Politics

กอนช. เตรียมระบายน้ำ ‘เขื่อนเจ้าพระยา’ เข้า ’10 ทุ่งลุ่มต่ำ’ 30 ก.ย.นี้ รับมือฝนเดือน ต.ค.

กอนช. เตรียมระบายน้ำ ‘เขื่อนเจ้าพระยา’ เข้า 10 ทุ่งลุ่มต่ำ 30 ก.ย.นี้ รับมือฝนเดือน ต.ค. พร้อมคุมไม่ให้กระทบกรุงเทพ

นายฐนโรจน์ วรรัฐประเสริฐ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ ในฐานะโฆษกสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(สทนช.) กล่าวว่า ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคกลาง กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เห็นชอบแผนเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา

กอนช.

โดยพิจารณาใน 2 กรณีคือ มีน้ำไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ 2,500 ลบ.ม./วินาที และ 3,000 ลบ.ม./วินาที ซึ่งจะระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตราที่เหมาะสม โดยควบุคมควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้อยู่ในเกณฑ์ 3,000 ลบ.ม./วินาที โดยหากมีปริมาณน้ำที่จะไหลไปถึงบางไทรเกิน จะพิจารณาแบ่งน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าทุ่งพื้นที่ลุ่มต่ำ 10 ทุ่ง ทั้งนี้การคาดการณ์ว่า จะมีปริมาณสูงสุดไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 ของเดือนตุลาคม 2565

ดังนั้น ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการรับน้ำเข้าทุ่ง จะเริ่มประมาณวันที่ 30 ก.ย.65 ซึ่งจะรับน้ำผ่านเข้าทุ่งที่ความสูง 30 เซนติเมตร เพื่อให้ในทุ่งยังมีพื้นที่ว่างรองรับน้ำหลาก และน้ำฝนที่คาดว่าจะตกเพิ่มในพื้นที่ช่วงเดือนตุลาคม

สำหรับการควบคุมปริมาณน้ำไหลผ่านอำเภอบางไทรที่ 3,000 ลบ.ม./วินาที เป็นการปรับลดเกณฑ์ลง จากเกณฑ์ควบคุมเดิมที่ 3,500 ลบ.ม./วินาที เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อพื้นที่ด้านท้ายลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และปริมณฑล

กอนช.

ประสานขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นายฐนโรจน์กล่าวว่า ได้ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้

  1. ประชาสัมพันธ์ชี้แจง สร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ล่วงหน้า ก่อนดำเนินการเปิดรับน้ำเข้าทุ่ง และให้จัดทำประกาศแจ้งโดยมีรายละเอียด ช่วงวันที่ ลำดับในการรับน้ำเข้าทุ่ง ความสูงระดับน้ำที่รับเข้า ประโยชน์ที่เกษตรกรจะได้รับเช่น การปล่อยปลา การส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง โดยจังหวัดออกประกาศและกรมชลประทานสนับสนุนข้อมูล
  2. จัดเตรียมถุงยังชีพ กรณีน้ำท่วมบ้านเรือนหรือประชาชนไม่สามารถสัญจรออกมาได้ ดำเนินการโดยจังหวัด
  3. สนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกเช่น จัดทำสะพาน หรือทางเชื่อมเพื่อสามารถสัญจรเข้า-ออกได้ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  4. สนับสนุนกำลังพลในการช่วยเหลือขนย้ายสิ่งของขึ้นบนที่สูง โดยกองบัญชาการกองทัพไทย
  5. จัดหาศูนย์อพยพและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้ประชาชนในทุ่งรับน้ำได้อาศัยจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดำเนินการโดยจังหวัด
  6. ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมและเครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำ เพื่อควบคุมมิให้ระดับน้ำสูงเกินเกณฑ์หรือน้ำเอ่อล้น โดยกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กอนช.

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo