Politics

‘ในหลวง-พระราชินี’ เสด็จฯเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ ‘ในหลวง รัชกาลที่ 9’

เมื่อเวลา 17.53 น. วันที่ 13 ต.ค. 2565 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จากพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ไปทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เขตตุสิต กรุงเทพมหานคร โดยมีคณะกรรมการโครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติ ฯ และประชาชน เฝ้า ฯ รับเสด็จ

S 5874751

S 5874753

การนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา โดยเสด็จฯ ด้วยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีลจบ เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ไปยังมณฑลพิธีบวงสรวง เสด็จฯ ไปยังโต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนทอง เทียนเงิน และธูปที่โต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย แล้วทรงจุดธูปหางปักที่เครื่องสังเวย ขณะนี้ โหรหลวงลั่นฆ้องชัย พรมหมณ์เป่าสังข์ พนักงานภูษามาลาแกว่งบัณเฑาะว์ ชาวพนักงานประโคมแตร ดุริยางค์

S 5874752

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งพระราชสัตยาธิษฐานถวายเครื่องราชสักการะ ทรงโปรยข้าวตอก ดอกไม้ ที่โต๊ะเครื่องบวงสรวงสังเวย ทรงคม เสด็จออกจากมณฑลพิธีบวงสรวง เสด็จฯ ไปยังแท่นทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ขณะนี้ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ทหารกองเกียรติยศ สำหรับพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ ถวายความเคารพ ดุริยางค์บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี ชาวพนักงานประโคมกระทั่ง แตร มโหระทึก

S 5874106

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิมแผ่นคำจารึกที่ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ทรงกราบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงวางพุ่มดอกไม้ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และทรงวางพุ่มดอกไม้ส่วนพระองค์ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ทรงกราบ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ ทรงกราบ

706287

เสด็จเข้าพลับพลาพิธี ทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ประทับพระราชอาสน์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก เสด็จฯ ไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์ เสด็จออกจากพลับพลาพิธี ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระบรมมหาราชวัง

หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียม พวงมาลาและพวงมาลัยดอกไม้ ให้ องคมนตรี นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี หน่วยงานในพระองค์ หน่วยงานข้าราชการต่าง ๆรวมถึงประชาชนเข้าถวายสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ด้วย

S 5874109

สำหรับพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีขนาดความสูง 7.7 เมตร หรือขนาด 4 เท่าครึ่งของพระองค์จริง ทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หันพระพักตร์ไปทางพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต ถนนศรีอยุธยา หล่อด้วยโลหะสำริด ฐานพระบรมรูปตั้งอยู่บนลานรูปไข่ ส่วนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์เป็นผังแปดเหลี่ยม ตามคติพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ อันเป็นสัญลักษณ์เบื้องแรกแห่งการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

S 5874115

ส่วนแท่นฐานพระบรมราชานุสาวรีย์ทั้ง 8 เหลี่ยม มีแผ่นจารึกถึงพระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อนำพาประเทศชาติอยู่ดีมีสุข อันก่อให้เกิดความผูกพันและความจงรักภักดีที่ประชาชน มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเอกลักษณ์สำคัญของไทยที่ไม่มีชาติใดเสมอเหมือน

S 5874110

โดยคำจารึกทั้ง 8 ด้าน ประกอบด้วย แผ่นจารึกที่ 1 ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพ วันจันทร์ ที่ 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2470 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ วันอาทิตย์ ที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2489 เสด็จสวรรคต วันพฤหัสบดี ที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูรกิติสิริสมบูรณอดูลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวิโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี มาทรงประกอบพิธิเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์ เมื่อวันพฤหัสบคิ ที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2565

S 5874103

แผ่นจารึกที่ 2 ด้านทิศตะวันออกพระราชาผู้ทรงธรรม พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการ “เราจะครองแผ่นเดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” เมื่อวันที่ทรงรับพระบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย โดยสมบูรณ์ตามโบราณขัตติยราชประเพณี ทรงหลั่งทักษิโณทกตั้งพระราชสัตยาธิษฐานว่าจะทรง บำเพ็ญสรรพราชกรณียกิจด้วยทศพิธราชธรรม ตลอดระยะเวลา 70 ปีแห่งการครองสิริราชสมบัติ ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกายและกำลังพระสติปัญญาเพื่อบำบัดทุกข์บำารุงสุขให้แก่อาณาประชาราษฎร์ สมดังพระราชปณิธานที่พระราชทานแก่ปวงชนชาวไทยไว้ทุกประการ

แผ่นจารึกที่ 3 ด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ กลางใจราษฎร์ “ที่ของข้าพเจ้าในโลกนี้คือ การที่ได้อยู่ท่ามกลางประชาชนของข้าพเจ้า นั่นคือคนไทยทั้งปวง’ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดารทั่วพระราชอาณาจักร ทำให้ทรงใกล้ชิดกับพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ทรงเห็นถึงปัญหาความทุกข์ยากของราษฎร จึงทรงศึกษาหาวิธีแก้ไข นำมาซึ่งโครงการอันเนืองมาจากพระราชดำริกว่า 4,000โครงการ ด้วยทรงมุ่งหมายให้พสกนิกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น การอุทิศพระองค์ทรงงานด้วยพระวิริยะอุตสาหะ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้แก่ราษฎรตลอดรัชสมัย ก่อให้เกิดความผูกพันและความจงรักภักดีที่ประชาชนมีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเอกลักษณ์สำคัญของไทยที่ไม่มีชาติใดเสมอเหมือน

S 5874101

แผ่นจารึกที่ 4 ด้านทิศใต้ ปราชญ์ของแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นนักคิดและนักปฏิบัติ พระวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลอันเกิดจากการทรงงานหนักและต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ทรง “เข้าใจ” “เข้าถึง” ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงทรงให้ความสำคัญต่อการจัดการทรัพยากรน้ำ ดิน และป่าไม้ ว่าเป็นปัจจัยพื้นฐานของการทำมาหาเลี้ยงชีพของราษฎร เกิดเป็นแนวพระราชดำริด้านการเกษตร ‘การเกษตรตามหลักทฤษฎีใหม่’ อันเป็นแนวทางการบริหารจัดการที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็ก ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกทั้งยังพระราชทานแนวพระราชดำริ ‘หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง’ เพื่อเป็นหลักในการดำเนินชีวิต โดยเน้นการพึ่งพาตนเอง บนพื้นฐานของความพอประมาณ ความมีเหตุผล และมีคุณธรรม

แผ่นจารึกที่ 5 ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ พระภูมินทร์บริบาล พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา พระอัจฉริยภาพในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ที่ทรงประยุกต์ใช้กับการพัฒนาประเทศทุก ๆ ด้านของพระองค์ เปรียบประดุจเป็น “พลังแห่งแผ่นดิน” เป็น “ภูมิคุ้มกัน” นำพาประเทศไปสู่ความมั่นคงและการพัฒนาที่ยั่งยืน พระราชกรณียกิจเพื่อการพัฒนาและเสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศ ครอบคลุมทั้งด้านการแพทย์และสาธารณสุข การคมนาคม การชลประทาน การศึกษา เทคโนโลยี ศาสนาและศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งการเจริญทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศ

706305

แผ่นจารึกที่ 6 ด้านทิศตะวันตก นวมินทร์โลกกล่าวขาน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับการถวายพระราชสมัญญาเพื่เฉลิมพระเกียรติคุณ อาทิ อัครศิลปิน พระบิดาแห่งการจัดการทรัพยากรน้ำพระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย พระบิดาแห่งฝนหลวง พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย พระบิดาแห่งการอนุรักษ์มรดกไทย พระผู้ทรงเป็นครูแห่งแผ่นดิน นอกจากนี้ ได้มีการถวายพระนามด้วยความจงรักภักดี อาทิกษัตริย์เกษตร กษัตริย์นักพัฒนา และกษัตริย์นักกีฬา พระเกียรติคุณของพระองค์ ไม่เพียงแต่เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่ใจคนไทยทั้งชาติเท่านั้น หากแต่ยังปรากฎชัดต่อสายตานานาอารยประเทศอีกด้วย ทรงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลหลากหลายสาขาจากสถาบันและองค์กรต่างประเทศ เช่น “รางวัลความสำเร็จสูงสุดด้านการพัฒนามนุษย์” ที่องค์การสหประชาชาติทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ในฐานะที่ทรงเป็นนักคิด และทรงมีคุณูปการต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน นับเป็นเกียรติภูมิอันสูงสุดของประเทศชาติและชาวไทยทั้งปวง

706306

แผ่นจารึกที่ 7 ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือสืบสาน รักษา และต่อยอด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชจริยวัตรอันงดงาม ทรงเป็นต้นแบบแห่งความเพียรในการทำความดี และทรงอุทิศพระองค์เพื่อประเทศชาติและประชาชน พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตรพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงน้อมนำมาเป็นพระราชปณิธาน “สืบสาน รักษา และต่อยอด” ในการมุ่งมั่นทำความดีเพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎร์และความวัฒนาสถาพรของประเทศชาติสืบไป

แผ่นจารึกที่ 8 ด้านทิศเหนือ บรมราชสดุดี เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ผู้เป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างพระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้ขึ้น ณ พื้นที่ซึ่งทรงอุทิศให้เป็นสวนสาธารณะ มีภูมิสถาปัตย์ตามแบบอย่าง โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อถวายเป็นพระเกียรติยศให้ปรากฎแผ่ไพศาลสืบไปตลอดนิรันดร์กาล

S 5874749

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight