Social

‘อาจารย์หมอ’ จวกมาตรการตอนนี้ยังไม่พอ ถ้าผู้ป่วยโควิดทะลุพัน จ่อคุมไม่อยู่

“อาจารย์หมอ” กระทุ้งรัฐบาลเพิ่มมาตรการคุมเข้ม “โควิด” ชี้ตอนนี้เป็นเวลาทอง หากปล่อยผู้ป่วยทะลุพัน อาจคุมไม่อยู่เหมือนอิตาลี แนะนายกฯ หา ‘ขุนพล’ สู้เชื้อโรคให้ดี ไม่ใช่มาบริหารเล่นๆ

โหนกระแส 22

วันนี้ (23 มี.ค.) “รายการโหนกระแส” ช่อง 33 ที่มี “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” เป็นผู้ดำเนินรายการ ได้สัมภาษณ์ “รศ. ดร.พญ. ภัทรวัณย์ วรธนารัตน์” หัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลมาราธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ “รศ. นพ. ธีระ วรธนารัตน์” รองหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังมีการวิเคราะห์ว่า หากประเทศไทยยังใช้มาตรการในระดับปัจจุบัน จะส่งผลให้สถิติผู้ป่วยเพิ่มเป็น 3.5 แสนคนและเสียชีวิต 7 พันคน ในช่วงกลางเดือนเมษายนนี้

 

กราฟพุ่งไปทางอิตาลี

ผู้ดำเนินรายการ : เมื่อวานเห็นคลิปอาจารย์ที่มีการพูดเอาไว้ คนแชร์ต่อเยอะมาก สิ่งที่น่าสนใจ คือ อาจารย์บอกว่าเป็นไปได้เหลือเกินใน 4 วันนับจากอาจารย์พูด จะมีคนป่วย 1 พันคน ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร อาจารย์ประเมินจากอะไร?

รศ. ดร.พญ. ภัทรวัณย์ : ที่มาที่ไปคือสัก 1 อาทิตย์ผ่านมา เราดูว่ามีผู้ป่วยทุกวันเลย เป็นสัญญาณที่ไม่ดี เราก็คิดว่าเริ่มเข้ากราฟเกิน 100 คน พอเกิน 100 คน เราทางเลือก 2 ทาง ทางเลือกที่ 1 เราไปอิตาลี ทางเลือกที่ 2 ถ้าเรามีมาตรการ เราก็จะลงมาแบบสิงคโปร์ ฮ่องกง หรือ ญี่ปุ่น เราเลยมาดูสิว่า กราฟเราจะไปยังไง

เราก็พบว่าค่าเฉลี่ยของ John Hopkins เขาได้ดูประเทศที่มีการระบาดมากๆ กราฟจะเพิ่มขึ้นวันละ 33 % จากตัวเลขของวันก่อน ถ้าเราไปอย่างนั้น ยอดเราจะน่ากลัวมาก อีก 4 วันเราจะแตะพัน อีก 10 วันถัดจากวันที่เราทำนายจะแตะ 5 พัน ถ้าเราไม่มีมาตรการ อะไรภายใน 4 วัน และรอให้ถึงพัน เราจะเอาพันนั้นให้ลงมันจะยากมาก มันจะทะลุขึ้นไปเรื่อยๆ

โหนกระแส 56

ผู้ดำเนินรายการ : เมื่อวานนี้มีการแถลงว่ามีคนติดเชื้อ 188 ราย วันนี้ที่เราสัมภาษณ์กันอยู่คือวันจันทร์ มาอีก 122 ยอดวันนี้ 721 ราย สถิติดูลดลงมั้ย?

รศ. ดร.พญ. ภัทรวัณย์ : ดูลดลง เมื่อวานเพิ่มจากวันก่อน 45% แต่วันนี้เพิ่มจากเมื่อวาน ประมาณสัก 20% แล้วแต่เคสที่คอนเฟิร์ม แต่ก็ไม่แน่ใจว่า มีผู้ป่วยที่รอการคอนเฟิร์มจากแล็บที่ตรวจหรือเปล่า ขึ้นอยู่กับล็อตที่ตรวจด้วย

ถ้าดูกราฟเส้นสีแดงเป็นเส้นประเทศไทย 4 วันแรก ตั้งแต่วันที่ 0 ถึงวันที่ 3 เราจะอยู่ระหว่างอิตาลีสีเขียวด้านบน ถ้าเป็นญี่ปุ่นเป็นสีน้ำเงินด้านล่าง เรายังมีทางเลือกว่าเราจะไปข้างบนหรือลงมาด้านล่าง ทีนี้ข้างบนเราก็ทำเส้นประดูว่า ถ้าเราเพิ่มเฉลี่ย 33% จะระบาดหนักมาก เราไม่อยากแตะเส้นนี้ เราเฝ้าดูว่า ถ้าเราจะแตะเส้นนี้ อีก 4 วันเพิ่มเป็น 1,000 คน อีก 10 วันเพิ่มเป็น 5,000 คน อีก 14 วันเพิ่มเป็นเกือบหมื่น

ช่วงแรกๆ  มันก็จะดร็อปๆ จากเส้น 33% ไปบ้าง แต่เมื่อวานก็ขึ้นมา เราดูจะไต่ไปทางกราฟเส้น 33% ไม่ไต่กราฟทางกราฟเส้น 20% เลย ดูแล้วก็น่าเป็นห่วงมาก เราคิดว่าน่าจะมีมาตรการที่เข้มข้นกว่านี้ ไม่งั้นโอกาสที่จะลงมาแบบญี่ปุ่น มันช่างเป็นฝันที่ไกลเกินไปเรื่อยๆ

 

ชงล็อคดาวน์ทุกจังหวัด

ผู้ดำเนินรายการ : ณ วันนี้ในกรุงเทพฯ ล่าสุดมีการประกาศปิดสถานที่ในหลายๆ จุด มันเหมือนล็อคดาวน์กลายๆ แต่ยังไม่พอ สิ่งที่ต้องเพิ่มคืออะไร?

รศ. ดร.พญ. ภัทรวัณย์ : พูดตรงๆ อยากให้ล็อคดาวน์กันทุกจังหวัด เพราะมีการเคลื่อนย้ายประชากร จากกรุงเทพฯ ไปที่อื่น ก็มีการแพร่กระจายของเชื้อ ถ้าทุกคนกักตัวทั้งหมดก็ช่วยได้ ช่วงนี้เป็นช่วงเวลาทอง เพราะเรายังไม่แตะพัน ถ้าเราเลย 1,000 คน แล้วเพิ่มมาตรการก็อาจจะไม่ทัน

ผู้ดำเนินรายการ : มีแนวโน้มจะเป็นอย่างนั้น?

รศ. ดร.พญ. ภัทรวัณย์ : มีทีเดียว แต่มาตรการต่างๆ เข้ามาก็หวังว่าจะช่วยกันทุกคนทุกฝ่าย

โหนกระแส 4

มีแนวโน้มเป็นผู้นำการระบาด

ผู้ดำเนินรายการ : อันนี้คือคำพูดจากการวิเคราะห์จากอาจารย์ทางรามาฯ ลองมาฟังอาจารย์จุฬาฯ มองยังไง?

รศ.นพ. ธีระ : ขอเสริมนิดนึง ในกราฟที่เราเห็น ตอนนี้ทั่วโลกติดโควิดกันหมดแล้ว กราฟที่เมื่อกี้อาจารย์ภัทรวัณย์อธิบายแบ่งเป็น 2 พวก พวกกลุ่มประเทศด้านบนที่คุมไม่อยู่ ส่วนด้านล่าง 3 ประเทศ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ คือประเทศที่ดูจะคุมอยู่

สิ่งที่จะเน้นย้ำคือ เขามีการวิเคราะห์เพิ่มเติมจากมหาวิทยาลัย John Hopkins ว่า กลุ่มประเทศด้านบนที่คุมไม่อยู่ มันไต่ไปเร็ว จากวันแรกที่ถึง 100 เคส ขึ้นไป 200 เคสส่วนใหญ่ใช้เวลา3 วัน หรือน้อยกว่านั้น แต่ด้านล่างอีก 3 ประเทศที่คุมอยู่ ดูจะขึ้นไม่มาก 100 ถึง 200 เคสใช้เวลานาน 4-5 วันขึ้นไป ขณะที่ของไทย เราดูดีๆ พบว่าใช้เวลา 3 วันครึ่ง มีแนวโน้มติดประเทศที่เป็นกลุ่มผู้นำระบาด เป็นแนวโน้มไม่ดี แต่เราเปลี่ยนชะตาได้ ถ้าเราต้องช่วยกัน

ผู้ดำเนินรายการ : คำว่าต้องช่วยกันหมายถึง?

รศ.นพ. ธีระ : ดูก่อนว่าเราลงมาตรการเต็มที่ ช่วยกันเต็มที่เมื่อไหร่ มันจะมีช่วงเวลาทองอยู่ ถามว่าเวลานานเท่าไหร่ ยิ่งปล่อยให้เนิ่นนาน ความห่างของคน 2 กลุ่ม จะยิ่งห่างขึ้น นั่นแปลว่าโอกาสตามทันกันยาก

แปลว่าถ้าเราดูกราฟคร่าวๆ เรามีเวลา 5 วัน ถัดจากวันที่ 0 คือวันที่ 15 มีนาคม ที่เราแตะร้อย จริงๆ ถ้าเราลงมาตรการเต็มที่ ณ วันที่ 20 มีนาคม ก็น่าจะมีความเป็นไปได้สูง ที่เราจะสามารถเปลี่ยนชะตาชีวิตจากบนลงมาล่างได้

แต่ตอนนี้มันเลยไปแล้ว พอไปวิเคราะห์ลึกๆ ตัวเลขจำนวนเคส ถ้าปล่อยให้จำนวนเคสยิ่งเยอะยิ่งคุมไม่อยู่ ตอนนี้ที่แนะนำผู้หลักผู้ใหญ่ไป เราบอกว่าอย่าปล่อยให้ถึงพันเคส เพราะพันเคสไปแล้ว มันจะเกิดผลกระทบต่อระบบสุขภาพในการดูแล มันจะเกินกำลังหรือเปล่า อันที่ 2 มันจะคุมไม่อยู่แล้ว ซึ่งถ้าเราตัดที่พันเคสก็เหลือเวลาอีกไม่นานแล้ว เพราะตอนนี้เรามี 721 เคส

โหนกระแส หก4ดห6ก5

ผู้ดำเนินรายการ : อาจารย์ยืนยันว่า มาตรการตอนนี้ยังไม่พอ?

รศ.นพ. ธีระ : ยังไม่พอ

ผู้ดำเนินรายการ : เราอาจจำเป็นต้องปิดประเทศมั้ย?

รศ.นพ.ธีระ : จริงๆ ถ้าจะให้ดีที่สุดมี 2 หลักที่ต้องทำ ผมไม่ค่อยชอบคำว่าปิดประเทศเท่าไหร่ พอพูดไปปุ๊บจะทำให้คนรู้สึกน่ากลัว แต่อยากให้ทำ 2 อย่างคือ ปิดกั้นให้คนที่ติดเชื้อใหม่จากต่างประเทศเข้ามา ตอนนี้มันน้อยลงแล้ว แต่ก็ยังมีโอกาสอยู่บ้าง อันที่ 2 ไม่ให้คนของเราที่ติดเชื้อออกไปแพร่ให้คนอื่น มาตรการที่2  ทุกคนที่อยู่ในพื้นที่ประเทศไทย เราช่วยกันอยู่กับที่เท่าที่จะทำได้ ทำให้ดีที่สุด แล้วมันจะดีขึ้น

ผู้ดำเนินรายการ : ในกรณีแบบนี้ เราจำเป็นต้องประกาศเคอร์ฟิว ห้ามคนออกจากบ้านมั้ย ไม่ต้องออกเลย?

