PR News

‘ฮาลาลไทย’ โชว์ศักยภาพในเวทีโลกอิสลาม

แม้ประเทศไทยมิใช่เป็นประเทศมุสลิม แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาสร้างระบบมาตรฐานงานด้านฮาลาล จนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาหรับ ตระหนักในเรื่องนี้เป็นอย่างดี จนกระทั่งสถาบันมาตรฐานและมาตรวิทยาประเทศอิสลาม (Standard and Metrology Institute for Islamic Countries, SMIIC) ภายใต้องค์การความร่วมมือชาติอิสลาม (Organization of Islamic Cooperation, OIC) ซึ่งเป็นองค์กรนานาชาติที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจาก UN ได้รับประเทศไทยในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์ มีฉันทามติร่วมกันประกาศรับประเทศไทย เป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ 1 มกราคม 2560

การรับประเทศไทยเป็นสมาชิก SMIIC ที่อิสตันบูล ตุรกี
การรับประเทศไทยเป็นสมาชิก SMIIC ที่อิสตันบูล ตุรกี

ในปีนี้เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 ไทยได้รับเกียรติเข้าร่วมประชุมมาตรฐานฮาลาล OIC/SMIIC (17th SMIIC Board of Directors (BOD) Meeting and 13th General Assembly (GA) Meeting) โดยงานนี้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ในกลุ่มประเทศโลกอิสลาม ซึ่งจัดประชุมทุกปี ปีนี้เป็นการประชุมใหญ่ครั้งที่ 13 และประชุมกรรมการอำนวยครั้งที่ 17 ที่มหานครมักกะห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย คณะผู้แทนประเทศไทยด้านมาตรฐานฮาลาล นำโดย รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และรองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย รศ.ดร.ปกรณ์ ปรียากร ผู้อำนวยการสถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย และนายรัชญา ฉิมวิเศษ รองผู้อำนวยการสถาบันฯ รวมถึง ดร.อัซอารีย์ สุขสุวรรณ นักวิจัย ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลฯ

thumbnail 18 มาตรฐานการวิจัย
ห้องวิจัยฮาลาล

รศ.ดร.วินัย ดะห์ลัน กล่าวว่า การประชุมปีนี้เป็นเรื่องทั่วไป เช่น งานบริหาร งานการเงิน การรับสมาชิกใหม่ ก่อนหน้านี้มีการประชุมคณะอนุกรรมการด้านมาตรฐานไปแล้ว และมีการนำเสนอร่างมาตรฐานใหม่ เช่น มาตรฐานเครื่องสำอางฮาลาล ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการวิชาการ แสดงบทบาทด้านวิทยาศาสตร์และมาตรวิทยาฮาลาลในการร่างมาตรฐานมาโดยตลอด ที่ผ่านมาได้รับมอบหมายเข้าร่วมเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจ ในเรื่องร่างมาตรฐานการตรวจวิเคราะห์สิ่งปนเปื้อนฮะรอมทางห้องปฏิบัติการฮาลาล ในมาตรฐานเครื่องสำอาง การจัดร่างมาตรฐาน Halal Food Additives ซึ่งเกี่ยวข้องกับฐานข้อมูล H number ที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่จัดทำขึ้น

รวมถึงได้รับความไว้วางใจในการร่างมาตรฐานระบบการจัดการคุณภาพฮาลาล ระบบการจัดการห่วงโซ่อุปทานฮาลาล และการท่องเที่ยวฮาลาล ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทย

Avatar photo