Politics

โพสต์เดียว รู้ทุกเรื่อง ‘ฝีดาษลิง’ ตั้งแต่เริ่มระบาด การตรวจวินิจฉัย จนถึงวัคซีน และผลข้างเคียง

ศูนย์จีโนมฯ ตอบ 13 คำถาม เกี่ยวกับ ‘โรคฝีดาษลิง’ โพสต์เดียว รู้ทุกเรื่อง ตั้งแต่เริ่มระบาด การตรวจวินิจฉัย จนถึงวัคซีน และผลข้างเคียง

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี โพสต์เพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ให้คามรู้เกี่ยวกับฝีดาษลิง ข้อความว่า 13 คำถามที่หลายท่านสอบถามศูนย์จีโนมฯเกี่ยวกับ “โรคฝีดาษลิง”: การติดต่อ-แพร่ระบาด สายพันธุ์ การถอดรหัสพันธุกรรม การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ  วัคซีน ยาต้านไวรัส และสิ่งที่ WHO  กังวลใจ

ฝีดาษลิง

จุดเริ่มต้นการระบาดระลอกล่าสุด

Q1. โรคฝีดาษลิงเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกา เหตุใดจึงมาพบการระบาดในยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลียขณะนี้ได้ (ภาพ1)

A1. จากการสอบสวนโรคร่วมกับการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งจีโนม(ประมาณ 2 แสนตำแหน่ง) จากผู้ติดเชื้อหลายรายในยุโรป คาดว่าการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสฝีดาษลิง ซึ่งเริ่มในเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมาระหว่างคนสู่คน อาจจะมีจุดเริ่มต้นเริ่มมาจากงานชุมนุมใหญ่ในประเทศสเปนในวันที่ 5 และ 15 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา

คนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมงานเป็นกลุ่มชายรักชาย (Men who have Sex with Men: MSM) ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชุมนุมกว่า 80,000 คน เมื่อเสร็จงานชุมนุมก็แยกย้ายกลับประเทศของตน  ในจำนวนผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงที่ยืนยันแล้วประมาณ 100 คนในปัจจุบัน พบผู้หญิงติดเชื้อเพียงคนเดียว (ภาพ2)

ฝีดาษลิง

สถานการณ์ของโรคล่าสุด

Q2. สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสฝีดาษลิงเป็นอย่างไร

A2. WHO ได้รับรายงานผู้ป่วยโรคฝีฝีดาษ 257 ราย และผู้ต้องสงสัย 120 รายใน 23 ประเทศที่โรคฝีดาษมิใช่โรคประจำถิ่น  ในการอัพเดทเมื่อวันอาทิตย์ (29/5/2565)

Q3. สิ่งที่ WHO และประเทศสมาชิกกังวลมากที่สุด ในการระบาดของไวรัสฝีดาษลิงครั้งนี้คืออะไร

A3. องค์การอนามัยโลกและประเทศพันธมิตร กำลังทำงานเพื่อให้เข้าใจถึงสาเหตุของการระบาดของไวรัสฝีดาษลิง ซึ่งปรกติจะระบาดอยู่ในสัตว์ป่า มีกระดูกสันหลังเลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะในกลุ่มสัตว์ฟันแทะบางประเภทในกว่า 10 ประเทศในทวีปแอฟริกา จนเกิดเป็นโรคประจำถิ่นมีการระบาดเป็นครั้งคราว ในหมู่คนในท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว

ฝีดาษลิง

แต่การระบาดล่าสุดที่มีรายงานใน 23 ประเทศนอกทวีปแอฟริกา โดยส่วนใหญ่เกิดในยุโรป อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย ซึ่งถือว่าผิดปกติ และอาจกลายเป็นปัญหาร้ายแรงในกลุ่มประเทศในซีกโลกเหนือ หากไวรัสฝีดาษลิงจากคน ได้แพร่เชื้อไวรัสไปยังสัตว์เลี้ยงและไปยังสัตว์ป่าอื่นๆ เพราะไวรัสฝีดาษลิงก่อให้เกิดโรคระบาดระหว่างสัตว์สู่สัตว์อยู่แล้ว จึงมีโอกาสกลายเป็นไวรัสประจำถิ่น จะส่งผลให้เกิดการระบาดมาสู่คนได้เป็นระยะในประเทศซีกโลกเหนือ

และสถานการณ์หากเป็นเช่นนั้นต่อไป อาจมีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง ให้กับประชากรทุกคนของชุมชนนั้น จังหวัด หรือประเทศเหล่านั้น

ขณะนี้หน่วยงานสาธารณสุขในหลายประเทศ ได้ย้ำเตือนเจ้าของสัตว์เลี้ยงที่อาจเป็นรังโรคของไวรัสฝีดาษลิง ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ เพราะเกรงว่าไวรัสฝีดาษลิงอาจแพร่กระจายจาก “ผู้เลี้ยงที่ติดเชื้อ”ไปยังสัตว์เลี้ยง และจากสัตว์เลี้ยงไปสู่สัตว์ป่า ทำให้เกิดความเสียหายต่อสัตว์ป่าในประเทศเหล่านั้น อย่างไม่สามารถแก้ไขอะไรได้

ฝีดาษลิง

การติดต่อ และ แพร่ระบาด หลากหลายช่องทาง รวมถึงเพศสัมพันธ์

Q4. โรคฝีดาษลิงติดต่อระหว่างคนสู่คนอย่างไร

A4. โรคฝีดาษลิงเป็นโรคติดต่อด้วยการสัมผัสทางผิวหนังต่อผิวหนัง การอยู่ร่วมกัน การอยู่ร่วมห้องเดียวกัน การใช้ของใช้ร่วมกัน สามารถทำให้เกิดการติดเชื้อระหว่างคนสู่คนได้  ยังไม่พบการติดต่อระหว่างคนสู่คนในช่วงอายุใด หรือ เพศใด  เป็นการเฉพาะ

Q5. โรคฝีดาษลิงสามารถติดต่อแพร่เชื้อ ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่

A5. ข้อมูลล่าสุดจากองค์การอนามัยโลก (WHO)  และ ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (US CDC) บ่งชี้ว่า โรคฝีดาษลิงสามารถแพร่ระบาดผ่านการสัมผัสทางผิวหนังต่อผิวหนัง รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ด้วย ไวรัสติดต่อผ่านการสัมผัส การจูบ การมีเพศสัมพันธ์ทางปาก และการร่วมเพศกับผู้ที่มีอาการได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ WHO ยังไม่ได้ระบุว่าโรคฝีดาษลิง มีการติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ 

Q6. ไวรัสฝีดาษลิงสามารถติดต่อทางเลือดและอสุจิ ได้เช่นเดียวกับไวรัสเอชไอวีหรือไม่

A6. นักวิจัยทั่วโลกกำลังศึกษาหาคำตอบกันอยู่

Q7.   การตรวจคัดกรองทางห้องปฏิบัติการดำเนินการอย่างไร

A7. ในอดีตจะนำเซลล์จากหนองฝีหรือชิ้นเนื้อติดเชื้อไวรัสมาย้อมสี และตรวจดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์ธรรมดา (Light microscope)  จะเห็น “inclusion body” ของไวรัสได้อย่างชัดเจนในบริเวณไซโทพลาซึมของเซลล์ เพราะไวรัสใน “ตระกูลพอกซ์ (Poxviridae)” มีขนาดใหญ่เกือบเท่ากับแบคทีเรียที เมื่อย้อมสีจะเห็นได้ชัดเจนด้วยกล้องจุลทรรศน์ธรรมดา  และหากนำไปตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน จะมีลักษณะเฉพาะ คือ จีโนมแกนกลางของอนุภาคไวรัส จะมีรูปคล้ายดัมเบล(ยกน้ำหนัก) (ภาพ3)

หมายเหตุ: “inclusion body” เปรียบเสมือนโรงงานประกอบชิ้นส่วนของอนุภาคไวรัส ลูกหลานที่สร้างขึ้นใหม่ภายในเซลล์หลังจากการติดเชื้อ เพื่อแพร่ไปยังเซลล์ข้างเคียง

ฝีดาษลิง

การถอดรหัสพันธุกรรม การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ

ปัจจุบัน WHO  และ US CDC แนะนำให้ตรวจกรองไวรัสฝีดาษลิงด้วยเทคนิค “PCR”  ร่วมกับการถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสทั้งจีโนม (whole genome sequencing) ด้วยเครื่องถอดรหัสพันธุกรรมสมรรถนะสูง (next generation sequencing) จากสิ่งส่งตรวจที่เป็นเซลล์จากหนองฝี  หรือชิ้นเนื้อติดเชื้อ รวมทั้งการสวอปบริเวณช่องปากและหลอดคอตอนบน (oropharyngeal swab)

หมายเหตุ: WHO แนะนำให้ดำเนินการ “สวอป” บริเวณช่องปากและลำคอตอนบน(oropharyngeal swab) ในผู้ต้องสงสัยติดเชื้อร่ วมกับการตรวจตัวอย่างจากตุ่มน้ำ หนอง และชิ้นเนื้อประเภทอื่นๆ  แต่เนื่องจากปัจจุบันยังมีข้อมูลในด้านประสิทธิภาพการตรวจ PCR กับไวรัสฝีดาษลิง จากการสวอปบริเวณช่องปากและลำคอไม่มาก ดังนั้นควรแปลผลการตรวจด้วย PCR จากสิ่งส่งตรวจจากช่องปากและลำคอ ด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะ “ผลลบปลอม”

การสวอป “ตุ่มน้ำ-หนองบริเวณแผล” หรือบริเวณ “ช่องปากและลำคอ” สามารถจัดเก็บใน “inactivated viral transport medium” ซึ่งมีสารทำลายจุลชีพและไวรัส คงเหลือแต่สารพันธุกรรม (ที่จะนำไปตรวจ PCR หรือถอดรหัสพันธุกรรม) เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อมาสู้เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการ

ในช่วงแรกของการระบาด การตรวจกรองไวรัสฝีดาษลิงที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ. รามาธิบดีฯ ดำเนินการใน 2 รูปแบบ (platform) คู่ขนาน เพื่อยืนยันผล

  • การตรวจกรองด้วยวิธี MassArray genotyping เป็นการตรวจประมาณ 40 ตำแหน่ง กระจายทั่วจีโนมของไวรัสฝีดาษลิง เพื่อสามารถแยกไวรัสฝีดาษลิงทั้งสองสายพันธุ์ คือ สายพันธุ์แอฟริกากลาง (อัตราการเสียชีวิต 10%) สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก (อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่า 1%) และไวรัสฝีดาษคน หรือ smallpox ที่คาดว่า ได้กำจัด (eradication) หมดไปจากโลกแล้ว (อัตราการเสียชีวิตในผู้ใหญ่ 30% ในเด็ก 80%)  ออกจากกันได้ ใช้เวลาในการทดสอบ 24-48 ชั่วโมง ตรวจสอบได้ประมาณ 100 ตัวอย่างต่อวัน มีต้นทุนการตรวจใกล้เคียงกับการตรวจ PCR ซึ่งตรวจได้ 1-3 ตำแหน่งบนจีโนมของไวรัส(ภาพ 4)

ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ มิได้ตรวจกรองไวรัสฝีดาษลิงเบื้องต้น (1-3 ตำแหน่ง) ด้วยเทคนิค PCR

  • การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากสารพันธุกรรมที่สกัดมาจากสิ่งส่งตรวจ (clinical metagenomic sequencing) สามารถบ่งชี้ได้ว่า ในสิ่งส่งตรวจนั้นมีจุลชีพหรือไวรัสอะไรปะปนอยู่บ้าง และจำนวนเท่าไร และด้วยเทคโนโลยีการถอดรหัสพันธุกรรมแบบใหม่ “selective หรือ adaptive sequencing” สามารถเลือกถอดรหัสพันธุ์เฉพาะไวรัสฝีดาษลิงได้ โดยไม่ถอดรหัสจีโนมของจุลชีพอื่น หรือจีโนมของผู้ติดเชื้อ ที่ปะปนอยู่ในสิ่งส่งตรวจเป็นจำนวนมากได้ (ภาพ 5-6)

หมายเหตุ: การถอดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมจากสิ่งส่งตรวจ จะช่วยบ่งชี้ได้ว่าเป็นไวรัสฝีดาษลิงใช่หรือไม่ และหากใช่เป็นสายพันธุ์ใด เหมือนหรือต่างจากสายพันธุ์ที่เคยระบาดในอดีต  หรือที่กำลังระบาดในปัจจุบัน และอาจกลายพันธุ์แพร่ระบาดได้ในอนาคต

ฝีดาษลิง

วัคซีน และ ยาต้านไวรัส

สามารถนำข้อมูลจีโนมไปใช้ในการป้องกัน เช่นการพัฒนาวัคซีน การพัฒนายาต้านไวรัสใช้ในการรักษา รวมทั้งการติดตามการระบาดเพื่อช่วยตอบคำถามมากมาย เช่น ทำไมจึงมีการระบาดของโรคฝีดาษลิงพร้อมกันกว่า 100 รายในหลายประเทศ นอกทวีปแอฟริกา(ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่น) ทั้งในทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือ และ ทวีปออสเตรเลีย เป็นต้น

Q8. นักวิจัยสามารถนำไวรัสฝีดาษลิงจากสิ่งส่งตรวจ มาเพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการได้หรือไม่

A8. WHO  และ US CDC ไม่แนะนำและไม่สนับสนุนให้ทำ เพราะถือว่าไวรัสตระกูลพอกซ์ (Poxviridae) ที่ก่อให้เกิดโรคฝีดาษในคนและสัตว์สามารถนำไปใช้เป็นอาวุธชีวภาพได้

Q9. วัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง ปัจจุบันมีกี่แบบ และต่างกันอย่างไร

A9. ปัจจุบันเราใช้วัคซีนป้องกันฝีดาษคนซึ่งทำมาจากเชื้อไวรัส vaccinia ประเภทเชื้อเป็นอ่อนฤทธิ์ (live attenuated vaccine) มีสองรุ่น

-วัคซีน “ACAM2000” ของบริษัท Acambis

-วัคซีน MVA-BN (Modified Vaccinia Ankara-Bavarian Nordic) หรือชื่อทางการค้า Imvamune (Imvanex หรือ Jynneos)  ของบริษัท Bavarian Nordic

โดยได้รับการอนุมัติ จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา เป็นที่เรียบร้อยในปีพ.ศ. 2550 (2007)  และ 2562 (2019) ตามลำดับ

“ACAM2000” เป็นวัคซีนที่มิได้ฉีดเข้าผิวหนังหรือเข้ากล้ามเนื้อ แต่ใช้ในลักษณะที่เรียกว่า “การปลูกฝี (inoculation)” ซึ่งเป็นการฉีดวัคซีน (vaccination) แบบหนึ่ง กล่าวคือจะใช้เข็มซึ่งมีเชื้อไวรัส vaccinia ติดอยู่ มาขีดข่วนให้ผิวหนังบริเวณต้นแขนเกิดเป็นแผลถลอก เพื่อให้เชื้อไวรัสสามารถเข้าสู่แผลไปเพิ่มจำนวนได้เฉพาะบริเวณแผลเท่านั้น  หากปลูกฝีสำเร็จจะเกิดเป็นแผลที่มีไวรัสฝีดาษเข้าไปเพิ่มจำนวนและกลายเป็นแผลเป็นในที่สุด บริเวณดังกล่าวปรกติจะขนาดประมาณเท่าเหรียญ 10 บาท

ACAM2000 ไม่เหมาะที่จะใช้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องเพราะ “ไวรัสเชื้อเป็น” อาจเข้าไปเพิ่มจำนวนได้มากมายในร่างกาย เกิดเป็นฝีดาษขึ้นได้ อีกทั้งผู้ที่ได้รับการปลูกฝีด้วย ACAM2000 ต้องระมัดระวังการแพร่กระจายของไวรัส จากวัคซีนที่อาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ทางแผลที่ปลูกฝี แต่ข้อดีคือฉีดครั้งเดียวป้องกันไปได้ตลอดชีวิต  ทาง US CDC แนะนำให้ฉีดวัคซีน ACAM2000 สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในห้องแล็บที่ เกี่ยวข้องกับไวรัสตระกูลพอกซ์ (Poxviridae) และบุคลากรทางการทหาร

ฝีดาษลิง

ส่วนวัคซีน MVA-BN (Modified Vaccinia Ankara-Bavarian Nordic) หรือชื่อทางการค้า  “Imvamune” เป็นวัคซีนรุ่นใหม่ที่ใช้เชื้อไวรัส vaccinia เช่นกัน แต่เป็นสายพันธุ์ที่ทำให้อ่อนกำลังลงอย่างมาก จนไม่สามารถเพิ่มจำนวนในเซลล์มนุษย์  ฉีดบริเวณผิวหนังสองเข็ม ห่างกันประมาณหนึ่งเดือน เหมาะที่จะใช้กับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ข้อด้อย คือ ข้อมูลด้านประสิทธิภาพของวัคซีนส่วนใหญ่มาจากสัตว์ทดลอง ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนในคนว่า เมื่อฉีดไปในคนแล้วจะมีภูมิป้องกันไปได้ตลอดชีวิต  หรือต้องมีเข็มกระตุ้น และห่างจากการฉีดครั้งแรกเท่าไร (ภาพ7)

Q10. การฉีดวัคซีนหลังจากไปสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อไวรัสฝีดาษลิง สามารถกระทำได้หรือไม่

A10. การฉีดวัคซีนหลังจากได้รับเชื้อไวรัสฝีดาษลิงยังคงทำได้ เนื่องจากไวรัสฝีดาษลิงมีระยะฟักตัวนาน 5-21 วัน อย่างไรก็ตาม ยิ่งผู้ที่สัมผัสกับผู้ติดเชื้อได้รับวัคซีนเร็วเท่าไรก็จะยิ่งดีเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าการฉีดวัคซีนหลังได้รับเชื้อไวรัสฝีดาษลิง ยังช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สามารถป้องกันโรค หรือทำให้โรครุนแรงน้อยลงได้

ทาง US CDC แนะนำให้ฉีดวัคซีนภายใน 4 วันนับจากวันที่ได้รับเชื้อ เพื่อป้องกันการเกิดโรค (onset of the monkeypox disease) แต่หากได้รับวัคซีนระหว่าง 4-14 วันหลังจากได้รับเชื้อ การฉีดวัคซีนอาจเพียงช่วยลดอาการของโรคได้ แต่อาจไม่สามารถป้องกันการเกิดโรคได้

ฝีดาษลิง

วัคซีนและผลข้างเคียง

Q11. ผู้ที่ได้วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษคนหรือลิง มีผลข้างเคียงถึงขั้นเสียชีวิตได้หรือไป

A.11. US CDC รายงานว่าจากข้อมูลที่ผ่านมาในอดีต ประเมินได้ว่าในทุก 1 ถึง 2 คนจาก 1 ล้านคนที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษจะเสียชีวิตอันเป็นผลมาจากโรคแทรกซ้อนหลังที่เกิดขึ้นหลังการฉีดวัคซีน

Q12. วัคซีนป้องกันฝีดาษคนและฝีดาษลิงทำมาจากอะไร

A12. ทำมาจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า vaccinia เป็นไวรัสในตระกูลพอกซ์ เช่นกัน พบว่ารหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของไวรัส vaccinia คล้ายกับไวรัสฝีดาษม้า (horsepox) ถึง 99.7% มิใช่พัฒนามาจากไวรัสฝีดาษวัวอย่างที่เดิมเข้าใจกัน

Q13. มี รพ. ใดในประเทศที่มีวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิง บริการฉีดให้กับผู้ต้องการ

Q13. ยังไม่มีครับ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo