Politics

เปิด 3 ภารกิจเร่งด่วน ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’

หลังจากคว้าชัยชนะอย่างถล่มทลาย ในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ประกาศ 3 ภารกิจเร่งด่วนที่ต้องทำ โดยหนึ่งในนั้นคือการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม และเลือกลงพื้นที่ไปสำรวจคลอง และดูงานอุโมงค์ระบายน้ำ

บีบีซี รายงานว่า แม้ยังไม่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อย่างเป็นทางการ แต่ชัชชาติก็ลุยงานทันที โดยลงพื้นที่อย่างน้อย 3 จุด

จุดแรกคือ การสำรวจคลองลาดพร้าวเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยนั่งเรือพร้อมอดีตคู่แข่งขันคือ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. สังกัดพรรคก้าวไกล

ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่

นอกจากนี้ยังมีว่าที่สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตลาดพร้าว และเขตจตุจักร สังกัดก้าวไกล และว่าที่ ส.ก.เขตห้วยขวาง และเขตวังทองหลาง สังกัดพรรคเพื่อไทย ร่วมคณะด้วย โดยชัชชาติบอกว่า ตั้งใจจะเชิญ ส.ก. ลงพื้นที่ทุกครั้ง เพื่อ “สร้างการเมืองใหม่” ที่แม้อยู่คนละพรรค แต่ก็ร่วมมือกันได้

จุดที่สองคือ การเดินทางไปชุมชนคลองเตย ซึ่งถือเป็นการหวนกลับไปสู่จุดเริ่มต้น เนื่องจากว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ เปิดตัวแคมเปญ “Better Bangkok” ที่ตรอกโรงหมู ชุมชนคลองเตย ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ทำให้เขาบอกว่า “รู้สึกเหมือนได้กลับบ้าน” และยังยืนยันกับชาวชุมชนคลองเตยว่าจะเป็น “ผู้ว่าฯ ติดดิน” ซึ่งในจุดนี้ มีว่าที่ ส.ก.เขตคลองเตย กลุ่มรักษ์กรุงเทพ ร่วมลงพื้นที่ด้วย

ส่วนอีกจุดที่นายชัชชาติลงพื้นที่เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา คือ ฝั่งธนบุรี เพื่อสำรวจสภาพการจราจรในขณะที่มีการก่อสร้างอุโมงค์รัชดา-ราชพฤกษ์ ซึ่ง กทม. เป็นเจ้าของโครงการ แต่พบว่ามีการขยายสัญญาอย่างต่อเนื่อง ล่าช้ามากว่า 600 วัน ส่งผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดเรื้อรัง

การลงพื้นที่ตรงจุดนี้ก็เป็นไปเช่นเดียวกับจุดอื่น ๆ มีว่าที่ ส.ก.เขตธนบุรี พรรคเพื่อไทย และ ว่าที่ ส.ก. เขตบางกอกใหญ่ พรรคประชาธิปปัตย์ ร่วมคณะด้วย

ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ทีมเพื่อนชัชชาติได้นำเสนอนโยบายเอาไว้มากถึง 214 ข้อ ภายใต้คำขวัญ “สร้างกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน” โดยจัดกลุ่มนโยบายไว้ 9 มิติ เพื่อสร้าง “กรุงเทพฯ 9 ดี” ประกอบด้วย ปลอดภัยดี สุขภาพดี สร้างสรรค์ดี สิ่งแวดล้อมดี บริหารจัดการดี เรียนดี โครงสร้างดี เศรษฐกิจดี และเดินทางดี

ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่

เหตุที่นโยบายของเขามีกว่า 200 ข้อ เป็นเพราะได้จัดทำนโยบายในภาพใหญ่ และนโยบายรายเขต/พื้นที่ ไม่ได้ใช้นโยบายเดียวเหมาะรวมทุกท้องที่ และมุ่งเน้นการแก้ปัญหาเล็ก ๆ ที่อยู่ใกล้บ้านใกล้ตัวของประชาชน หรือที่ชัชชาติเรียกว่า “ปัญหาเส้นเลือดฝอย” มากกว่าคิดถึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจก)

ชัชชาติถูกสื่อมวลชนตั้งคำถามอยู่บ่อย ๆ ว่าเรื่องไหนต้องทำทันที หรือจะเห็นดอกผลภายใน 100 วันแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง คำตอบที่เขาบอกเสมอคือ ไม่มีเรื่องไหนต้องทำก่อน-หลัง เพราะทุกเรื่องสำคัญ และต้องทำไปพร้อม ๆ กัน

อย่างไรก็ตาม ในวันประกาศชัยชนะที่สเตเดียมวัน ในช่วงหัวค่ำของวันที่ 22 พฤษภาคม ชัชชาติ ผู้ได้รับคะแนนสนับสนุนจากประชาชนกว่า 1.3 ล้านเสียง ระบุว่า “สิ่งแรกที่จะทำคือสิ่งที่สัญญากับประชาชนเอาไว้”

“สิ่งที่อยากทำวันแรกคือ ฝากข้าราชการ กทม. ทั้งหมด ช่วยไปอ่านนโยบายของผมในเว็บไซต์ 214 ข้อ และนโยบายรายเขต 50 เขต กรุณาอ่านให้ละเอียด เพราะคือสิ่งที่ประชาชนเขาต้องการผ่านการเลือกตั้ง ไม่เข้าใจ ไม่เห็นด้วย ก็มาถาม และคุยกัน นี่เป็นจุดเลี้ยว จุดเริ่มที่ต้องเดินไปด้วยกัน”

รายละเอียดเรื่องที่ ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่จะทำทันที 

  • หารือกับข้าราชการ กทม. เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันต่อนโยบาย 214 ข้อ ตามที่หาเสียงกับประชาชนเอาไว้ ซึ่งจะเป็นแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ต่อไป
  • ติดต่อไปยัง ส.ก. ทุกเขตที่ประชาชนเลือกมา เพื่อคุยถึงปัญหา และเดินหน้าลงพื้นที่ด้วยกัน
  • แก้ไขปัญหาน้ำท่วม โดยจะลงพื้นที่ตรวจจุดน้ำท่วมซ้ำซาก ซึ่งสิ่งแรกคงต้องเพิ่มปั้มน้ำก่อน และดูแลไม่ให้เกิดไฟดับ
  • ดูแลเรื่องความปลอดภัยบนถนนใน กทม. โดยเฉพาะจุดอันตรายบนท้องถนน เช่น ทางม้าลาย
  • ดูแลเรื่องปากท้องของประชาชน การจัดการพื้นที่ทำมาหากิน หาบเร่ แผงลอย ตลาดให้มีประสิทธิภาพ ไม่เบียดเบียนทางเท้า ต่อเนื่องไปถึงการแก้ไขปัญหาส่วย และดูว่าจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับพ่อค้าแม่ค้าได้อย่างไร

ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่

คำกล่าวของว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาที่เขาต้องการเร่งแก้ไขเป็นอันดับต้น ๆ คือ ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาความปลอดภัยทางถนน และ ปัญหาปากท้องของประชาชน

ปัญหาน้ำท่วม นโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอย่างน้อย 14 ข้อ กระจายอยู่ในหมวดโครงสร้างดี และสิ่งแวดล้อมดี

  • ลดจุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวังน้ำท่วมทันที (โครงสร้างดี)
  • แก้ปัญหาพื้นที่ต่ำ 50 เขต (โครงสร้างดี)
  • ขุดลอกและทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,000 กม. (โครงสร้างดี)
  • กวดขันจับ/ปรับ การทิ้งขยะลงแหล่งน้ำอย่างจริงจัง (โครงสร้างดี)
  • ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียชุมชน (สิ่งแวดล้อมดี, โครงสร้างดี)
  • มุ่งเป้าติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียต้นทาง (สิ่งแวดล้อมดี, โครงสร้างดี)
  • เพิ่มการขุดลอกคลองรองรับฝนทันฤดู (โครงสร้างดี)
  • เพิ่มแก้มลิงธรรมชาติ พื้นที่รับน้ำให้กรุงเทพฯ (โครงสร้างดี)
  • ปรับปรุงซ่อมแซมแก้ฟันหลอคันกั้นน้ำริมแม่น้ำ และคลองสายหลัก (โครงสร้างดี)
  • ทบทวนแผนการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน (โครงสร้างดี)
  • เซ็นเซอร์สูบน้ำ ไม่ต้องรอขอกุญแจ (โครงสร้างดี)
  • ทบทวนแผนการก่อสร้างอุโมงค์ยักษ์ ความคุ้มค่าการลงทุน และประสิทธิภาพการแก้ปัญหาน้ำท่วม (โครงสร้างดี)
  • ทบทวนแผนก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียรวม และเชื่อมต่อท่อรวบรวมน้ำเสียที่มีอยู่เดิม (สิ่งแวดล้อมดี, โครงสร้างดี)
  • แจ้งเตือนฝนตกล่วงหน้าแม่นยำ (โครงสร้างดี)

ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่

ปัญหาความปลอดภัยทางถนน นโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอย่างน้อย 26 ข้อ กระจายอยู่ในหมวดปลอดภัยดี, เดินทางดี, บริหารจัดการดี และสิ่งแวดล้อมดี

  • กรุงเทพฯ ต้องสว่าง (ปลอดภัยดี)
  • พัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัลพื้นที่จุดเสี่ยงความปลอดภัย (BKK Risk Map) (ปลอดภัยดี)
  • ป้ายรถเมล์มีข้อมูลและสว่างปลอดภัยทุกป้าย (ปลอดภัยดี, เดินทางดี)
  • ขอดูภาพจากกล้อง CCTV ออนไลน์ได้สะดวกรวดเร็ว (ปลอดภัยดี, บริหารจัดการดี)
  • ยกระดับคุณภาพกล้องวงจรปิด ป้องกันอาชญากรรมเชิงรุก (ปลอดภัยดี)
  • ใช้ CCTV กวดขันวินัยจราจร (ปลอดภัยดี, เดินทางดี)
  • ตรวจสอบและปรับปรุงทางข้ามทั้งกรุงเทพฯ ให้ได้มาตรฐานความปลอดภัย (ปลอดภัยดี, เดินทางดี)
  • ปลูกฝังจิตสำนึก ส่งเสริมการสร้างระเบียบ กวดขันวินัยจราจรอย่างเข้มงวด (ปลอดภัยดี, เดินทางดี)
  • ลดความเร็ว ลดความเสี่ยง ในย่านชุมชนและถนนสายรอง (ปลอดภัยดี, เดินทางดี)
  • พนักงาน กทม. ตรวจสอบความพร้อมใช้สาธารณูปโภคเมืองเชิงรุก (ปลอดภัยดี, เดินทางดี)
  • กำหนดหน่วยงานรับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานด้านความปลอดภัยให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ (ปลอดภัยดี, เดินทางดี)
  • รณรงค์สิทธิและระเบียบวินัยพลเมืองในเรื่องจราจร ความสะอาด คอร์รัปชั่น (ปลอดภัยดี, สิ่งแวดล้อมดี, บริหารจัดการดี, เดินทางดี)
  • กรุงเทพฯ เดินได้ พัฒนาทางเดินเท้าคุณภาพ 1,000 กม. (เดินทางดี)
  • ทุกถนน ซอย มีทางเดิน-ปั่นสะดวก เชื่อมขนส่งสบาย ลดการใช้รถ (เดินทางดี)
  • เลียบคลองเดินได้ ปั่นปลอดภัย ทางเลียบคลองคุณภาพ (เดินทางดี)

ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่

  • สร้างซ่อมดี เพื่อทางเท้าคุณภาพและคงทน (เดินทางดี)
  • ทางตัดผ่านใหม่ต้องเรียบเสมอทางเท้า (เดินทางดี)
  • ทางเท้าเดิมโล่ง สะอาด เป็นระเบียบ (เดินทางดี)
  • จัดหารุกขกรมืออาชีพดูแลต้นไม้ประจำเขต (สิ่งแวดล้อมดี, เดินทางดี)
  • สายสื่อสารลงดินไม่ซ้ำซ้อน สะท้อนต้นทุน ไม่กระทบประชาชน ทางเท้า เศรษฐกิจ (เดินทางดี)
  • จุดจอดจักรยานคุณภาพ ปลอดภัย ทุกจุดเชื่อมต่อขนส่ง (สิ่งแวดล้อมดี, เดินทางดี)
  • แจ้งปัญหาวินฯ ผ่านแพลตฟอร์มฟองดูว์ (เดินทางดี)
  • สะพานลอยปลอดภัย มั่งคงแข็งแรง (เดินทางดี)
  • BBKK Trail เส้นทางวิ่งดี ออกกำลังกายดี = เดินได้ดี (สุขภาพดี, เดินทางดี)
  • เปิดข้อมูลการเดินทางในกรุงเทพฯ ให้เป็นสาธารณะ (เดินทางดี)
  • กำกับดูแลและเร่งคืนผิวจราจรการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด เพื่อการจราจรที่คล่องตัว (เดินทางดี)

ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่

ปัญหาปากท้องประชาชน หาบเร่ แผงลอย และส่วย นโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอย่างน้อย 15 ข้อ กระจายอยู่ในหมวดสิ่งแวดล้อมดี, โครงสร้างดี, เศรษฐกิจดี, โครงสร้างดี, บริหารจัดการดี, เรียนดี และปลอดภัยดี

  • เตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมรองรับพื้นที่การค้าหาบเร่แผงลอย (สิ่งแวดล้อมดี, โครงสร้างดี)
  • หาพื้นที่ของเอกชนหรือหน่วยงานราชการที่สามารถจัดเป็นพื้นที่ขายของสำหรับหาบเร่หรือศูนย์อาหาร (เศรษฐกิจดี, โครงสร้างดี)
  • ส่งเสริมให้ผู้ค้าแผงลอยมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ (เศรษฐกิจดี)
  • ขึ้นทะเบียนผู้ค้าแผงลอย พร้อมติดตามการดำเนินการ Registering street vendors (เศรษฐกิจดี, บริหารจัดการดี)
  • สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ค้าแผงลอย ภาคประชาชน และเอกชนในพื้นที่ ช่วยดูแลพื้นที่การค้า (เศรษฐกิจดี)
  • โปร่งใส ไม่ส่วย (บริหารจัดการดี)
  • เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้เพื่อประโยชน์คนกรุงเทพฯ (บริหารจัดการดี)
  • ฝึกอาชีพพัฒนาทักษะยุคใหม่ตอบโจทย์ตลาดงาน (เศรษฐกิจดี, เรียนดี)
  • ขยายโอกาสให้ผู้ประกอบการ ผ่านการเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในกรุงเทพฯ (เศรษฐกิจดี)
  • ตลาดนัดชุมชน ตลาดนัดเขต (เศรษฐกิจดี)
  • ช่วยหางาน สร้างรายได้ สร้างความมั่นคง (ปลอดภัยดี, เศรษฐกิจดี)
  • พัฒนาโอกาสและศักยภาพในตลาด กทม. (เศรษฐกิจดี)
  • ส่งเสริมการออมและเข้าถึงแหล่งเงินทุนตั้งแต่ระดับครอบครัวถึงระดับชุมชน (เศรษฐกิจดี)
  • ตลาด กทม. ออนไลน์ (เศรษฐกิจดี)
  • ส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้าถึงระบบจัดซื้อจัดจ้างของ กทม. (เศรษฐกิจดี)

ผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่

ภาพ: เฟซบุ๊กเพจ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

อ่านข่าวเพิ่มเติม

Avatar photo