Politics

สธ.จับมือ 46 รพ.เอกชน เร่ง ‘ฉีดวัคซีนเด็กเล็ก’ หลังพบเสียชีวิตสูงกว่าเด็กโต 3 เท่า

สธ.จับมือ 46 รพ.เอกชน เร่ง ‘ฉีดวัคซีนเด็กเล็ก’ หลังพบเสียชีวิตสูงกว่าเด็กโต 3 เท่า แนะหนาวนี้ พาลูกเที่ยว ควรรับวัคซีนก่อน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค, นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ นพ.เฉลิมกุล อภิบุณโยภาส กรรมการบริหารสมาคมโรงพยาบาลเอกชน แถลงข่าวการฉีดวัคซีนโควิด-19 ฝาสีแดงเข้ม ในเด็ก 6 เดือน-4 ปี

วัคซีนเด็กเล็ก

ติดเชื้อในเด็กเพิ่มขึ้น

โดยระบุว่า ขณะนี้สถานการณ์การติดเชื้อโควิดในเด็กเล็กเพิ่มมากขึ้น มีอัตราการเสียชีวิตคิดเป็น 0.03% โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง ทั้งนี้ ข้อมูลของการรับวัคซีนพบว่าช่วยป้องกันอัตราการเสียชีวิตได้ 100% ในคนที่รับวัคซีน 4 เข็ม, ป้องกันการเสียชีวิตได้ 93% ในคนที่รับวัคซีน 3 เข็ม

โดยในส่วนของเด็กเล็ก 6 เดือน-4 ปี ในต่างประเทศจนถึงขณะนี้ ยังไม่พบมีรายงานผลข้างเคียงจากวัคซีน เช่นเดียวกับไทย ที่เริ่มมีการฉีดวัคซีนไปเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล ก็ยังไม่มีรายงานถึงผลข้างเคียงจากวัคซีน และเพื่อให้การเข้าถึงวัคซีนในเด็กเล็กมีมากขึ้น จึงได้มีแนวคิดถึงภาคเอกชนร่วมสนับสนุนการฉีดวัคซีน

เด็กเล็กเสียชีวิตสูงกว่าเด็กโต 3 เท่า

หากเปรียบเทียบจำนวนการติดเชื้อและเสียชีวิต ในเด็กเล็ก 6 เดือน ถึง 4 ปี กับกลุ่มเด็กโต 5-11 ปี พบว่า มีอัตราการป่วยมากกว่าถึง 1.5 เท่า และมีอัตราการเสียชีวิตถึง 3 เท่า

นพ.โสภณ ยังกล่าวอีกว่า ในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา เด็ก 6 เดือน ถึง 4 ปี เสียชีวิตถึง 69 คน และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ 443 คน การรับวัคซีนในเด็กเล็กต้องรับ 3 เข็ม ภายในระยะเวลา 3 เดือน แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จากนั้น เข็มที่ 1 ห่างจากเข็ม 2 ระยะเวลา 1 เดือน และเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มที่ 3 ระยะเวลา 2 เดือน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็ก

วัคซีนเด็กเล็ก

ควรรับวัคซีนเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กมีโรคประจำตัว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ราชวิทยาลัยกุมารฯ สนับสนุนให้เด็กเล็กมีการรับวัคซีน เนื่องจากเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ยังไม่ได้รับและพบว่าปัจจุบันอัตราการติดเชื้อในเด็กเล็กสูงขึ้น โดยเฉพาะเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี และเด็กที่มีโรคประจำตัว ทั้งหัวใจ หลอดเลือด เบาหวาน ไตวาย ภูมิคุ้มกันบกพร่อง ดาวน์ซิมโดรม หรือโรคทางพันธุกรรม มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น ส่วนเด็กที่มีการติดเชื้อแล้วก็ควรรับวัคซีนเช่นกัน โดยอาจห่างจากระยะเวลาการติดเชื้อ 2 เดือน

พร้อมแนะนำผู้ปกครองที่ต้องการเดินทางไปท่องเที่ยวรับฤดูหนาวว่า ควรพาบุตรหลานรับวัคซีน ก่อนเดินทางท่องเที่ยวเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เนื่องจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

นพ.เฉลิมกุล กล่าวว่าสำหรับ รพ.เอกชน ที่เข้าร่วมการฉีดวัคซีนในครั้งนี้ มีรวม 46 แห่ง ประกอบด้วย รพ.เอกชนใน กทม. 27 แห่ง รพ.เอกชนในปริมณฑล 9 แห่ง และ รพ.เอกชนในต่างจังหวัด 10 แห่ง

ซึ่งการให้บริการฉีดวัคซีนในเด็กเล็กนี้ ทาง รพ.จะไม่มีการคิดค่าบริการ หรือ ค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่ม เพียง แต่ขอให้ผู้มีความประสงค์ฉีดวัคซีนโทรมานัดหมายก่อน ที่ รพ.เอกชน โดยผู้ปกครองที่สนใจ สามารถโทรศัพท์มาสอบถามโรงพยาบาลที่เข้าร่วมให้บริการ ผ่าน 1422

โรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการฉีดวัคซีนเด็กเล็ก

วัคซีนเด็กเล็ก

วัคซีนเด็กเล็ก

วัคซีนเด็กเล็ก

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo