Politics

สธ.เปิดศูนย์เฝ้าระวังผลกระทบฝุ่นละอองในกทม.-ปริมณฑล

กระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพจากสภาพอากาศ ที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานในพื้นที่กทม.และปริมณฑล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคหัวใจ

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย
นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย

นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้กรมควบคุมโรค กรมการแพทย์ กรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพ และให้ความรู้ในการป้องกันตนเองจากสภาพอากาศที่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน ในพื้นที่กทม.และปริมณฑลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2561

อย่างไรก็ดีจากการติดตามสถานการณ์ กรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในวันนี้ (14 ม.ค.) ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มลดลง คุณภาพอากาศโดยรวม ยังอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จึงได้มอบให้นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพ ให้ความรู้ประชาชนและวิธีป้องกันตัวที่ถูกต้อง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด

PM2.5กทม.

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแนวทางในการดูแล และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน จากมลพิษในอากาศร่วมกับกทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้มาตรการทางกฎหมาย ภายใต้พระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 รวมทั้งการเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพในพื้นที่กทม. ใน 2 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด มีการสื่อสารเตือนภัยให้ประชาชนทราบความเสี่ยง และป้องกันดูแลสุขภาพของตนเองได้

“ขอให้ประชาชนติดตามข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ไม่ได้เกินค่าในทุกพื้นที่ และพื้นที่ที่มีค่าเกินมาตรฐานก็ไม่ได้ค่าสูงอยู่ตลอดเวลา ข้อมูลการเฝ้าระวังของสำนักระบาดวิทยา ที่ได้รับรายงานในโรงพยาบาลเครือข่ายกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 3 สิงหาคม 2561 – 7 มกราคม 2562 ไม่พบว่ามีผู้ป่วย 3 กลุ่มโรคที่เฝ้าระวังสูงขึ้นผิดปกติ หรือพบเป็นกลุ่มก้อนเมื่อเทียบกับช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้แก่ หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด และไม่มีรายงานผู้ที่มีอาการรุนแรง” นายแพทย์สุขุมกล่าว

PM2.5.222

ด้านแพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรม หรือออกกำลังกายกลางแจ้ง ในกลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้ป่วยด้วยโรคประจำตัว เช่นโรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด ภูมิแพ้ โรคหัวใจ หากออกจากบ้านให้สวมหน้ากากป้องกัน และสังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อยหายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจมีเสียงวี๊ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะขอให้ไปพบแพทย์

Avatar photo