รศ.นพ. ธีระ : ผมคิดว่าประเทศที่มีการระบาดหนักๆ แล้ว หลายประเทศก็พิจารณามาตรการแบบนี้ แต่การประกาศให้เกิดนโยบายแบบนี้ในสาธารณะ จะสร้างความตื่นตระหนกทีเดียว เพราะฉะนั้นรัฐบาลเองต้องชั่งน้ำหนักถึงผลดีผลเสียที่เกิดขึ้น

แต่ถ้าถามผมความเห็นผมโดยตรง ถ้าการระบาดเร็วและกว้าง ผมแนะนำว่า ต้องมีการจำกัดเวลาออกนอกเคหะสถานของประชาชน แน่นอนเราคงไม่ให้เขากักตัวอยู่บ้านตลอด 24 ชั่วโมง คงเป็นไปได้ยาก แต่ว่าเราอาจมีการจำกัดเวลา อย่างเช่น 3 ทุ่มถึงตอนเช้า ไม่อยากให้ออกจากบ้านเพื่อป้องกันความเสี่ยงคนออกไปข้างนอกและแพร่ให้แก่กัน นี่ก็เป็นมาตรการที่รัฐควรพิจารณาา เพราะถือว่าเป็นช่วงเวลาที่จำเป็น ถ้าเราไม่ตัดวงจรแพร่ระบาดช่วงเวลาทองที่กล่าวมา มันจะห้ามไม่อยู่

หมอชิต2

ผู้ดำเนินรายการ : แล้วเช้ากินค่ำ อาจารย์มองยังไง เพราะถ้าหยุด เขาก็ต้องกลับบ้านไปรวมกลุ่มกัน?

รศ.นพ. ธีระ : ส่วนตัวผมมองว่า ถ้ารัฐจะจัดการตัดวงจรการระบาดนี้ได้ เรากำลังทำสงครามอยู่ เป็นสงครามกับโรคระบาด สิ่งที่จะต้องทำมีอยู่ 4 เรื่องหลักๆ เรื่องแรกเตรียมเรื่องสังคมให้ดี หากอาจต้องสู้กับโรคระบาด เรื่องปิดเมืองอะไรก็แล้วแต่ อาจเกิดปัญหาเรื่องความปลอดภัย และสวัสดิภาพของประชาชนได้ ตำรวจ ทหาร ต้องวางแผนไว้ และรณรงค์ให้คนรู้ว่าต้องประพฤติปฎิบัติยังไง มีระเบียบวินัย และเชื่อฟังมาตรการที่รัฐได้ประกาศออกไป และปฏิบัติต่อกัน เช่น การวางระยะห่างระหว่างกันให้เป็นนิสัย

2.ลืมไม่ได้เลยเรื่องเศรษฐกิจ คนเราต้องกินต้องใช้ นั่นแปลว่าอาจต้องเตรียมสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมถึงอาหารการกินเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นและต้องไม่ลืมคนเบี้ยน้อยหอยน้อย คนยากจน ต้องหาทางเยียวยาเขา ให้เขาอยู่ได้ในตอนที่เราปิดประเทศหรือปิดเมือง

และอันที่ 3 คือเรื่องการแพทย์ สงครามกับโรคระบาดเป็นการสู้กับเชื้อโรค สถานพยาบาลจำเป็นต้องเตรียมให้พร้อม ตัวเลขจริง ใช้ได้จริง เตรียมเครื่องมือบุคลากรให้พร้อม แบ่งให้ดีว่าอันไหนเป็นโรงพยาบาลสำหรับโรครุนแรง อันไหนโรคไม่รุนแรง โรคอื่นๆ ก็มี ถ้าเกิดต้องกินยาต่อเนื่อง ก็จัดระบบให้พร้อมเต็มที่

สุดท้ายเรื่องบริหารจัดการ นี่คือสงครามโรคระบาดของคนทั้งชาติ เพราะฉะนั้นท่านนายกฯ ต้องลงมาบัญชาการเอง ซึ่งท่านก็กำลังทำอยู่ร่วมกับขุนพลคู่ใจ แต่ขุนพลต้องเลือกให้ดี ให้เหมาะสม มีความรู้ ความชำนาญ เชี่ยวชาญสู้กับโรคระบาด ไม่ใช่การบริหารแบบเล่นๆ

Avatar photo