณฑ์ได้ ชิงรางวัลสูงสุดกว่า 300,000 บาท

DSC 0956
ยุทธศักดิ์ สุภสร

ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า หัวใจสำคัญของการท่องเที่ยว คือ ทำอย่างไรที่จะอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในด้านต่างๆให้มากที่สุด “นวัตกรรมการท่องเที่ยว” จึงเป็นกลไกที่สำคัญที่จะมาช่วยตอบโจทย์ได้ ช่วยส่งเสริมทั้งการท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับประเทศ และสนับสนุนกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

“จากการจัดอันดับของ WorldAtlast.com ประเทศไทย มีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 4 และมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเป็นอันดับ 10 ของโลก จึงเชื่อว่าศักยภาพการท่องเที่ยวของไทย จะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเติบโตไปอย่างต่อเนื่อง”

สำหรับโครงการ HackaTravel เป็นเพราะททท.เชื่อมั่นในคนรุ่นใหม่ แต่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมเขาให้พร้อม ซึ่งรายการแข่งขัน HackaTravel จะเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศน์ ของการพัฒนาวิสาหกิจดิจิทัล ให้เติบโตแบบก้าวกระโดด และร่วมกันหาคำตอบให้กับโจทย์ใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่อาจจะไม่สามารถหาได้โดยวิธีการแบบเดิมๆ หรือไม่ทันการณ์กับการเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัล และ HackaTravel จะช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน รวมทั้งการได้รับคำปรึกษาจากหน่วยงาน และผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ตรง ที่เข้าใจเส้นทางการประสบความสำเร็จของวิสาหกิจเริ่มต้น

ด้าน ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม NIA กล่าวว่า เรามีศูนย์ “Startup Thailand ”  ในการสนับสนุนพัฒนาระบบนิเวศสตาร์ทอัพ (Startup Ecosystem) และส่งเสริมขีดความสามารถของสตาร์ทอัพ ด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

โดยที่ผ่านมาได้ทำงานร่วมกับ ททท. อย่างใกล้ชิดในการช่วยผลักดัน และพัฒนาสตาร์ทอัพด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เข้มแข็ง และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้  ปัจจุบันทาง NIA มีโครงการต่างๆในการสนับสนุนสตาร์ทอัพด้านอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น  โครงการ IDE to IPO รุ่นที่ 3 ที่มีเป้าหมาย เพื่อสร้างองค์ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรม การพัฒนาธุรกิจการจัดการนวัตกรรมด้านการโรงแรม และการท่องเที่ยว การให้ทุนสนับสนุนด้านนวัตกรรมการท่องเที่ยว

“กิจกรรม HackaTravel ครั้งนี้ ก็จะเป็นการสร้าง Startup ด้าน Travel Tech ใหม่ๆให้แก่ประเทศไทย เพื่อเป็นนักรบทางเศรษฐกิจรุ่นใหม่ มีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป ”

นายจีระวัฒน์ กุลทรัพย์อุดม Head of Ecosystem บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด (SIRI VENTURES) หนึ่งในผู้สนับสนุนหลักโครงการ HackaTravel กล่าวว่า เห็นถึงแนวโน้มธุรกิจการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเดินหน้ารุกธุรกิจโรงแรม และแอพพลิเคชั่น ด้านการท่องเที่ยวอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่ โรงแรมเอสเคป หัวหิน และเขาใหญ่ เครือโรงแรมเดอะสแตนดาร์ด (Standard Hotels) แบรนด์โรงแรมระดับโลกที่เตรียมเปิดสาขาใหม่รวมเป็น 20 สาขาทั่วโลก และ One Night แอปพลิเคชั่น สำหรับการจองโรงแรมในวันเดียวกับการเข้าพัก ดังนั้นจึงสนับสนุนกิจกรรมเปิดเวทีให้กับคนรุ่นใหม่ ได้แสดงความสามารถในการคิดค้นนวัตกรรมที่นำมาใช้ได้จริง เพื่อยกระดับธุรกิจการท่องเที่ยวไทยในยุคดิจิทัล รวมทั้งนำโซลูชั่นด้าน Smart Data มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจของแสนสิริในอนาคต

Noppon Anukunwithaya TakeMeTour DSC08168
นพพล อนุกูลวิทยา

ขณะที่นายนพพล อนุกูลวิทยา ผู้ร่วมก่อตั้งเทคมีทัวร์ ในฐานะแกนหลักในโครงการ HackaTravel ระบุว่า ปัจจุบันทิศทางของอุตสาหกรรมต่างๆ ของโลก ได้ถูกเปลี่ยนแปลงตั้งแต่โฉมหน้า รูปแบบ ผู้เล่น ไปจนถึงโครงสร้างของอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลจากการเข้ามาของเทคโนโลยีต่างๆ การเข้ามาของดิจิทัล ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง ทำเกิดธุรกิจใหม่ๆ ขณะที่ธุรกิจบางอย่างล้มหายไป และอีกจำนวนมากต้องเร่งปรับตัว อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ก็เช่นเดียวกันที่กำลังพบกับความท้าทายครั้งใหญ่

“โครงการ HackaTravel มีเป้าหมายใหญ่ในการให้ความรู้กับผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลง ที่กำลังจะเกิดขึ้น และปรับตัวให้ทัน รวมทั้งสนับสนุนคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียนวัตกรรมการท่องเที่ยวใหม่ๆ เข้ามาร่วมกันพัฒนาไอเดียเพื่อให้เกิดเป็นนวัตกรรม หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้จริง รวมทั้งทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเป็นธุรกิจต่อไป “

โครงการ HackaTravel มีจำนวนผู้สมัครเข้าร่วมแข่งขันทั้งหมด 268 คน ประกอบด้วยนิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาด้านซอฟต์แวร์ ดีเวลลอปเปอร์ (software developer) และบุคคลทั่วไปที่ทำงานเป็นนักพัฒนาเป็นส่วนใหญ่

หลังจากปิดรับสมัคร ได้มีการคัดเลือกรอบแรก โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 90 คน คัดเลือกจากความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีเป็นซอฟท์แวร์ ดีเวลลอปเปอร์  เป็นนักการตลาดออนไลน์ ที่มีความสามารถทางธุรกิจหรือผู้ที่เชี่ยวชาญเรื่องการท่องเที่ยวโดยเฉพาะ สำหรับเป้าหมายของโครงการ เพื่อสนับสนุนให้เกิดไอเดียนวัตกรรมการท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่สามารถ “ทำได้จริง”

281409

IMG 20190426 125811

สำหรับการแข่งขัน HackaTravel จะใช้ระยะเวลาทั้งหมด 2 วันเต็ม คือในวันที่ 27-28 เมษายน 2562 ณ ศูนย์กลางนวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU Innovation Hub) การแข่งขัน แบ่งทีม ทีมละ 3-6 คน โดยภายในกิจกรรม Hackathon จะมีช่วงพิเศษ ให้ผู้ที่สมัครเข้ามาแบบทีมแล้ว สามารถเปลี่ยนใจแยกทีมได้

การแข่งขันได้กำหนดโจทย์ไว้ 4 เรื่อง ประกอบด้วย

  • Emerging Destination Tourism การท่องเที่ยวเมืองรอง
  • Tools For Tourism Business เครื่องมือทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการท่องเที่ยว
  • Enabling Seamless Travel Experience เครื่องมืออำนวยความสะดวกในด้านการท่องเที่ยว
  • Smart Data การเก็บและประยุกต์การใช้ข้อมูลด้านการท่องเที่ยว โดยแต่ละทีมสามารถเลือกโจทย์ได้ตามความถนัดของตัวเอง

โครงการ HackaTravel มีการให้ผู้เข้าแข่งขันได้รับความรู้ และคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเทคโนโลยี และแวดวงอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และมีเงินรางวัลมูลค่าสูงสุด 300,000 บาทมอบให้กับผู้ชนะการแข่งขันจำนวน 3 รางวัล ประกอบด้วย ทีมชนะเลิศรับรางวัลมูลค่า 150,000 บาท ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 รับรางวัลมูลค่า 100,000 บาท และทีมรองชนะเลิศอันดับ 2 รับรางวัลมูลค่า 50,000 บาท

นอกจากผู้ชนะการแข่งขันยังจะได้รับโอกาสในการสนับสนุนพัฒนาต่อยอดกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) บริษัท สิริ เวนเจอร์ส จำกัด (แสนสิริ) และ บริษัท วันทูวัน คอนแทคส์ จำกัด (มหาชน)

Avatar photo