Social

‘ฝรั่งจับปลานกแก้ว’ ขอโทษ ไม่คิดว่าผิดกฎหมาย เพราะเห็นมีขายในตลาด

ฝรั่งจับปลานกแก้ว เอ่ยปากขอโทษ พร้อมชี้แจง ไม่รู้ว่าผิดกฎหมาย เพราะเห็นมีวางขายอยู่ในตลาด

จากกรณี ชาวต่างชาติรายหนึ่ง โพสต์คลิปติ๊กต็อก เป็นภาพถือปลาไหลมอเรย์ที่ถูกจับ พร้อมมืออีกข้างที่ถือปลานกแก้วร้อยเป็นพวง จำนวนประมาณ 5 ตัว อยู่บนเรือหัวโทง ซึ่งเป็นเรือนำเที่ยว สถานที่คือเกาะพีพี พร้อมระบุแคปชัน แปลเป็นภาษาไทยว่า

ต้องดำน้ำ 30 เมตรเพื่อจับตัวนี้ โดยใช้วิธีการจับปลา แบบยิงฉมวก สเปียร์ฟิชชิ่ง (spearfishing) ซึ่งเป็นวิธีการตกปลา ที่ใช้ปืนลูกซอง และสลิงแบบยืดหยุ่นหรือปืนสเปียร์ที่ขับเคลื่อนด้วยแก๊สอัดเพื่อโจมตีปลา

ปลานกแก้ว

หลังภาพเผยแพร่ไป ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโซเชียลมีเดียเป็นจำนวนมาก จนเกิดแฮชแท็ก #ฝรั่งจับปลานกแก้ว ติดเทรนด์ทวิตเตอร์

ไม่รู้ว่าจับปลานกแล้วผิดกฎหมาย เห็นตลาดมีขาย

ในเวลาต่อมา ชายชาวต่างชาติผู้อยู่ในคลิป ได้ชี้แจงหลังตกเป็นกระแสดรามาว่า

ทุกคน ได้โปรดเข้าใจผมด้วย ผมเป็นนักจับปลามืออาชีพแบบยิงฉมวก ที่ตระเวนไปทั่วโลก เพื่อจับปลา และผมไม่ได้เป็นเพียงคนเดียวในกลุ่ม (ที่จับปลาในเหตุการณ์นั้น)

ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะก่อเหตุร้ายแรงเช่นนี้ ผมขอโทษสำหรับสิ่งที่ผมกระทำลงไป ซึ่งสิ่งที่ทำให้ผมคิดว่า ผมสามารถทำแบบนี้ได้ เป็นเพราะว่าผมเห็น ปลานกแก้ว วางขายในตลาดครับ

ด้าน นายฑีฆาวุฒิ ศรีบุรินทร์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ขณะนี้พอทราบแล้วว่าเรือลำดังกล่าวเป็นของใคร ทางเจ้าหน้าที่ได้ไปแจ้งความไว้ที่ สภ.เกาะพีพีแล้ว เพื่อให้ติดตามหาเจ้าของเรือ และสืบสวนหานักท่องเที่ยวที่ถือปลานกแก้วต่อไป เพราะการจับสัตว์น้ำในเขตอุทยานนั้นถือว่ามีความผิด

ปลานกแก้ว

ทั้งนี้  ปลานกแก้ว เป็นปลาทะเลขนาดกลางชนิดหนึ่ง มีเกล็ดขนาดใหญ่ จะงอยมีปากยืดหดได้ ปากคล้ายนกแก้ว จึงเป็นที่มาของชื่อ

เนื่องจากปลาชนิดนี้ มีรูปร่าง ลักษณะ และสีสันสวยงาม จึงมีผู้นิยมจับมาดูเล่น และนำมาเป็นอาหาร ทำให้มีจำนวนลดลง ส่งผลกระทบระบบนิเวศโดยรวมของทะเลบริเวณนั้นก็จะเสียสมดุลไปอย่างมาก ปะการังตายมากขึ้น ฟื้นตัวช้า และเมื่อเกิดการฟอกสีเนื่องจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น ก็จะฟื้นตัวยากหรือตายไปอย่างถาวร

จึงทำให้ ปลานกแก้ว เป็นสัตว์ทะเลที่ต้องอนุรักษ์ และมีการรณรงค์ให้หยุดกินปลานกแก้ว เนื่องจากพบว่า ปลานกแก้วทุกตัวมาจากการประมงที่ผิดกฎหมาย เพราะปลานกแก้วมีถิ่นอาศัยอยู่ในแนวปะการัง และแนวปะการังเกือบทั้งหมดในประเทศไทยมีกฎหมายคุ้มครอง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo