Politics

‘ฝีดาษลิง’ หรือเมืองไทย จะไม่รอด จากโรคประจำถิ่น?

‘ฝีดาษลิง’ หรือเมืองไทย จะไม่รอด จากโรคประจำถิ่น แพทย์เผยประเด็นสำคัญ ผู้ติดเชื้อและผู้ที่จะรับเชื้อ ไม่รู้ตัวทั้งคู่

เพจเฟซบุ๊ก แพทยสภา ได้เผยแพร่บทความ ของ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อมร ลีลารัศมี กรรมการแพทยสภา และ รองอธิการบดี ม.สยาม ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่อง ฝีดาษลิง…หรือเมืองไทย จะไม่รอด จากโรคประจำถิ่น? ดังนี้

ฝีดาษลิง

ฝีดาษลิง…หรือเมืองไทย จะไม่รอด จากโรคประจำถิ่น?

สถานการณ์ของโรคระบาดฝีดาษ ลิง ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2565 จากรายงานของ US-CDC แจ้งว่า มีผู้ติดเชื้อยืนยันทั่วโลกแล้ว 28,220 รายจาก 88 ประเทศ  ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อนอกดงระบาดของโรคนี้ถึง 27,875 รายใน 81 ประเทศที่อยู่นอกทวีปแอฟริกา  แสดงว่า โรคนี้ยังระบาดตลอด 4 เดือนที่ผ่านมาจนองค์การอนามัยโรคได้ประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินทั่วโลกทางสาธารณสุข (PHEIC) ในวันที่ 23 กรกฎาคม

ประเด็นสำคัญคือ แม้จะมีองค์กรต่าง ๆ ให้ความรู้ในการป้องกันโรคอย่างชัดเจนแล้วก็ตาม ทำไมจึงยังมีการแพร่กระจายอยู่ได้ทั้งๆ ที่ทุกท่านก็ทราบวิธีการป้องกันโรคนี้อยู่แล้ว  หรือเรามาวิเคราะห์ดูว่า ยังมีความรู้วิชาการอะไรอีกไหม ที่จะทำให้ประชาชนเข้าใจเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยเสริมในการป้องกันโรค

ก่อนอื่นผมยังย้ำเหมือนเดิมว่า วิธีการติดต่อของโรคนี้นอกดงระบาดยังเหมือนเดิม คือเกิดจากการสัมผัสอย่างแนบเนื้อทางผิวหนังต่อผิวหนัง ปากกับปากหรือผิวหนัง โดยเฉพาะขณะมีเพศสัมพันธ์ วิธีติดต่อทางอื่นยังไม่เป็นประเด็นที่ต้องนำมาคิดในประเทศไทย

ฝีดาษลิง

ผู้ติดเชื้อและผู้ที่จะรับเชื้อ ไม่รู้ตัวทั้งคู่

เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่ามีประเด็นหนึ่งที่เราอาจจะนึกไม่ถึงคือว่า การแพร่เชื้อเกิดขึ้น โดยที่ผู้ติดเชื้อยังไม่รู้ตัวว่าตนเองติดเชื้อ และผู้ที่จะไปรับเชื้อก็คิดว่า ผู้ติดเชื้อคือผู้ที่มีผื่นพุพองขึ้นทั่วตัวตามใบหน้าและแขนขาแล้ว  หากตนเองไม่เห็นผื่นหรือตุ่มพุพองตามร่างกายดังกล่าว ก็ไม่น่าจะเป็นผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง

ความเชื่อแบบนี้อาจจะไม่ถูกต้องทีเดียวนัก และทำให้เกิดความชะล่าใจจนไปรับเชื้อ ทั้ง ๆ ที่ตนเองก็ระมัดระวังตัวอยู่แล้ว

ถ้าตั้งต้นว่า การติดเชื้อเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์  ในระยะแรก ผู้รับเชื้อจะมีเชื้อติดอยู่ตามแผลเล็ก ๆ ที่ผิวหนังตรงอวัยวะเพศ รูทวารหนัก รอบริมฝีปากหรือในช่องปาก โดยที่ผู้ติดเชื้อยังไม่มีอาการเฉพาะที่ในบริเวณนั้น เชื้อจะฝังตัวเข้าในแผลเล็กๆ และเพิ่มจำนวนขึ้น แล้วกระจายไปที่ต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองบวมโตก่อนจะแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด ระยะแรกนี้อาจจะกินเวลา 1 ถึง 7 วัน

ฝีดาษลิง

ในระยะต่อมาซึ่งเป็นระยะหลัง เชื้อที่เพิ่มจำนวนจะกระจายเข้าในกระแสเลือดอีกครั้ง และไปที่ต่อมน้ำเหลืองทั่วตัวและที่ใต้ผิวหนัง  ทำให้มีอาการตามระบบคือ ไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว  ที่สำคัญทำให้เกิดตุ่มที่ผิวหนังตามใบหน้า แขนขา ลำตัวและตำแหน่งอื่น ๆ อีก ต่อมาตุ่มเหล่านี้โตใหญ่ขึ้นเป็นตุ่มพองใสหรือขุ่นจนกระทั่งตกสะเก็ด ระยะหลังนี้ผู้ติดเชื้อจะรู้ตัวว่าติดเชื้อ บางรายไปหาแพทย์และเก็บตัวไม่ไปสัมผัสคนอื่น จนกระทั่งโรคหายใน 21 วัน

การแพร่เชื้อของโรคฝีดาษ ลิง จะเกิดได้ในระยะแรกและระยะหลังดังกล่าว  แต่ผู้ที่ติดเชื้อและคนทั่วไปจะทราบว่าติดเชื้อ เมื่อตนเองป่วยอยู่ในระยะหลัง  ทำให้การติดเชื้อเกิดขึ้นในระยะแรก โดยทั้งผู้ติดเชื้อและผู้ที่จะรับเชื้อไม่รู้ตัวทั้งคู่ ในขณะที่มีเพศสัมพันธ์ 

แม้จะตรวจดูแผลในผู้ติดเชื้อในระยะแรกก็อาจจะไม่เห็น จึงไม่สามารถใช้การดูแผลเล็ก ๆ ในระยะแรกมาบอกว่า มีการติดเชื้อมาแล้วหรือไม่?  การสวมถุงยางอนามัยก็ป้องกันโรคฝีดาษลิงไม่ได้

ฝีดาษลิง

แนะวิธี ป้องกันการติดเชื้อ

วิธีการป้องกันการติดเชื้อในระยะแรกนี้ที่ได้ผลคือ การหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้า หรือคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ถ้าจะให้ปลอดภัยในเรื่องเพศสัมพันธ์จากโรคนี้ ทั้งคู่จะมีเพศสัมพันธ์กันได้ต้องห่างจากการมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้ายอย่างน้อย 21 วันกับคนอื่นที่ไม่รู้จักกันมาก่อน และตนเองยังรู้สึกสบายดีเป็นปกติเท่านั้น  จึงจะลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในระยะแรกของโรคได้

หากเข้าใจตรงกันในประเด็นนี้ อาจจะทำให้ไม่เกิดการติดเชื้อในระยะแรกของโรค และไม่ทำให้มีการแพร่กระจายของโรคต่อไปในคนไทย

เนื่องจากขณะนี้ มีรายงานว่าคนไทยในประเทศ 2 รายติดเชื้อโรคฝีดาษ ลิง จากการมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว จึงขอให้คนไทยที่สงสัยว่า ตนเองอาจจะติดเชื้อ รีบเข้ารับการรักษาและดูแลตนเองไว้จนครบ 21 วัน เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อต่อไปแบบไม่รู้ตัว  ท่านใดก็ตามที่มีเพศสัมพันธ์กับคนที่ไม่รู้จักมาก่อน  ต้องเฝ้าดูแลตนเองนาน 21 วันก่อนจะไปมีการสัมผัสอย่างใกล้ชิดกับคนอื่น ไม่ว่าเป็นคนไทยหรือนักท่องเที่ยวรายต่อไป ในระหว่าง 21 วันนี้ให้ระวังตัวแบบป้องกันโรคโควิด-19 ไปก่อน  เพียงแต่ไม่ต้องกักตัวในห้องเพราะไม่ได้แพร่เชื้อผ่านทางลมหายใจ

ฝีดาษลิง

เนื่องจากขณะนี้เรามีนักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาในสถานที่ท่องเที่ยว นอกจากรัฐให้ข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันตนเอง และการระวังโรคนี้แก่นักท่องเที่ยวแล้ว  เจ้าหน้าที่ตามโรงแรมและที่พักพิงต่าง ๆ ต้องเคร่งครัดในการทำความสะอาดผู้ปูที่นอน เสื้อผ้า และพื้นที่ในห้องพักตามมาตรฐานสากล  เพื่อให้ความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวและชาวไทยทุกรายที่มาพักอาศัย เช่นเดียวกับการป้องกันโรคโควิด-19 ที่โรงแรมหรือสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ นำมาใช้และใช้ป้องกันโรคฝีดาษ ลิง ได้ดีอยู่แล้ว

สรุปว่า สำหรับประเทศไทยในเดือนสิงหาคมนี้ โรคนี้ต้องจบและไม่มีคนไทยในประเทศรายใหม่ติดเชื้ออีก  หากคุมโรคไม่อยู่และมีคนไทยรายใหม่ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเกิน 10 ราย โดยไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกันใน 10 รายนี้  โรคนี้จะมีโอกาสกลายเป็นโรคประจำถิ่นของประเทศไทย และอาจจะมีการแพร่เชื้อต่อไปยังสัตว์แทะ เช่น หนู ที่มีอยู่ทั่วไปในประเทศ  จนทำให้โรคนี้กลายเป็นโรคประจำถิ่นถาวรได้

จึงเกิดคำถามในขณะนี้ขึ้นมาเลยว่า “เราอยากให้ประเทศไทยยังคงเป็นเมืองที่น่าท่องเที่ยวระดับโลก หรือมีโรคฝีดาษ ลิง เป็นโรคประจำถิ่นถาวรร่วมด้วย” ท่านจะเลือกแบบไหนก็อยู่ในมือของคนไทยทุกท่านแล้วครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo