Politics

หนักอกที่สุด!! ‘ชัชชาติ’ ยอมรับปมรถไฟฟ้าสายสีเขียว – คุยประธานกรุงเทพธนาคม 2 ก.ค.นี้

ผู้ว่าฯกทม. บุกสภาฯ แจง “กมธ.คมนาคม” แก้ระบบสัญจรเมืองกรุงฯ-ปริมณฑล ไอเดียร์กระฉูดเตรียมโอน “ตร.จราจร” ขึ้นตรงกทม. “ชัชชาติ” รับหนักอกปม “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” แถมหนี้แสนล้าน แจงเก็บ 59 บาทตลอดสาย คุยประธานกรุงเทพธนาคม 2 ก.ค.นี้ ปมค่าโดยสารสายสีเขียว “โสภณ” เตรียมตั้งอนุกมธ.แก้ปัญหา

ที่รัฐสภา  มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) คมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ประธาน กมธ. มีการพิจารณาแนวนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้เชิญนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม. เข้าชี้แจงประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกรณีสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ข้อเสนอแนวคิดเก็บค่าโดยสารเพดานไม่เกิน 59 บาท

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

นายโสภณ กล่าวว่าที่เชิญนายชัชชาติ เพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงการจัดการการคมนาคมทั้งระบบ ในช่วงวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปีของผู้ว่าฯกทม. เราอยากฟังว่านายชัชชาติ จะทำอะไรบ้าง ทางกมธ.ฯ จะได้ช่วยสนับสนุนหากติดขัดเกี่ยวกับกฎหมายประการใด เพื่อให้การทำงานเดินไปได้ ถ้าความเห็นตรงกัน ผู้ว่าฯกทม.สามารถตั้งบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาทำงานร่วมกับกมธ.ฯ ในการศึกษาการคมนาคมของกทม.

ขณะที่นายชัชชาติ กล่าวว่าถ้าดูการทำงานในนโยบายด้านคมนาคม ก็เป็นนโยบาย 1 ใน 9 ด้านของกทม. เกี่ยวกับการสัญจร  เตรียมจะทำระบบสัญญาณไฟจราจรอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยีร่วมกับตำรวจ จะมีกล้องควบคุมสภาพการจราจรเชื่อมโยงไปถึงการจ่ายใบสั่ง หรือค่าปรับ

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

นอกจากนี้ ยังปรับปรุงสภาพถนน จะดึงเทศกิจมาช่วยการจราจรใน กทม. ในอนาคตอาจมีแนวคิดโอนตำรวจจราจรมาขึ้นตรงกับกทม. แต่ยังมีภารกิจที่ยังเกี่ยวพันกันอยู่ ต้องดูว่าจะพร้อมแค่ไหน หากโอนมาแล้ว กทม.ได้มีการโอนย้ายเจ้าหน้าที่ดับเพลิงมาแล้ว ส่วนระบบขนส่งมวลชน กทม. มีแนวคิดเดินรถเมล์เองในบางจุดเสริมร่วมกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) โดยกทม.จะขอใบอนุญาต จากกรมการขนส่งทางบก เพื่อเดินรถเสริมในบางเส้นทางร่วมกับขสมก. เตรียมเพิ่มจำนวนรถเมล์สำหรับผู้พิการด้วย

รถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัญหาที่หนักอกที่สุด

นายชัชชาติ กล่าวว่าแต่ปัญหาที่หนักอกที่สุด คือ เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว กทม.จะมีรถไฟฟ้าในการดูแล 2 สาย คือ

1. รถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ และช่วงพระโขนง-พระราม 3 เลียบทางด่วนรวมอินทราอาจณรงค์-พระราม 3

2. สายสีเงิน ช่วงบางนา-สุวรรณภูมิ ขณะนี้มีแนวคิดว่าการก่อสร้างโครงการใหญ่ ต้องให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุน เพราะกทม.ไม่ได้มีผู้เชี่ยวชาญ หากกทม.เป็นเจ้าของรถไฟฟ้าเพิ่ม ก็จะกลายเป็นว่าแยกจากระบบขนส่งรวมจากรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ถ้าสามารถรวมให้เกิดตั๋วราคาเดียวกัน หรือ ตั๋วร่วม และมีเจ้าของเพียงผู้เดียว เหมือนอย่างฮ่องกง หรือ อังกฤษ ดังนั้นรถไฟฟ้า 2 สายที่กทม.ดูแล จะเจรจาว่าสามารถให้รัฐบาลดูแลเพียงผู้เดียวได้หรือไม่

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว กำลังคลี่คลายปัญหาอยู่ เนื่องจากสัญญาจะหมดในปี 2572 แต่บังเอิญมีการต่อสัญญาล่วงหน้าออกไปอีกจากปี 2572-2585 ในการจ้างเอกชนเดินรถ เมื่อมีสัญญาผูกพันกับเอกชนแล้ว ต้องไปดูเงื่อนไขว่า เราจะทำอะไรเกินจำเป็นไม่ได้ รวมทั้งมีภาระเรื่องหนี้ที่รัฐบาลลงทุนไป แล้วโอนมาให้กทม. รวมกับหนี้ที่จ้างเดินรถประมาณ 100,000 ล้านบาท ที่ยังค้างชำระ ต้องมาพิจารณาอีกทีว่า จะแบ่งจ่ายอย่างไร นี่คือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาแล้ว เราก็คงต้องดูแลต่อไป

นายชัชชาติ กล่าวถึงข้อเสนอของให้เก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าในเพดานไม่เกิน 59 บาทว่า รถไฟฟ้าแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนขยายที่ 1 เราเก็บค่าโดยสาร 15 บาท ส่วนไข่แดง เก็บค่าโดยสาร 44 บาท แต่ส่วนขยายที่ 2 ไม่เคยเก็บเลย แต่ไม่ได้ฟรีเนื่องจากกทม.จ้างเอกชนเดินรถ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI  เสนอให้ขยายเพดานเป็นไม่เกิน 59 บาท ในทั้ง 3 ส่วน

ขณะที่สภาองค์กรของผู้บริโภค ออกมาระบุ มีประชาชนเพีย 3% ที่ใช้บริการรถไฟฟ้า หากเอาภาษีประชาชนไปใช้จ่ายในส่วนนี้ อาจจะไม่ค่อยแฟร์  ยืนยันว่าแนวคิดการเก็บค่าโดยสารเพดานไม่เกิน 59 บาท เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้นในส่วนขยายที่ 2 เท่านั้น ข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค ที่ให้เก็บค่าโดยสารเพดานไม่เกิน 44 บาท จึงเป็นไปได้ยาก เพราะแค่ในส่วนไข่แดงเก็บ 44 บาท ก็ขาดทุนแล้ว

ส่วนแนวคิดตั๋วร่วม อย่าเข้าใจผิดว่าจะเป็นวิธีแก้ไขปัญหาราคารถไฟฟ้าได้ เพราะตั๋วร่วมเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกในการชำระเงิน แต่ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างราคา ปัจจุบันมีการใช้ระบบเทคโนโลยีต่างๆ เพียงใช้บัตรเครดิตก็สามารถใช้บริการได้ทุกที่

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

หลังหารือเสร็จสิ้น นายโสภณ กล่าวว่าในฐานะที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ อยากทำงานร่วมกับผู้ว่าฯ กทม. คือมาเอ็กซเรย์ปัญหาและกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานใน กทม. โดยกมธ.จะตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาและแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยผู้ว่าฯ กทม. จะส่งคนมาร่วมเป็นอนุกรรมาธิการด้วย

ส่วนนายชัชชาติ กล่าวว่า การทำงานของ กทม.ต้องประสานกับหลายหน่วยงานรวมทั้งรัฐบาลด้วย หลายอย่างไม่ได้อยู่ในอำนาจของกทม. รวมทั้งกฎหมายต่างๆ บางครั้งอาจจะต้องปรับแก้เพื่อให้กฎหมายที่ทันสมัย สามารถตอบโจทย์คน กทม.ได้ ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่ กมธ.เชิญมา สุดท้ายแล้วประชาชนจะได้ประโยชน์  การตั้งอนุกรรมาธิการฯ เพื่อที่จะได้เห็นปัญหาและแก้ปัญหาได้เลย ส่วนปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว สัปดาห์หน้าจะมีความคืบหน้าตนจะพบนายธงทอง จันทรางศุ ประธาน บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) วันที่ 2 กรกฎาคมนี้

รถไฟฟ้าสายสีเขียว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo
ทีมบรรณาธิการข่าว The Bangkok Insight