Social

‘วราวุธ’ แจงละเอียด รัฐช่วย ‘ชาวบ้านบางกลอย’ พัฒนาคุณภาพชีวิต-แก้ไขที่ทำกิน

“วราวุธ”  แถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลไทย ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ในพื้นที่บ้านบางกลอย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ย้ำมีความมุ่งมั่น ตั้งใจแก้ปัญหาอย่างสมดุล ในทุกมิติ ตามหลักกฏหมาย

วันนี้ (2 ก.ค.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) แถลงผลการดำเนินงาน ในการแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนบ้านบางกลอย อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ว่า จากข้อมูลการสำรวจประชากรกะเหรี่ยง ที่อาศัยอยู่ในบ้านบางกลอย จากปี 2539 ถึงระหว่างเดือนมีนาคม- เมษายน 2564 พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 400 คน

ชาวบ้านบางกลอย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีหน่วยงานของรัฐจำนวนมากกว่า 20 หน่วยงาน ได้เข้าไปดำเนินการโครงการต่าง ๆ ในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 88 โครงการ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ ส่งเสริมอาชีพ และเสริมสร้างสุขอนามัย รวมถึง วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง มาอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2564 และในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หน่วยงานต่าง ๆ ได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือประชากรในพื้นที่ และแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของชุมชนในเรื่องต่าง ๆ เช่น การสำรวจที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน และรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินของชาวบ้านบางกลอยพบว่า ผู้อพยพ เมื่อปี 2539 จำนวน 51 ราย มีที่ทำกิน 104 แปลง เนื้อที่ประมาณ 500 ไร่ และผู้ครอบครองใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มครอบครัวขยาย รุ่นลูก/หลาน จำนวน 44 ราย มีที่ทำกิน 50 แปลง เนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ รวมเนื้อที่ประมาณ 800 ไร่

ชาวบ้านบางกลอย

ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต ชาวบ้านบางกลอย

การพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลสำหรับการบริโภค โดยการสำรวจ และขุดเจาะน้ำบาดาลเพิ่มเติม และก่อสร้างระบบประปาบาดาลสำหรับการบริโภคในพื้นที่ พร้อมติดตั้งระบบสูบน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ และอุปกรณ์ รวมถึง จุดบริการน้ำดื่มสะอาดผ่านระบบน้ำ RO (Reverse Osmosis) สำหรับชุมชน มีกำลังการผลิตได้สูงสุดวันละ 20,000 ลิตร  เปิดใช้งานเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

การจ้างแรงงานในชุมชนกะเหรี่ยง เพื่อเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในตำแหน่งงานต่าง ๆ เช่น การจ้างแรงงานทั่วไป พนักงานสัญญาจ้าง พนักงานประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานในหน่วยไฟป่า และแรงงานสำรวจแหล่งน้ำเบื้องต้น เป็นต้น

ชาวบ้านบางกลอย

โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 7.5 KW การจัดทำแปลงสาธิตการใช้ประโยชน์ที่ดินรวม 80 ไร่ ของราษฎร 8 ราย การสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนออกแบบการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ ถังน้ำ และแนวท่อส่งน้ำ เพื่อสนับสนุนแปลงสาธิต โดยสูบน้ำจากแม่น้ำเพชรบุรี การขยายระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ การส่งเสริมกองทุนต่างๆ ของชุมชน โรงสีกาแฟ พัฒนากิจกรรมต่อเนื่อง เชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และวัฒนธรรม การถ่ายทอดความรู้และพัฒนาศักยภาพให้เกษตรกร และพัฒนากิจกรรมต่อเนื่องของกลุ่มอาชีพต่าง ๆ รวมทั้ง การให้ความช่วยเหลือต่อชุมชนโดยการแจกเครื่องอุปโภค บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง

ชาวบ้านบางกลอย

รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับสิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของชุมชนท้องถิ่นที่อยู่อาศัยในพื้นที่ โดยไม่กระทบต่อวิถีชีวิตดั้งเดิม รวมถึงสิทธิในความมั่นคง และการมีส่วนร่วม ในการจัดการทรัพยากร และได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน ซึ่งแสดงให้เห็นจากการปรับปรุงพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

โดยกำหนดให้มีการสำรวจการถือครองที่ดินของประชาชนที่อยู่อาศัยหรือทำกินในเขตพื้นที่อนุรักษ์ ให้แล้วเสร็จภายใน 240 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ ใช้บังคับ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนในการจัดทำอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดระเบียบปฏิบัติเพื่อดำเนินโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และจัดสรรที่ดินทำกินตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ต่อไป

ชาวบ้านบางกลอย

จากการสำรวจการถือครองที่ดินของบ้านบางกลอย พบว่า มีราษฎรผู้ได้รับ การตรวจสอบและบริหารจัดการพื้นที่ จำนวนทั้งสิ้น 97 ราย ทำการสำรวจได้จำนวน 143 แปลง เนื้อที่ประมาณ มากกว่า 600 ไร่ โดยได้มอบผลการสำรวจและแผนที่ล่าสุดให้กับชุมชน เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2562

ทั้งนี้ การจัดที่ดินทำกินและการให้หนังสืออนุญาตให้กับชุมชนจำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการ และเป็นไปอย่างครอบคลุมและเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ (Ongoing Process) เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในภาพรวมทั้งประเทศให้เป็นไปอย่างยุติธรรม

ชาวบ้านบางกลอย

ทส. ยังดำเนินการส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการบริหารจัดการพื้นที่ และระงับข้อพิพาท โดยในปี 2562 มีการจัดตั้งคณะกรรมการพื้นที่คุ้มครอง (PAC) และแต่งตั้งผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์จากบ้านโป่งลึก และบ้านบางกลอย เป็นกรรมการของ PAC ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานด้วย

ในส่วนของการแก้ไขปัญหาของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ทส. ได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี โดยได้มีการแต่งตั้งให้ผู้แทนชุมชนกะเหรี่ยง ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคม และผู้ประสานงานเครือข่ายกะเหรี่ยง เพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องของชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย

ชาวบ้านบางกลอย

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมีการจับกุมตามที่เป็นข่าวเมื่อเดือนมีนาคม 2564 นั้น รัฐบาลได้เน้นแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการร่วมกัน และเป็นขั้นตอน โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนา และฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ในพื้นที่บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ขึ้น เมื่อวันที่ 16  มีนาคม 2562 เพื่อรวบรวมปัญหา ตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้อง เพื่อฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

เพื่อให้การดำเนินงานครอบคลุมทุกมิติ จึงได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอีก 5 คณะ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน ได้แก่

  1. คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และศึกษารวบรวมข้อมูลประวัติความเป็นมา การตั้งถิ่นฐานชุมชนของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย
  2. คณะอนุกรรมการศึกษากฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้ง การพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย
  3. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาด้านคดีความ และให้ความช่วยเหลือในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย
  4. คณะอนุกรรมการศึกษาผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา สัตว์ป่า ต้นน้ำ และการบริการทางนิเวศ กรณีชาวกะเหรี่ยงกลับไปอยู่อาศัย และทำกิน รวมทั้งดำเนินวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียน ในพื้นที่บ้านบางกลอยบน
  5. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อาศัย ที่ดินทำกิน และคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยง ในพื้นที่บ้านบางกลอย

โดยทั้ง 5 คณะมีการประชุม และรายงานต่อคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาของชุมชนบ้านบางกลอยได้อย่างเหมาะสม และยั่งยืน

JPG 43

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก ซึ่งรวมถึงพื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส มีกระบวนรับฟังความคิดเห็น ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานในพื้นที่ร่วมกับนานาชาติ  รวมถึงองค์กร IUCN ประจำประเทศไทยด้วย

ในปี  2562 สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ได้ร่วมประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างไม่เป็นทางการ ในพื้นที่ พร้อมทั้งได้ให้คำแนะนำต่อการดำเนินงาน เพื่อนำเสนอเป็นมรดกโลก

ต่อมาในปี 2563 ทส. โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดกิจกรรมศึกษาดูงานแหล่งมรดกทางธรรมชาติ พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน สำหรับผู้แทนรัฐภาคีสมาชิกในคณะกรรมการมรดกโลก ที่มีถิ่นพำนักในไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับทราบข้อเท็จจริงในการดำเนินโครงการ และกิจกรรมในด้านต่าง ๆ รวมทั้ง วิถีชีวิต และสภาพความเป็นอยู่ของชุมชนกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านโป่งลึก-บางกลอย ในพื้นที่จริง

จากนั้น ในปี 2564 ไทยได้มีความพยายามในการเชิญสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) มาติดตามตรวจสอบ และให้คำแนะนำต่อการดำเนินงาน เพื่อนำเสนอเป็นแหล่งมรดกโลก จำนวน 3 ครั้ง แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จึงทำให้ไม่สามารถเดินทางมาปฏิบัติภารกิจได้

JPG 413

ในส่วนของการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 43 ในปี 2562 ที่ขอให้ไทยดำเนินการเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ใน 3 เรื่อง ได้แก่

  1. ข้อเรียกร้องของชุมชนกะเหรี่ยง
  2. การแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน
  3. การรับฟังความคิดเห็นต่อการเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการครบถ้วนตามข้อมติแล้ว

นายวราวุธ ย้ำว่า ไทยได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน ของชุมชนกะเหรี่ยง ที่อาศัยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานมาโดยตลอด และได้รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการมรดกโลก ศูนย์มรดกโลก และสหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) ซึ่งเป็นองค์กรที่ปรึกษาแหล่งมรดกทางธรรมชาติ เพื่อทราบแล้ว

ทั้งนี้ การนำเสนอพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก จะมีขึ้นในการประชุมทางไกลของคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 44 ในระหว่างวันที่ 16-31 กรกฎาคม 2564

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo