Politics

3 ข้อเสนอ ปฏิรูป ระบบปฐมภูมิ กทม. ตั้งรับโรคระบาดในอนาคต

3 ข้อเสนอ ปฏิรูป ระบบปฐมภูมิ กทม. ตั้งรับโรคระบาดในอนาคต เพิ่มสิทธิในระบบประกันสังคม อย่างน้อย 360 แห่ง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงสาธารณสุข ขับเคลื่อน แนวทาง การปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดโรคติดเชื้อระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ (Big Rock 1) ภายใต้โปรแกรมการยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม ร่วมกับ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน และผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ระบบปฐมภูมิ

สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพ

นายอนุทิน กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร เป็นจุดศูนย์กลางการทำงานและการเดินทาง มีผู้พักอาศัยและผ่านไปมาจำนวนมาก สามารถทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิดไปทั่วประเทศได้ แต่ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดโรคโควิด 19 จนได้รับการชื่นชมจากองค์การอนามัยโลกและนานาประเทศ เพราะมีระบบสุขภาพปฐมภูมิที่เข้มแข็ง

วันนี้ทุกภาคส่วนเห็นตรงกันว่า การพัฒนาระบบสุขภาพปฐมภูมิของ กทม.เป็นประเด็นสุขภาพสำคัญเร่งด่วน ที่ต้องช่วยกันทำให้เกิดเป็นรูปธรรม เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพ และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Health for Wealth)

การจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ คือ ส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพและเศรษฐกิจ เมื่อประชาชนเข้าถึงระบบการรักษากับหมอครอบครัวได้สะดวก รวดเร็ว จะหยุดความรุนแรงของโรค ลดโรคแทรกซ้อน

การทำให้ประชาชนแข็งแรง ไม่เจ็บป่วย พร้อมประกอบธุรกิจการงานได้อย่างราบรื่น ช่วยลดความสูญเสียรายได้ของครอบครัว ภาพรวมรายได้ทางเศรษฐกิจ และประหยัดงบประมาณการรักษาพยาบาลของประเทศได้ นโยบายสุขภาพปฐมภูมิของกระทรวงสาธารสุขใช้คำง่าย ๆ ว่า 3 หมอ

S 61063180

3 ข้อเสนอ ปฏิรูประบบปฐมภูมิ ในกทม.

นายอนุทิน กล่าวว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการปฏิรูประบบปฐมภูมิใน กทม. เพื่อรองรับสถานการณ์การระบาดของโรคระดับชาติและโรคอุบัติใหม่ ซึ่งการพัฒนาการแพทย์ปฐมภูมิในเรื่องต่าง ๆ มีข้อเสนอ คือ

  1. การรักษาทุกที่ทุกเวลาแบบไร้รอยต่อ เป็นนโยบายที่มอบไว้ให้ทุกเขตสุขภาพเร่งดำเนินการ และเมื่อจะดำเนินการใน กทม.ด้วยจึงเป็นเรื่องที่ดีมาก หวังว่าคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานหรือพักอาศัยในเมืองหลวง จะได้รับทั้งสิทธิการรักษา และข้อมูลสุขภาพจากโรงพยาบาลต่างจังหวัดส่งมาให้ถึงโรงพยาบาลใน กทม.โดยเร็ว
  2. การขยายหน่วยบริการ เนื่องจากโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใน กทม. เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทาง จึงใช้นโยบายเพิ่มการเข้าถึงบริการที่เน้นนวัตกรรม พัฒนาระบบ Telemedicine และ Home ward โดยมอบหมายให้ สปสช.ร่วมกำหนดแนวทางการจ่ายค่าชดเชยการบริการใหม่อย่างเหมาะสมเพื่อรองรับการบริการในสังคมสูงอายุ ที่จะมีผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียงเพิ่มขึ้น
  3. การพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) ของ กทม. ถือเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนา อสม. ซึ่งการอบรมหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลของ อสม.ได้มีโควตาของ อสส.ด้วย โดยขอให้ กทม.บูรณาการระบบอาสาสมัครสาธารณสุขของประเทศร่วมกัน อาจจะเริ่มจากการใช้แอปพลิเคชัน Smart อสม. เพื่อให้ อสส.ได้รับความรู้ข่าวสารไปพร้อมๆ กับ อสม.

ระบบปฐมภูมิ

จัดตั้งระบบปฐมภูมิเพิ่ม ในระบบประกันสังคม

นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเรื่องการจัดตั้งหน่วยบริการปฐมภูมิเพิ่ม ในระบบประกันสังคม อย่างน้อย 360 แห่ง ทั้งโรงพยาบาล คลินิกประกันสังคม คลินิกชุมชนอบอุ่น และคลินิกเวชกรรม เพิ่มรูปแบบเครือข่ายหน่วยบริการสาขา เช่น ร้านยา คลินิกเฉพาะทาง

การกระจายงบประมาณจากโรงพยาบาล ไปยังหน่วยปฐมภูมิเพิ่มขึ้น ของกองทุนประกันสุขภาพต่าง ๆ, การเพิ่มการเข้าถึงบริการทุติยภูมิ มีการอภิบาลระบบ และสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน เพิ่มอาสาสมัครแบบเปิด และรูปแบบการจัดการแบบอาคารสูง หมู่บ้าน คอนโด เป็นต้น

นายอนุทิน กล่าวว่า จากข้อเสนอแนวทางการปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิใน กทม. ของคณะกรรมการปฏิรูประบบสาธารณสุข  หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง จะนำไปพิจารณาและร่วมดำเนินการกับ กทม.และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป จากนโยบาย “สุขภาพดี” ของนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าฯ กทม. มั่นใจว่า ต่อไประบบสุขภาพของประเทศไทย จะมีความสอดคล้องเป็นเนื้อเดียวกัน ผลลัพธ์ภาพรวมภาวะสุขภาพของประชาชนในประเทศไทยจะดีขึ้น

โดยกระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมที่จะถ่ายทอดประสบการณ์ จากเขตสุขภาพต่างๆ เพื่อปรับให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของชุมชนเมืองร่วมกับ กทม. โดยขอให้ช่วยกันทำให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรง และมีความรอบรู้ในการดูแลสุขภาพ เนื่องจากการไม่เจ็บป่วย จะไม่สร้างภาระให้ตัวเอง ครอบครัว และงบประมาณ เพราะ Health is one kind of wealth

อ่านข่าวเพิิ่มเติม

Avatar photo