Politics

เตือน 11 จังหวัด ‘ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา’ ระดับน้ำเพิ่ม หลังต้องระบายน้ำจากเขื่อนเพิ่มขึ้น

เตือน 11 จังหวัด ‘ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา’ ระดับน้ำเพิ่ม หลังต้องระบายน้ำจากเขื่อนเพิ่มขึ้น เฝ้าระวัง 9 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศว่าจะยังคงมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณภาคเหนือต่อเนื่องถึงวันนี้ จึงคาดการณ์ปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำ C.2 จังหวัดนครสวรรค์จะไหลผ่านอัตราสูงสุดถึง 1,400 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)/วินาทีซึ่งเช้าวันนี้อยู่ที่ 1,331 ลบ.ม./วินาที

ทำให้มีความจำเป็นต้องระบายน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นในอัตราระหว่าง 1,100 – 1,400  ลบ.ม./วินาที โดยวันนี้ระบายที่ 1,149 ลบ.ม./วินาที ปรับขึ้นจากเมื่อวานนี้ซึ่งอยู่ที่ 1,049 ลบ.ม./วินาที

แม่น้ำเจ้าพระยา

การปรับการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นในอัตราดังกล่าว จะส่งผลให้พื้นที่ริมน้ำมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 20 – 60 เซนติเมตรบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ บริเวณคลองโผงเผง จ.อ่างทอง คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และ ต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย)

เตือน 11 จังหวัด ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ระดับน้ำเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ได้แจ้งเตือน 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้แก่ จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร

และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประกาศประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยาเช่น งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร เป็นต้น รวมทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อย ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

พร้อมจะบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำ ผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพ หากมีปริมาณน้ำเหนือเพิ่มขึ้นที่จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากกว่า 1,400 ลบ.ม./วินาทีจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

แม่น้ำเจ้าพระยา

ระบายน้ำ 9 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ให้เหมาะสม

นอกจากนี้ยังกำชับให้สำนักงานชลประทานทุกแห่ง ปรับการระบายน้ำให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพน้ำในเขื่อน ตามที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) แจ้งเตือน ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 9 แห่งที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมสูงสุด (Upper Rule Curve) ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล กิ่วลม กิ่วคอหมา น้ำพุง อุบลรัตน์ บางพระ หนองปลาไหล และป่าสักชลสิทธิ์ รวมถึงบึงบอระเพ็ด

ตลอดจนอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่า 80% ของปริมาณการกักเก็บรวม 112 แห่ง แบ่งเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 65 แห่ง ภาคเหนือ 23 แห่ง ภาคตะวันออก 15 แห่ง ภาคตะวันตก 4 แห่ง ภาคใต้ 4 แห่ง และภาคกลาง 1 แห่ง

โดยย้ำให้ติดตามการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด และคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าเพื่อจะได้บริหารจัดการอย่างเหมาะสม และลดผลกระทบจากน้ำล้นอ่างเก็บน้ำท่วมพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำให้น้อยที่สุด

หากปรับการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเพิ่มต้องแจ้งเตือนประชาชนทุกครั้ง เตรียมความพร้อมของเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบคโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่เสี่ยงเพิ้อให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันที รวมทั้งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ

แม่น้ำเจ้าพระยา

เขื่อนป่าสักฯ ระบายน้ำเพิ่ม

ทั้งนี้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาป่าสักชลสิทธิ์ สำนักงานชลประทานที่ 10 ว่า ปรับเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ โดยเป็นการทยอยปรับขึ้นเป็นขั้นบันได จากที่ปรับขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ซึ่งระบาย 120.49 ลบ.ม./วินาที เช้าวันนี้ (13 ส.ค. ) เพิ่มขึ้นเป็น 160.61 ลบ.ม. /วินาที ซึ่งทำให้ประมาณน้ำที่ระบายต่อวันเพิ่มขึ้นจาก 10.41 ล้านลบ.ม. เป็น 13.87 ล้านลบ.ม. เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลเข้าต่อเนื่อง

โดยเช้าวานนี้ (12 ส.ค.) วัดปริมาณน้ำไหลเข้าได้ 21.37 ล้านลบ.ม. แต่เช้าวันนี้เพิ่มขึ้นไปเป็น 28.66 ล้านลบ.ม. ขณะนี้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำมี 433.52 ล้านลบ. ม. เทียบกับความจุระดับเก็กกักสูงสุด 960 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 45.06%

สำหรับปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 11,305 ล้าน ลบ.ม. หรือ 45% ของความจุ วัดปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำรวมกันประมาณ 155.30 ล้าน ลบ.ม. รับน้ำได้อีกกว่า 13,566 ล้าน ลบ.ม.

ขอให้ประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปยังสำนักงานชลประทานในพื้นที่หรือโทร 1460 สายด่วนกรมชลประทาน

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo