Politics

‘ไพศาล’ บอก 5 เหตุผล ที่รัฐบาล-กองทัพ ต้องปรับแผนเร่งเสริมสร้างแสนยานุภาพ

“ไพศาล”แนะรัฐบาล กองทัพ เร่งปรับแผน เสริมสร้างแสนยานุภาพใหม่ ด้วยเหตุผล 5 ข้อต่อไปนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับสงครามยุคใหม่

นายไพศาล พืชมงคล อดีตกรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง ผ่านทางเฟซบุ๊ก Paisal Puechmongkol เตือนรัฐบาลและกองทัพ ต้องปรับแผน เสริมสร้างแสนยานุภาพใหม่ โดยระบุว่า

สร้างแสนยานุภาพ

รัฐและกองทัพต้องปรับแผนเสริมสร้างแสนยานุภาพใหม่

1. รัฐมีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญในการส่งเสริมสนับสนุนให้กองทัพมีแสนยานุภาพเพียงพอต่อการป้องกัน และรักษาเอกราชอธิปไตย
ถ้าไม่ทำหรือทำไม่ได้ ต้องถือว่ารัฐบกพร่องและทำให้ประเทศตกอยู่ในความเสี่ยง และทำให้กองทัพไม่มีขีดความสามารถเพียงพอในการพิทักษ์รักษาเอกราชอธิปไตย

จะไปว่า พวกกาเหว่าหรือฝ่ายค้านไม่ได้ เพราะถ้าทำอะไรที่ถูกต้องแล้วรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภา สามารถผ่านงบประมาณได้

2. รูปแบบสงครามยุคใหม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแทบจะสิ้นเชิงแล้ว

การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์และการฝึกทหารจะต้องปรับให้เป็นไปตามลักษณะ และความเปลี่ยนแปลงของสงครามยุคใหม่
2การกำหนดแผนการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ จึงต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกัน

วันนี้กล่าวได้ว่าแผนการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ยังเป็นแบบเก่า ซึ่งกองทัพเองก็ต้องทบทวนเรื่องนี้

3. แสนยานุภาพทางนาวีของไทยวันนี้สู้พม่าไม่ได้ สู้เวียดนามไม่ได้

ส่วนแสนยานุภาพทางบก เมื่อการจัดเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ยังเป็นแบบเก่า ในขณะที่เพื่อนบ้านปรับตัวเป็นแบบใหม่แล้วก็มีความเสี่ยงมาก

ส่วนแสนยานุภาพทางอากาศนั้น ก็เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ขีปนาวุธและระบบต่อต้านการโจมตีทางอากาศแบบใหม่ อาจทำให้กองทัพอากาศของเรา ซึ่งเราภาคภูมิใจนักหนาอาจจะไม่สามารถรับมือได้

เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องทบทวนปรับปรุงและปรับแผนการจัดหาใหม่ทั้งสิ้น

ไพศาล พืชมงคล
ไพศาล พืชมงคล

4. สถานการณ์ในภูมิภาคนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมแล้ว หากเกิดสงครามขึ้นจะไม่ใช่สงครามแบบตัวต่อตัว แต่จะเป็นสงครามแบบมวยหมู่

ดังนั้น จึงต้องประเมินสถานการณ์ว่ามวยหมู่ฝ่ายไหนเป็นอย่างไร

ที่สำคัญมวยหมู่ฝั่ง #นาโต้ 2 นั้น ประเทศที่เกี่ยวข้อง ต้องซื้อหาอาวุธในราคาแพงลิบลิ่วมาใช้เอง จะทำให้ระบบเศรษฐกิจของชาติพังพินาศ ไม่อาจต้านสงครามได้นานวัน

ชะตากรรมก็จะซ้ำรอยแบบยูเครน!!!!

แต่มวยหมู่อีกฝ่ายหนึ่งนั้น เขาสนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์แบบให้เปล่าเกือบทั้งหมด และเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์แบบใหม่ที่ข่มอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เรามีอยู่

ไม่เห็นหรือว่า เมื่อเราจัดหารถถังสไตรเกอร์มา 100 คัน กัมพูชาก็ขอรับการสนับสนุนขีปนาวุธเล็กสำหรับทำลายรถถังสไตรเกอร์จากจีนมาใช้ถึง 200 ชุด ที่ใช้ต่อสู้กันมาแล้วทั้งในแอฟริกา อิรัก ซีเรียและอัฟกานิสถาน จนสหรัฐต้องถอนรถถังพวกนี้ออกมาทั้งหมดเพราะถูกยิงถล่มกระจุยเหมือนขนมปัง

ดังนั้น เบื้องแรกนอกจากการปรับแผนการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์และแผนการฝึกทหารแล้ว ยังต้องประเมินสถานการณ์ว่า ควรรบหรือไม่ควรรบ? ซึ่งเป็นหลักการข้อแรกของพิชัยสงคราม

หากไม่ประเมินข้อนี้หรือประเมินไม่ถูกต้อง ก็เสี่ยงต่อการนำพาชาติบ้านเมืองไปสู่ความดับสูญ

5. หลักยุทธวิธีในสงครามยุคใหม่ก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ไทยเรายอมรับนับถือหลักยุทธวิธีแบบตะวันตก ซึ่งใช้ 2 หลักเท่านั้น คือ ใช้มากเอาชนะน้อย ใช้แข็งเอาชนะอ่อน ซึ่งเป็นหลักที่ใช้มาตั้งแต่ยุคโรมัน และล้าหลังสิ้นเชิงแล้ว

กองทัพอากาศ

ในขณะที่ กลุ่มประเทศ sco นั้น เขาใช้หลักยุทธวิธีแผนใหม่ ที่น้อยสามารถเอาชนะมากได้ แข็งสามารถเอาชนะอ่อนได้

ในเรื่องนี้มีพูดไว้ตั้งแต่สมัยสามก๊กแล้ว

ขงเบ้งกล่าวว่า

“คนถ่อย คิดแต่เอามากชนะน้อย เอาแข็งชนะอ่อน เพราะเข้าไม่ถึงมรรควิถีแห่งยอดขุนพล ผู้เข้าถึงมรรควิถียอดขุนพล สามารถใช้พลังจักรวาลได้”

จะมีใครสักกี่คนในกองทัพของเรา ที่เข้าถึงมรรควิถียอดขุนพล??

นี่คือสิ่งที่เราจะต้องปรับการเรียนรู้ ปรับยุทธศาสตร์ หลักกลยุทธ์ หลักยุทธวิธี แผนยุทธการ แผนการยุทธ และแผนการรบ ให้สอดคล้องกับสงครามยุคใหม่

หาไม่แล้วรบกี่ครั้งก็มีแต่ปราชัย

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo