Politics

’17 องค์กรวิชาชีพแพทย์’ ระบุ ‘นโยบายกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด-ปลูกเสรี’ จะส่งผลเสียต่อประเทศ

’17 องค์กรวิชาชีพแพทย์’ ออกข้อเสนอ ‘นโยบายกัญชาของประเทศ’ พร้อมเสนอ 5 หลักการ ใช้กัญชาทางการแพทย์ให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา 17 องค์กรวิชาชีพด้านการแพทย์ ได้ร่วมออก “ข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายกัญชาของประเทศไทย” โดยระบุว่า นโยบายกัญาไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ และ ให้ประชาชนปลูกกัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือนได้เอง จะส่งผลเสียต่อประเทศในอนาคต ดังนี้

นโยบายกัญชา

ข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายกัญชาของประเทศไทย

กัญชามีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทมากมาย โดยเฉพาะสารเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydro cannabinol, THC) ซึ่งมีฤทธิ์เสพติดและมีมากในช่อดอก สารนี้ทำให้เคลิบเคลิ้ม เกิดการเสพติดและอยากเสพเพิ่มขึ้นได้ ทำให้ผู้เสพติดไม่สามารถควบคุมตนเองได้ การเสพติดกัญชาเป็นโรคที่ถูกระบุอยู่ในระบบการวินิจฉัยโรคสากล และต้องได้รับการรักษา

กัญชาเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะสั้นได้ (เช่น ทำให้เกิดอุบัติเหตุ หัวใจเต้นผิดจังหวะ อาการโรคจิต) และเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีปัญหาสุขภาพทรุดโทรมในระยะยาว (เช่น เชาวน์ ปัญญาเสื่อม โรคจิตเภท โรคหัวใจและหลอดเลือด) ปัญหาสุขภาพเหล่านี้พบบ่อยและรุนแรงมากขึ้นในเด็กและวัยรุ่น สตรีตั้งครรภ์ และสตรีให้นมบุตร

จากเหตุผลดังกล่าว กัญชา พืชกัญชา และวัตถุหรือสารต่าง ๆ จากกัญชาที่มี THC สูงหรือไม่ทราบปริมาณ ที่แน่ชัด ทั่วโลกจึงกำหนดกัญชาให้เป็นยาเสพติตให้โทษและเป็นสาระสำคัญของข้อเสนอนี้

กัญชาทางการแพทย์นำมาใช้ได้เมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาและวิธีการรักษาตามมาตรฐาน ปัจจุบันแพทย์ใช้ กัญชาบรรเทาอาการได้ไม่เกิน 6 ภาวะ และเป็นการบรรเทาอาการเท่านั้น การใช้ในกรณีอื่นควรทำในรูปแบบงานศึกษาวิจัย

กฎหมายของประเทศไทยได้กำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มานาน แต่ประกาศของกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 (ซึ่งมีผลเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565) ทำให้ทุกส่วนของกัญชาไม่เป็นยาเสพติดให้โทษอีกต่อไป

ส่งผลให้ประชาชนทั่วไป สามารถปลูกและเสพกัญชาได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียมากมายต่อสุขภาพ ครอบครัวและสังคม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

นโยบายกัญชา

แนวคิด 2 ข้อที่กำลังก่อปัญหาในปัจจุบัน และผลเสียต่อไปในอนาคต

ประเทศไทยขณะนี้มีแนวคิดหลากหลายในการบริหารจัดการกัญชา พืชกัญชา และวัตถุหรือสารต่าง ๆ จากกัญชา แต่แนวคิด 2 ข้อที่กำลังก่อปัญหาในปัจจุบันและผลเสียต่อไปในอนาคต คือ

  1. กัญชาไม่ใช่ยาเสพติดให้โทษ ในทางการแพทย์และกฎหมายสากล กัญชาคือยาเสพติดให้โทษ จึงต้องมีกฎหมายควบคุมเพื่อไม่ให้ใช้ในทางที่ผิด การกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ ตามทางการแพทย์และกฎหมายสากล จะทำให้หน่วยงานรัฐนำกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับยาเสพติดมาควบคุมการใช้กัญชาในทางที่ผิดได้ การมุ่งให้ความรู้โดยไม่มีกฎหมายควบคุม ไม่สามารถจัดการปัญหายาเสพติดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังจะเห็นว่า หลังวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2565 องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ มากมายต้องออกกฎระเบียบของตนเพื่อปกป้องคนในองค์กรหรือหน่วยงานจากกัญชาแทนกฎหมายจากรัฐบาล
  2. การให้ประชาชนปลูกและใช้กัญชารักษาโรคเอง แนวคิดนี้ขัดแย้งกับกัญชาทางการแพทย์และการควบคุม การใช้กัญชาในทางที่ผิด เนื่องจาก

(ก) กัญชาที่ประชาชนทั่วไปปลูกเป็นกัญชาที่ไม่มีคุณภาพและปนเปื้อนง่าย : กัญชาเป็นพืชที่ดูดซับสารพิษ และโลหะหนักได้มาก การปลูกแบบมีคุณภาพทำได้ยากและทำให้สารสำคัญ เช่น THC, CBD ในผลผลิตมีปริมาณที่ไม่แน่นอน

(ข) ประชาชนไม่มีความรู้ด้านกัญชาทางการแพทย์มากพอ ในขณะที่กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษที่อันตราย กัญชาทางการแพทย์ก็เป็นศาสตร์ที่ลึกซึ้งและมีรายละเอียดมาก เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ประเทศไทยและประเทศต่าง ๆ ได้กำหนดให้แพทย์และเภสัชกร ต้องได้รับการอบรมกัญชาทางการแพทย์ก่อนจึงจะให้รักษาได้ การให้ผู้ที่ไม่มีความรู้ด้านกัญชาทางการแพทย์รักษาผู้ป่วย นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังอาจก่อให้เกิดโทษร้ายแรงต่อผู้ป่วยได้อีกด้วย

(ค) การไม่สามารถแยกระหว่างกัญชาทางการแพทย์กับกัญชาเพื่อนันทนาการ ผู้ที่เสพกัญชาเพื่อนันทนาการ สามารถใช้เหตุผลทางการแพทย์เพื่อคงการใช้แบบนันทนาการของตน

(ง) เยาวชนหรือคนอื่นเข้าถึงกัญชาได้โดยง่าย เนื่องจากผู้ปลูกอาจจะมีความย่อหย่อน ในการป้องกันการเข้าถึงกัญชาของเยาวชนหรือคนอื่น

(จ) การนำกัญชาไปผสมอาหารจนเกิดผลเสียต่อสุขภาพ โดยไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบได้

(ฉ) การเสพเพื่อนันทนาการที่บ้านไม่เป็นความผิด ทั้งที่การเสพนั้นจะเป็นผลเสียต่อผู้เสพและผู้ใกล้ชิดในครอบครัว รวมทั้งเด็กและเยาวชน ทั้งในระยะฉับพลันและระยะยาว

นโยบายกัญชา

หลักการที่เป็นประโยชน์ สำหรับกัญชาทางการแพทย์

การทำให้กัญชาทางการแพทย์เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ควรมีหลักการเบื้องต้น ดังนี้

  1. การดำเนินการและการบำบัดรักษาโรค/ภาวะใด ต้องอิงหลักฐานเชิงประจักษ์แบบปัจจุบัน ส่วนความเชื่อ หรือความรู้ดั้งเดิมนั้น ให้มีการพิสูจน์ด้วยกระบวนการวิจัยที่ได้มาตรฐาน จนทราบถึงประโยชน์และโทษอย่างถ่องแท้ก่อนนำไปใช้กับผู้ป่วย
  2. ผลิตภัณฑ์กัญชาต้องมีคุณภาพและอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติยา : เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยผลิตภัณฑ์กัญชา ผลิตภัณฑ์ที่นำมาใช้ต้องไม่มีสารปนเปื้อน ใช้สารสกัดและมีปริมาณของสารออกฤทธิ์ที่สำคัญ คือ THC และ CBD คงที่ในทุกผลิตภัณฑ์ที่จำหน่าย ผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อการแพทย์ควรอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติยา เช่น มีการขึ้นทะเบียนยา ข้อบ่งใช้ ข้อห้ามใช้ข้อควรระวัง เอกสารกำกับยา เป็นต้น
  3. กลุ่มผู้ให้การรักษา เช่น แพทย์ เภสัชกร ต้องได้รับการอบรมการใช้กัญชามาก่อน
  4. ผู้ป่วยต้องได้รับการคัดกรองและประเมินตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการรักษา
  5. มีหน่วยงานภาครัฐกำกับดูแลผลิตภัณฑ์กัญชา เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดหา และบริหารผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์ โดยอาจดำเนินการเช่นเดียวกับยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ที่ถูกนำมาใช้ทางการแพทย์อยู่แล้ว เช่น มอร์ฟีน เมธาโดน

ด้วยวิธีการเช่นนี้ นอกจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะจัดหาผลิตภัณฑ์กัญชาที่มีคุณภาพให้แล้ว ยังสามารถควบคุมมิให้เกิดการนำผลิตภัณฑ์กัญชาไปใช้ในทางที่ผิดได้อีกด้วย

นโยบายกัญชา

ปลูกเสรี มีผลเสียทังสุขภาพ และเศรษฐกิจ

เนื่องจากหลายประเทศยังกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ และกัญชาที่ได้จากการปลูกโดยบุคคลทั่วไป ไม่มีคุณภาพและมีสารปนเปื้อนสูง ระบบการปลูกและผลิตกัญชาของไทยในปัจจุบัน จึงไม่สามารถส่งออกไปขายยังต่างประเทศและก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้

การส่งเสริมการปลูกกัญชามากจะทำให้กัญชาล้นตลาด (ภายในประเทศ) ราคาต่ำลงและนำมาใช้เองได้ง่าย หรือเกิดแรงจูงใจให้ใช้เองมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้เพื่อนันทนาการ ทำให้ได้รับสารพิษและธาตุโลหะหนักจากกัญชา ซึ่งท้ายที่สุดจะเกิดผลเสียมากมายต่อสุขภาพและเศรษฐกิจที่จะตามมา

จากเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว แพทยสภา แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ และราชวิทยาลัยต่าง ๆ ขอเน้นให้ใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถูกวิธีที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ขอคัดค้านการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการ และขอให้ทุกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับกัญชาได้มีกลไกที่จะยับยั้งการใช้กัญชาเพื่อนันทนาการด้วยเสมอ

ทั้งนี้ 17 องค์การวิชาชีพด้านการแพทย์ ที่ร่วมลงนาม ออกข้อเสนอเกี่ยวกับนโยบายกัญชาของประเทศไทย ประกอบด่วย

  1. แพทยสภา
  2.  แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  
  3. ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
  4. ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
  5. ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
  6. ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย
  7. ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย
  8. ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย
  9. ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย
  10. ราชวิทยาลัย โสต ศอ นาสิกแพทย์แห่งประเทศไทย
  11. ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
  12. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย
  13. ราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย
  14. ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย
  15. ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย
  16. ราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย
  17. วิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยฯ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo