Sport

โพลชี้คนไทยผิดหวังผลงานฟุตบอลทีมชาติไทย ภูมิใจวอลเลย์สาวเอเชียนเกมส์

39509751
ภาพจาก : กองประชาสัมพันธ์ กกท. @prsatfanpage

”เคบียู สปอร์ต โพล” โดยศูนย์นวัตกรรมการพัฒนาทุนมนุษย์ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต รายงานผลการสำรวจสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง ”เสียงสะท้อนของคนไทย กับบทสรุปเอเชียนเกมส์ 2018” สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยได้ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 18 ที่ประเทศอินโดนีเซีย ผลปรากฎว่าผลงานโดยภาพรวมผิดไปจากเป้าหมายที่กำหนดไว้ KBU SPORT POLL จึงสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่สนใจและติดตามข่าวสารทางการกีฬา เพื่อเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วม ตลอดจนสะท้อนมุมมองที่มีต่อการผลงานและการพัฒนาแห่งอนาคต

สำหรับการสำรวจดำเนินการระหว่าง 5-8 ก.ย. 2561 โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นประชาชนที่ติดตามและสนใจกีฬาทุกกลุ่มอาชีพทั่วประเทศ ซึ่งมีอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป จำนวน 1,128 คน แบ่งเป็น เพศชาย 701 คน คิดเป็นร้อยละ 62.15 เพศหญิง 427 คน คิดเป็นร้อยละ 37.85 ซึ่งผลการวิเคราะห์ในภาพรวมประชาชนมีเสียงสะท้อนและมุมมองในด้านต่างๆ มีดังนี้

ชนิดกีฬาหรือเหรียญทองที่สร้างความสุขและนำความภูมิใจมาสู่คนไทย ส่วนใหญ่ ร้อยละ 30.01 วอลเลย์บอลหญิง รองลงมา ร้อยละ 24.29 เทควันโด ร้อยละ 21.83 เซปักตะกร้อ ร้อยละ 12.09 จักรยาน ร้อยละ 10.12 ยิงเป้าบิน และอื่นๆ ร้อยละ 1.66 ส่วนชนิดกีฬาที่สร้างความผิดหวังให้กับคนไทย ส่วนใหญ่ร้อยละ 33.91 ฟุตบอลชาย รองลงมาร้อยละ 23.84 มวยสากล ร้อยละ 20.33 ยกน้ำหนัก ร้อยละ 11.77 กอล์ฟ ร้อยละ 8.96 แบดมินตัน และอื่นๆ ร้อยละ 1.19

40530801
ภาพจาก : กองประชาสัมพันธ์ กกท. @prsatfanpage

ด้านเสียงสะท้อนที่มีต่อนักกีฬา ส่วนใหญ่ร้อยละ 27.91 ชื่นชมและขอบคุณที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศ รองลงมาร้อยละ 23.31 มุ่งมั่นตั้งใจฝึกซ้อมเพื่อชัยชนะแห่งอนาคต ร้อยละ 20.66 ลืมความผิดหวังและความผิดพลาด ร้อยละ 14.34 ปฏิบัติตนอยู่บนความพอเพียงไม่หลงระเริงกับชื่อเสียงเงินทอง ร้อยละ 10.82 ผิดหวังและเสียดายที่ไม่สามารถคว้าเหรียญรางวัลได้ และอื่นๆ ร้อยละ 2.96

ส่วนเสียงสะท้อนที่มีต่อสมาคมกีฬา ส่วนใหญ่ร้อยละ 27.55 ยอมรับข้อผิดพลาดเพื่อนำไปสู่การพัฒนา รองลงมาร้อยละ 24.39 วิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งเพื่อการพัฒนาแห่งอนาคต ร้อยละ 20.66 บริหารจัดการด้วยนวัตกรรมใหม่อย่างมืออาชีพ ร้อยละ 14.94 ศึกษาการบริหารจัดการการพัฒนาของประเทศที่มีความเป็นเลิศ ร้อยละ 10.88 นำวิทยาศาสตร์การกีฬา ผู้ฝึกสอนมืออาชีพ นักวิชาการ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญร่วมสร้างความสำเร็จ และอื่นๆ ร้อยละ 1.58

ขณะที่เสียงสะท้อนที่มีต่อผู้บริหารและองค์กรกีฬาระดับชาติ ส่วนใหญ่ร้อยละ 29.38 อยากผลักดันการปฏิรูปกีฬาเป็นวาระแห่งชาติ รองลงมาร้อยละ 23.87 พัฒนาศูนย์กีฬาและวิทยาศาสตร์การกีฬาสู่ความเป็นสากล โดยร้อยละ 20.39 อยากให้สร้างและพัฒนานักกีฬารุ่นใหม่ ร้อยละ 14.68 อยากจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอต่อการพัฒนา ส่วนร้อยละ 10.20 อยากพัฒนาบุคลากรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และอื่นๆ ร้อยละ 1.48

ด้านข้อเสนอแนะทั่วไป พบว่าประชาชนอยากให้จัดส่งชนิดกีฬาที่มีความหวังไม่เน้นปริมาณ โดยทุ่มงบประมาณไปสู่ชนิดกีฬาที่มีผลงานในเชิงประจักษ์ รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้กับองค์กรผู้สนับสนุน ส่งเสริมสนับสนุนกีฬาสู่สังคมในทุกมิติ และพิจารณารางวัลให้เหมาะสมกับความยากง่ายของชนิดกีฬา ฯลฯ

Avatar photo