Royal News

ในหลวง ร.9 ‘กษัตริย์นักพัฒนา’ เพื่อประชาราษฎร์อยู่ดี มีสุข

“ในหลวง ร.9”  พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี ครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ด้วยพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จนสวรรคต เป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์นานที่สุดในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นับตั้งแต่ขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงทุ่มเทพระวรกาย ให้กับประชาชน ภาพที่ชาวไทยมีต่อพระองค์ท่าน ไม่ใช่การฉลองพระองค์เต็มยศ หากแต่เป็นภาพในหลวงทรงสะพายกล้อง ทรงถือแผนที่ มีพระราชปฏิสันถารกับพสกนิกร และเสด็จฯ ไปยังถิ่นทุรกันดารอยู่เสมอ

พระองค์ทรงทุ่มเทอย่างมาก ให้กับการพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนของพระองค์ให้ดียิ่งขึ้น จนได้รับการยกย่องว่า ทรงเป็น “กษัตริย์นักพัฒนา”

วันพ่อ แห่งชาติ64

พระองค์พระราชทานความรู้ ทรงเพิ่มความสามารถให้กับชาวไทยในชนบทเกี่ยวกับการทำเกษตรกรรม เทคโนโลยีทางการเกษตรที่เหมาะสม การใช้น้ำอย่างยั่งยืน และวิธีการป้องกันน้ำท่วม ทรงนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในชุมชนไทย

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงให้ความสำคัญแก่สุขภาพ การศึกษา และการดำเนินชีวิตของประชาชน หลอมรวมเป็นโครงการในพระราชดำริ และปรัชญาการใช้ชีวิตที่ได้นำไปสู่การพัฒนาให้กับคนไทยมาโดยตลอด จึงเป็นเหตุผลที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงได้รับการยกย่องจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ให้เป็นบุคคลที่อุทิศทั้งชีวิตแก่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยั่งยืน

โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น มีอยู่มากมายหลากหลายประเภท แตกต่างกันไปตามลักษณะ และวัตถุประสงค์ของโครงการนั้นๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นการแก้ไขปัญหา และพัฒนาด้านการทำมาหากิน ของประชาชน เป็นสำคัญ

w644 1

การที่ประชากรของไทยส่วนใหญ่ ยังชีพอยู่ด้วยการทำเกษตรกรรม ทำให้โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงเกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องของการพัฒนา ปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น ดิน น้ำ ที่ทำกิน ทุน และความรู้ด้านเกษตรกรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด และทฤษฎี ในงานสาขาใด ที่ได้พระราชทานพระราชดำริ เพื่อการแก้ไขปรับปรุง และพัฒนาไว้ หลักสำคัญของทุกเรื่อง ก็คือ ความเรียบง่าย ดังที่ได้ทรงใช้คำว่า “Simplify” หรือ “Simplicity” จะต้องเรียบง่าย ไม่ยุ่งยาก สลับซับซ้อน

ในหลวง ร.9

ทั้งแนวความคิด และด้านเทคนิควิชาการ จะต้องสมเหตุสมผล ทำได้รวดเร็ว และสามารถแก้ไขปัญหา ให้ก่อประโยชน์ได้จริง ตลอดจนมุ่งไปสู่วิถีแห่ง การพัฒนายั่งยืน (Sustainability) อีกด้วย

แนวคิด และทฤษฎี ในเรื่องต่างๆ ที่ได้ทรงคิดพิจารณาอย่างถ่องแท้ และได้พระราชทาน ให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานนั้น จะเป็นประโยคง่ายๆ แต่ได้ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดี เป็นข้อความง่ายๆ ที่มีความหมายลึกซึ้ง และบางครั้ง บ่งบอกถึงวิธีดำเนินการไว้ ด้วยอย่างเบ็ดเสร็จในตัวเอง  ตัวอย่างเช่น

  • น้ำดีไล่น้ำเสีย
  • 4 น้ำ 3 รส
  • แกล้งดิน
  • ป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง
  • ปลูกป่าแบบไม่ปลูก
  • ขาดทุนเป็นกำไร
  • ทฤษฎีใหม่
  • โครงการแก้มลิง
  • เส้นทางเกลือ

“…..การพัฒนาชนบท เป็นงานที่สำคัญ เป็นงานที่ยาก เป็นงานที่จะต้องทำให้ได้ ด้วยความสามารถ ด้วยความเฉลียวฉลาด คือ ทั้งเฉลียว ทั้งฉลาด ต้องทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ มิใช่มุ่งที่จะหากิน ด้วยวิธีการใดๆ ใครอยากหากิน ขอให้ลาออกจากตำแหน่ง ไปทำการค้าดีกว่า เพราะว่าถ้าทำผิดพลาดไปแล้ว บ้านเมืองเราล่มจม และเมื่อบ้านเมืองของเรา ล่มจมแล้ว เราอยู่ไม่ได้ ก็เท่ากับเสียหมดทุกอย่าง …..”  ส่วนหนึ่งของพระบรมราโชวาท พระราชทานแก่ คณะผู้บริหารงานเร่งรัดพัฒนาชนบท  ระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน  เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2512

hmc01261060p1 728x521 1

จากพระราชกรณียกิจ ที่ทรงทุ่มเทพระวรกาย เพื่อประชาชนชาวไทยมาตลอด อันได้นำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรอย่างยั่งยืน ไปจนถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ของชาวไทย  และชาวต่างประเทศ ซึ่งตรงกับวัตถุประสงค์หลัก ของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP)

เป็นผลให้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นบุคคลแรก ที่ได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล United Nations Development Programme – UNDP Human Development Lifetime Achievement Award

รางวัลนี้เป็นตัวแทนของความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นในระดับชาติภูมิภาค หรือสากล ซึ่งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความเป็นมนุษย์อย่างเดียว ยีงรวมถึง ความสามารถและตัวเลือกที่มากขึ้นในการใช้ชีวิตอย่างมีความรู้ แข็งแรง และสร้างสรรค์

เมื่อทรัพยากร มนุษย์มีคุณภาพแล้ว ย่อมหมายถึงเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น สิทธิมนุษยชน ที่เป็นธรรมยิ่งขึ้น ความปลอดภัยและความร่วมมือที่เพิ่มขึ้น ตลอดจน อิสรภาพทางการเมืองที่มากขึ้นอีกด้วย

ข้อมูลจาก :  สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

อ่านข่าวเพิ่มเติม 

Avatar photo