Politics

ย้อนรอย ‘8 ปี ประยุทธ์’ กับคดีในศาลรัฐธรรมนูญ

การที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติเป็นเอกฉันท์ รับคำร้องฝ่ายค้าน ปม “นายกฯ 8 ปี” วินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น ทำให้คดีนี้เป็นคดีที่ 4 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ นับแต่ที่เข้าดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศ

บีบีซีไทย รายงานว่า นับตั้งแต่ที่เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของไทย “พล.อ.ประยุทธ์” วัย 68 ปี มีเรื่องราวที่ผ่านการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 3 เรื่องด้วยกัน ซึ่งผลปรากฏว่า ไม่ศาลสั่งยกคำร้อง ก็ตีความว่าไม่ผิดรัฐธรรมนูญด้วยมติ “เอกฉันท์” ทุกคดี

ประยุทธ์

11 กันยายน 2562 “ประุยุทธ์” จบ “คดีถวายสัตย์ฯ”

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา โดยให้เหตุผลว่า “ไม่อยู่ในอำนาจการตรวจสอบขององค์กรใดตามรัฐธรรมนูญ เพราะการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์เป็นการกระทำทางการเมืองของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในฐานะองค์กรตามรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหาร ในความสัมพันธ์เฉพาะกับพระมหากษัตริย์”

คดีนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย กรณี พล.อ. ประยุทธ์ นำ ครม. กล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2562 ไม่ครบถ้วน เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 อันเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องเรียนหรือไม่

เจ้าของคำร้องดั้งเดิมคือ นายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ยื่นต่อผู้ตรวจฯ เพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีถวายสัตย์ไม่ครบถ้วนอาจขัดรัฐธรรมนูญ และมีผลทำให้การกระทำในเวลาต่อมาของรัฐบาล เช่น การตั้ง ครม. การแถลงนโยบาย การโยกย้ายข้าราชการเป็นโมฆะไปด้วย

ถ้อยคำที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 161 คือ “ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

แต่ในคลิปภาพ และเสียงที่ปรากฏในข่าวพระราชสำนัก พล.อ. ประยุทธ์ ไม่ได้กล่าวถ้อยคำที่ว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” อีกทั้งยังเติมคำว่า “ตลอดไป” เข้าไปในช่วงท้าย

ประยุทธ์

18 กันยายน 2562 หลุด “คดีเจ้าหน้าที่รัฐ”

ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พล.อ. ประยุทธ์ไม่มีลักษณะต้องห้าม ในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มาจากการยึดอำนาจการปกครองประเทศ การแต่งตั้งหัวหน้า คสช. เป็นผลสืบเนื่องมาจากการยึดอำนาจ และเป็นการใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ อีกทั้งไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของหน่วยงานใด และมีอำนาจหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราวในช่วงระยะเวลาหนึ่ง

ดังนั้น หัวหน้า คสช. จึงไม่มีสถานะ ตำแหน่งหน้าที่ หรือลักษณะงานทำนองเดียวกับหน่วยงานราชการ และไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ พล.อ. ประยุทธ์ จึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 (6) ประกอบมาตรา 98 (15) ของรัฐธรรมนูญ

“อาศัยเหตุผลดังกล่าว ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้อง (พล.อ. ประยุทธ์) จึงไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวเพราะเหตุที่เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ

คดีนี้ ส.ส. 7 พรรคฝ่ายค้านได้ยื่นคำร้องผ่านประธานสภา ขอให้พิจารณาคุณสมบัติของ พล.อ. ประยุทธ์ว่ามีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ หรือไม่

ประยุทธ์

2 ธันวาคม 2563 หลุด “คดีพักบ้านหลวง”

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า พล.อ. ประยุทธ์ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรี จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไป 6 ปีแล้ว หรือที่รู้จักในชื่อ “คดีพักบ้านหลวง” เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบภายในของกองทัพบก (ทบ.) ปี 2548 ความเป็นรัฐมนตรีไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (5) และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5) ประกอบมาตรา 186 วรรคหนึ่ง และมาตรา 184 วรรคหนึ่ง (3)

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญระบุตอนหนึ่งว่า นายกฯ เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญของประเทศ นอกจากเป็นหัวหน้าของ ครม. ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว ยังมีฐานะเป็นผู้นำของประเทศ ความปลอดภัยของนายกฯ รวมทั้งครอบครัวมีส่วนสำคัญ รัฐมีหน้าที่จัดการดูแลให้ความปลอดภัยแก่นายกฯ และครอบครัวตามความเหมาะสมแก่สภาพการณ์

“การจัดบ้านพักรับรองที่ปลอดภัย มีความเป็นส่วนตัว สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกายและจิตใจในการปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐพึงจัดสรรให้มีที่พำนักแก่ผู้นำของประเทศขณะดำรงตำแหน่ง” ประธานศาลรัฐธรรมนูญกล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo