Politics

กอนช. เผย พายุเข้าไทยเดือน ก.ย.-ต.ค. นี้ จับตาเขื่อนอุบลรัตน์-ป่าสักฯ และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา

กอนช. เผย พายุเข้าไทยเดือน ก.ย.-ต.ค. นี้ จับตาเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ประสานหน่วยเกี่ยวข้องเฝ้าระวัง

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมคณะประเมินสถานการณ์น้ำเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนปี65 โดยระบุว่า ขณะนี้มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 10 แห่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากปัจจุบันมีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์กักเก็บน้ำสูงสุด (URC) แล้ว

กอนช.

10 เขื่อนใหญ่ ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เตือนก.ย.ต.ค. มีพายุเข้าไทย

ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ กิ่วลมและกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง แควน้อย จังหวัดพิษณุโลก อุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น น้ำพุง จังหวัดสกลนคร ป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดสระบุรี บางพระ จังหวัดชลบุรี และหนองปลาไหล จังหวัดระยอง รวมถึงบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์

ซึ่งเน้นย้ำให้ให้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) บริหารจัดการน้ำโดยให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำให้น้อยที่สุด รวมทั้งให้บริหารจัดการน้ำร่วมกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแม่น้ำด้วยเนื่องจากฝนที่ตกสะสมทำให้ดินอุ้มน้ำไว้นานอาจส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชนและพื้นที่การเกษตรได้

นอกจากนี้ ได้ให้เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่อยู่ตามเแนวร่องฝน และที่มีแนวโน้มจะมีพายุเข้า ในช่วงเดือนกันยายนต่อเนื่องเดือนตุลาคมนี้

ซึ่งพายุดังกล่าวจะเคลื่อนตัวผ่านพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือล่าง และภาคกลางตอนบน โดยคาดว่า จะส่งผลต่อปริมาณน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จึงต้องเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ ได้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง

สำรวจสถานการณ์น้ำ และความแข็งแรงของเขื่อน

ขณะเดียวกัน สทนช. ได้ประสานให้กรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำ เร่งสำรวจสถานการณ์น้ำของแหล่งน้ำขนาดเล็ก  รวมถึงความมั่นคงแข็งแรงของเขื่อนทั้งในส่วนที่อยู่ในความดูแลและที่ถ่ายโอนไปแล้ว รายงานกลับมายังสทนช.ภายในวันศุกร์นี้ (19 ส.ค. 65) เพื่อติดตามและวางแผนบริหารจัดการน้ำได้อย่างเหมาะสม ป้องกันกรณีน้ำล้นหรือเขื่อนชำรุดเสียหายได้ล่วงหน้าด้วย

กอนช.

พื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก และเฝ้าระวังระดับน้ำ

จากการ ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า มีพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักสะสมระหว่าง 17 -18 สิงหาคม รวม 5 จังหวัดแบ่งเป็น ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดตาก (อ.แม่สอด) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อ.แม่สะเรียง อ.แม่ลาน้อย และ อ.ขุนยวม) ภาคตะวันตกได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี (อ.ทองผาภูมิ) ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี (อ.มะขาม) และ ภาคกลาง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร

โดยพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังระดับน้ำล้นตลิ่งอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน จ.พะเยา และ จังหวัดเชียงรายนอกจากนี้รวมทั้งยังคงต้องเฝ้าระวังระดับน้ำโขงที่อาจเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 3 จังหวัดได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ และ จังหวัดนครพนม

จากนี้ไป กอนช.จะพิจารณาแนวทางการแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ และการคาดการณ์ฝน 3 วันล่วงหน้า ลงถึงระดับจังหวัดผ่านคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องได้วางแผนรับมือได้ทันสถานการณ์รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนรับทราบล่วงหน้าด้วย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo