Social

แพ้หลุดรุ่ย! ฝ่ายค้านสู้ต่อในสภา ตัดงบฯ คดี ‘เหมืองทองอัครา’

กรรมาธิการงบฯ ฝ่ายค้าน ต้านไม่อยู่ แพ้โหวต 21 ต่อ 38 เสียง งบประมาณค่าใช้จ่าย การต่อสู้คดีระหว่างรัฐบาลไทย กับ “คิงส์เกต” กรณีปิด เหมืองทองอัครา ของกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ไฟเขียว ปรับวงเงินลงเพียง 12 ล้านบาท  จากที่เสนอมา 111 ล้านบาท 

วันนี้ (31 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โดยมีนายวราเทพ รัตนกร รองประธาน กมธ. เป็นประธานการประชุม ปรากฏว่า ในการพิจารณางบประมาณเกี่ยวกับค่าใช้จ่าย เพื่อใช้ต่อสู้คดีระหว่างรัฐบาลไทย กับบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด ลิมิเต็ด ประเทศออสเตรเลีย บริษัทแม่ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำชาตรี จังหวัดพิจิตร วงเงิน 111 ล้านบาทของกระทรวงอุตสาหกรรม กรณีหัวหน้าคสช. ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 44 สั่งปิดเหมืองแร่ทองคำ

เหมืองทองอัครา

นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ กมธ.จากพรรคเสรีรวมไทย ใช้สิทธิแปรญัตติตัดงบประมาณทั้งหมด 111 ล้านบาท เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยว่า หัวหน้าคสช. ไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จึงไม่มีสิทธิใช้งบประมาณต่อสู้คดี

แต่ที่สุด ที่ประชุมกมธ.มีมติเสียงข้างมาก 38 ต่อ 21 เสียง ให้ปรับลดงบประมาณเพียง 12 ล้านบาท ตามที่อนุกมธ.เสนอมาเท่านั้น ทาง นพ.เรวัต จึงขอใช้สิทธิสงวนคำแปรญัตติขอให้ตัดงบประมาณทั้งหมด 111 ล้านบาทในชั้นการพิจารณารายมาตราในวาระ 2 ในที่ประชุมสภาฯระหว่างวันที่ 16-18 กันยายนนี้

ที่มาที่ไป ‘เหมืองทองอัครา’

  • ปี 2543

บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด จากออสเตรเลีย ได้สิทธิสัมปทานทำเหมืองทองคำ บริเวณรอยต่อ จังหวัดพิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ เป็นจำนวน 5 แปลง มีพื้นที่รวม 1,259 ไร่  ดำเนินการขุดเหมืองโดย บริษัท อัครา ไมนิ่ง จำกัด (บริษัทลูกของคิงส์เกท)

  • ปี 2550

กลุ่มชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ จากการขุดเหมืองทอง ออกมาร้องเรียนรัฐบาลว่า ไม่สามารถใช้น้ำจากธรรมชาติได้ เพราะปนเปื้อนโลหะหนัก และชาวบ้านในชุมชน ล้มป่วยเป็นจำนวนมาก

  • ปี 2551

ภาครัฐลงไปตรวจสอบ ระหว่างนั้น อัครา ไมนิ่ง ได้รับสัมปทานเหมืองทองคำชาตรีเหนือ ในบริเวณจังหวัดพิจิตรอีก 9 แปลง รวม 2,446 ไร่ สัมปทานยาวถึง 20 ปี

  • ปี 2557

ผลตรวจเลือดของชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ใกล้เหมืองทองคำ พบว่า มีสารแมงกานีส และไซยาไนต์อยู่ในร่างกาย เกินเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด

  • ปี 2558

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ (กพร.) ได้สุ่มตรวจร่างกายของชาวบ้าน พบว่ามีโลหะหนักภายในร่างกาย จึงมีการออกคำสั่งให้ อัครา ไมนิ่ง หยุดทำกิจการ 30 วัน ทางอัครา ไมนิ่ง จึงทำการปรับปรุงเรื่องการปล่อยโลหะหนัก

ต่อมา กพร.ได้มีการจ้าง บริษัทแบร์ โดแบร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ผู้เชี่ยวชาญการประเมินเหมืองทองคำ มาตรวจสอบที่เหมืองชาตรี แต่ไม่พบไซยาไนต์รั่วไหล

เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ โดยกลุ่มชาวบ้านที่มีทั้งฝ่ายสนับสนุนเหมือง และฝ่ายที่ต่อต้าน

เหมืองทองอัครา

  • 14 ธันวาคม 2559

คสช. ออกคำสั่ง คสช. ที่ 72/2559 ให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำ ต้องระงับการประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560 เป็นต้นไป โดยเป็นการใช้มาตรา 44 ในการระงับข้อขัดแย้ง

  • 5 พฤศจิกายน 2560

คิงส์เกท เข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ กับราชอาณาจักรไทย เรียกร้องให้จ่ายชดเชยค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 750 ล้านดอลลาร์ รือ 22,672 ล้านบาท เนื่องจากคำสั่งปิดเหมือง เป็นการละเมิดตามข้อตกลงการค้าเสรีไทย-ออสเตรเลีย (TAFTA)

  • มีนาคม 2562

เกิดข่าวลือว่า รัฐบาลไทยยอมจ่ายเพื่อจบคดีนี้ แต่คดียังยืดเยื้อมาอย่างต่อเนื่อง

  • 27 สิงหาคม 2563

มีผู้นำเอกสารงบประมาณปี 2564 ของกระทรวงอุตสาหกรรมออกมาเผยแพร่ พบว่า มีการจัดสรรงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการระงับข้อพิพาทระหว่างราชอาณาจักรไทย กับบริษัทคิงส์เกท เป็นจำนวนเงินกว่า 111 ล้านบาท ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันเป็นวงกว้าง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo