Sport

วาระครบ 9 ปี! เปิดตัวเลข FSG ทุ่มเสริมทัพ ‘ลิเวอร์พูล’ หวังทวงความยิ่งใหญ่

หลังจาก จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี่ และ เฟนเวย์ สปอร์ตส กรุ๊ป (FSG) กลุ่มทุนจากสหรัฐฯเข้ามาเทคโอเวอร์ลิเวอร์พูลเมื่อปี 2010 ทีมดังแห่งแอนฟิลด์เปลี่ยนแปลงขึ้นในทางบวกอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะกับการวางแผนซื้อขายนักเตะ

FSG1
ภาพจาก : www.liverpoolecho.co.uk

สัปดาห์นี้จะครบ 9 ปีที่ FSG เข้ามาบริหารงานลิเวอร์พูล ซึ่งพวกเขากำลังเดินทางสู่เป้าหมายที่ประกาศเจตนารมย์ว่าจะนำ ลิเวอร์พูล กลับมายิ่งใหญ่เหมือนในอดีตให้ได้ โดยจุดเปลี่ยนที่ชัดเจนในการทวงบัลลังก์เกิดเมื่อตั้ง เจอร์เก้น คล็อปป์ กุนซือชาวเยอรมัน คุมทีมเมื่อเดือนตุลาคม 2015 เขาใช้เวลา 3 ปีพา “หงส์แดง” คว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมาและใกล้เคียงกับการคว้าแชมป์ลีกมากที่สุดในรอบ 30 ปีเมื่อจบรองแชมป์ตามหลังแมนฯ ซิตี้แค่แต้มเดียว

การบริหารงานของ FSG ในเรื่องซื้อขายนักเตะที่ผ่านมามีทั้งมุมประสบความสำเร็จและขาดทุน แต่แง่ทำรายได้มันดูชัดเจนกว่าอาทิ เฟร์นานโด ตอร์เรส,หลุยส์ ซัวเรซ,ราฮีม สเตอร์ลิง หรือ ฟิลิปเป้ คูตินโญ่ ที่อำลาถิ่นแอนฟิลด์ด้วยค่าตัวมหาศาล แต่พวกเขาหานักเตะใหม่เข้ามาแทนที่ราคาไม่สูงมาก หรือถ้าสูงก็เพราะกลไกลตลาดในเวลานั้น อาทิ โรแบร์โต้ ฟีร์มิโน่, โมฮาเหม็ด ซาลาห์, ซาดิโอ มาเน่ รวมทั้ง เฟอร์จิล ฟาน ไดค์

ขณะเดียวกันการเดินเรื่องซื้อตัวที่น่าผิดหวังก็มีแต่ไม่ค่อยชัดเจนที่เด่นๆคือ แอนดี้ แคร์โรลล์ และ คริสติย็อง เบนเตเก้ ที่ย้ายมาแบบความหวังแต่กลับทำผลงานสวนทางจนต้องปล่อยขายในราคาถูกกว่าต้นทุน

“ลิเวอร์พูล เอคโค่” สื่อท้องถิ่นเมืองลิเวอร์พูล ได้ทำการคำนวณในแง่การใช้จ่ายเงินของกลุ่มทุนเฟนเวย์ ที่ลงทุนให้กับสโมสรแห่งนี้ไปแล้วประมาณ 205.43 ล้านปอนด์ (ราว 7,806 ล้านบาท) เฉลี่ยแล้วใช้เงินไปประมาณ 22.83 ล้านปอนด์ (ราว 867.54 ล้านบาท) ต่อปี

กลุ่มทุนมะกันเคยทุ่มเงินช่วงตลาดซื้อขายนักเตะฤดูกาล 20147-15 ในยุค เบรนแดน ร็อดเจอร์ส ด้วยเม็ดเงินจำนวน 100 ล้านปอนด์ (ราว 3,800 ล้านบาท) แต่นักเตะบางคนในยุคนั้นกลายเป็นผู้เล่นกำลังเสริมของ คล็ออป์ในเวลานี้

นอกจากนี้สโมสรได้มีการลงทุนในช่วง 2 ตลาดนักเตะเพื่อสร้างทีมใหม่ระหว่างปี 2017 และ 2019 โดยรวมแล้วทุ่มเงินไปประมาณ 300 ล้านปอนด์ (ราว 11,400 ล้านบาท) แต่พวกเขาก็ได้เงินคืนจากการขาย คูตินโญ่ ให้บาร์เซโลน่า และนักเตะคนอื่นๆ เกือบ 200 ล้านปอนด์ (ราว 7,600 ล้านบาท) ในซีซั่น 2017/2018

มีการเปิดเผยรายละเอียดส่วนต่างรายรับ-รายจ่ายด้านการเสริมทีมตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2011ดังนี้

มกราคม 2011 มีรายจ่าย 57.8 ล้านปอนด์ (ราว 2,194 ล้านบาท) ขณะที่ทำรายได้เข้ามา 55.8 ล้านปอนด์ (ราว 2,120 ล้านบาท) มีส่วนต่างเพียง 2 ล้านปอนด์ (ราว 76 ล้านบาท)

ฤดูกาล 2011/12 มีรายจ่าย 53.48 ล้านปอนด์ (ราว 2,032 ล้านบาท) ขณะที่ทำรายได้เข้ามา 22.3 ล้านปอนด์ (ราว 847.3 ล้านบาท) มีส่วนต่าง 30.18 ล้านปอนด์ (ราว 1,146.84 ล้านบาท)

ฤดูกาล 2012/13 มีรายจ่าย 49.9 ล้านปอนด์ (ราว 1,896.2 ล้านบาท) ขณะที่ทำรายได้เข้ามา 13 ล้านปอนด์ (ราว 494 ล้านบาท) มีส่วนต่าง 36.9 ล้านปอนด์ (ราว 1,402 ล้านบาท)

ฤดูกาล 2013/14 มีรายจ่าย 41.3 ล้านปอนด์ (ราว 1,569.4 ล้านบาท) ขณะที่ทำรายได้เข้ามา 28.7 ล้านปอนด์ (ราว 1,090.6 ล้านบาท) มีส่วนต่าง 12.6 ล้านปอนด์ (ราว 478.8 ล้านบาท)

ฤดูกาล 2014/15 มีรายจ่าย 116.85 ล้านปอนด์ (ราว 4,440.3 ล้านบาท) ขณะที่ทำรายได้เข้ามา 78.5 ล้านปอนด์ (ราว 2,983 ล้านบาท) มีส่วนต่าง 38.35 ล้านปอนด์(ราว 1,457.7 ล้านบาท)

ฤดูกาล 2015/16 มีรายจ่าย 93.85 ล้านปอนด์ (ราว 3,566.3 ล้านบาท) ขณะที่ทำรายได้เข้ามา 70.4 ล้านปอนด์ (ราว 2,675.2 ล้านบาท) มีส่วนต่าง 23.45 ล้านปอนด์ (ราว 891.1 ล้านบาท)

ฤดูกาล 2016/17 มีรายจ่าย 63.9 ล้านปอนด์(ราว 2,428.2 ล้านบาท) ขณะที่ทำรายได้เข้ามา 85.75 ล้านปอนด์ (ราว 3,258.5 ล้านบาท) มีส่วนต่าง 21.85 ล้านปอนด์ (ราว 830.3 ล้านบาท)

ฤดูกาล 2017/18 มีรายจ่าย 167.9 ล้านปอนด์ (ราว 6,380.2 ล้านบาท) ขณะที่ทำรายได้เข้ามา 185.7 ล้านปอนด์ (ราว 7,056.5 ล้านบาท) มีส่วนต่าง 17.8 ล้านปอนด์(ราว 676.4 ล้านบาท)

ฤดูกาล 2018/19 มีรายจ่าย 175.2 ล้านปอนด์ (ราว 6,657.6 ล้านบาท) ขณะที่ทำรายได้เข้ามา 33.5 ล้านปอนด์(ราว 1,273 ล้านบาท) มีส่วนต่าง 141.7 ล้านปอนด์ (ราว 5,384.6 ล้านบาท)

ซัมเมอร์ 2019 มีรายจ่าย 4.4 ล้านปอนด์(ราว 167.2 ล้านบาท) ขณะที่ทำรายได้เข้ามา 44.5 ล้านปอนด์ (ราว 1,691 ล้านบาท) มีส่วนต่าง40.1 ล้านปอนด์(ราว 1,523.8 ล้านบาท)

Avatar photo