Politics

เตรียมเแผนเผชิญเหตุ ‘ฝีดาษลิง’ โรงพยาบาล กทม. เฝ้าระวังคนไข้ ทั้งฉุกเฉิน และผู้ป่วยนอก

โรงพยาบาล กทม. เตรียมแผนเผชิญเหตุ ป้องกัน ‘ฝีดาษลิง’ เฝ้าระวังคนไข้ ทั้งฉุกเฉิน และผู้ป่วยนอก หากพบแยกกักตัวเฉพาะโรคทันที

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง กทม. เตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุ ป้องกันโรคฝีดาษลิง

โรงพยาบาลในสังกัด กทม. เฝ้าระวังคนไข้ทั้งห้องฉุกเฉิน (ER) และผู้ป่วยนอก (OPD) รวมถึง รพ.ที่มีคลินิกเฉพาะทางเช่น คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คลินิกโรคผิวหนัง หากพบผู้ป่วยติดเชื้อจะเร่งแยกกักตัวเฉพาะโรค

ฝีดาษลิง

แนวปฏิบัติการเฝ้าระวังสำหรับบุคลากรทางการแพทย์

เน้นย้ำแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวังและควบคุมโรค แก่บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ตามมาตรการ Universal Prevention (UP)

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยเฉพาะลิง และหนู
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง รวมถึงลมหายใจและสิ่งของของผู้ป่วย
  • หมั่นล้างมือด้วยสบู่ หรือเจลทำความสะอาดทุกครั้ง หลังสัมผัสสัตว์ หรือสัมผัสสิ่งของสาธารณะ
  • ใช้ผ้าปิดจมูกและปาก เมื่อไปในสถานที่เสี่ยงมีโรคระบาด
  • หากพบผู้ป่วยให้แยกผู้ป่วยที่ติดเชื้อออกจากผู้อื่นทันที

ฝีดาษลิง

อาการของโรค

โรคฝีดาษ ลิง จะมีอาการคล้ายโรคฝีดาษ ดังนี้

  • มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ปวดกล้ามเนื้อและอ่อนเพลีย บางกรณีอาจมีอาการไอหรือปวดหลังร่วมด้วย
  • หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน ผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นโดยเริ่มจากใบหน้าแล้วแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย จากนั้นจะกลายเป็นตุ่มหนอง และสุดท้ายจะมีสะเก็ดคลุมแล้วหลุดออกมา
  • อาการป่วยดังกล่าวจะเป็นอยู่ประมาณ 2 – 4 สัปดาห์ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่จะหายจากโรคเองได้
  • ในกรณีผู้ที่มีภูมิต้านทานโรคต่ำหรือมีโรคประจำตัว อาจเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น ปอดบวม หรือเสียชีวิต

ทั้งนี้ ขอให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์พาหะ และหลังจากเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาด ให้สังเกตอาการตนเอง โรคนี้เกิดจากการสัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดง่าย มาตรการที่ใช้ป้องกันโควิด19 ยังใช้ป้องกันฝีดาษวานรได้

ฝีดาษลิง

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo