Politics

20 จังหวัด ฉีด ‘เข็มกระตุ้น’ ต่ำกว่าเป้า หวั่นกระทบแผนเปลี่ยนผ่าน ‘โรคประจำถิ่น’

20 จังหวัด ฉีด ‘เข็มกระตุ้น’ ต่ำกว่าเป้า หวั่นกระทบแผนเปลี่ยนผ่านสู่ ‘โรคประจำถิ่น’ เร่งรณรงค์ ชวนวอล์คอิน ฉีดวัคซีนใกล้บ้าน

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดี กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์โรคโควิด 19 จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิต ลดลงอย่างต่อเนื่อง ภาพรวมอยู่ในช่วงระยะขาลงทั้งประเทศ มาตรการต่าง ๆ เริ่มผ่อนปรนลงมา เช่น การเปิดสถานบันเทิงใน 31 จังหวัด ที่ผ่านเกณฑ์บริหารจัดการสถานการณ์โควิด 19 ได้ดี

20 จังหวัด

4-6 เดือนภูมิลด ต้องฉีดเข็มกระตุ้น

การเปลี่ยนผ่านโรคโควิด 19 ไปสู่โรคประจำถิ่นนั้น หนึ่งในมาตรการที่สำคัญ คือ ประชาชนได้รับวัคซีนทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น ครอบคลุมทุกกลุ่ม (Universal Vaccination) โดยแต่ละจังหวัดต้องมีความครอบคลุมของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 60

เพราะปัจจุบันมีข้อมูลวิจัยจากต่างประเทศ และจากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ไทย พบว่า เมื่อฉีดวัคซีนแล้ว 4-6 เดือนภูมิคุ้มกันจะลดลงต้องฉีดเข็มกระตุ้น จึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ การป่วยหนักและเสียชีวิตได้ดี

20 จังหวัด

20 จังหวัด ประชาชนฉีดเข็มกระตุ้นน้อย 

จากข้อมูลวันที่ 2 มิถุนายน 2565 มีผู้ที่ครบกำหนดฉีดเข็มกระตุ้นมารับการฉีดประมาณครึ่งหนึ่งเท่านั้น โดยพบว่า 20 จังหวัดที่ประชาชนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้น้อย เปรียบเทียบกับจำนวนประชากรที่ถึงกำหนดรับเข็มกระตุ้นแล้ว ได้แก่ นราธิวาส, ปัตตานี, สตูล, ยะลา, บึงกาฬ, สกลนคร, หนองบัวลำภู, นครศรีธรรมราช, ชุมพร, กระบี่, พัทลุง, ตรัง, เลย, กาฬสินธุ์, แม่ฮ่องสอน, สระแก้ว, หนองคาย, มุกดาหาร, สุราษฎร์ธานี และจันทบุรี

จึงต้องเร่งสื่อสาร เชิญชวนประชาชนให้มารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อให้ทุกคนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นเพียงพอ รองรับการเปิดประเทศและใช้ชีวิตได้เป็นปกติ และมีความปลอดภัยมากขึ้น

20 จังหวัด

ส่งวัคซีนไปยัง รพ.สต. ประชาชนวอล์คอินได้ทุกจุดฉีดใกล้บ้าน

ขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุขมีแผนจัดส่งวัคซีนโควิด 19 ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ไปยัง รพ.สต. ซึ่งเป็นหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุด เพื่อให้เกิดความสะดวกกับประชาชนที่อยู่ห่างไกล สามารถพาผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิง ไปฉีดวัคซีนกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน และให้บริการแบบ walk in ทุกจุดฉีด

นอกจากนี้ รพ.สต.หลายแห่งยังร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกสำรวจประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และจัดวัคซีนไปบริการเชิงรุกถึงบ้าน กระทรวงสาธารณสุขและ สปสช.สนับสนุนทั้งอุปกรณ์ และค่าบริการฉีดวัคซีนให้กับ รพ.สต.

ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนและประชาชน ต้องร่วมมือกันในช่วงเวลาที่สำคัญ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อโควิด 19 ให้เพียงพอ โดยมีวัคซีนเข็มกระตุ้นครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 60 หากไม่ช่วยกันระดมกำลังและจัดวัคซีนไว้พร้อมบริการในทุกพื้นที่ อาจจะส่งผลกระทบต่อแผนการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด 19 ไปสู่โรคประจำถิ่นได้

นพ.โสภณ กล่าวว่า ขอให้ทุกจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์และความจำเป็นของวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมเข้าสู่ระยะโรคประจำถิ่น ซึ่งผู้คนจะสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติและปลอดภัย” นพ.โสภณ กล่าว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo